ขบให้แตกก่อนจัดตั้ง สหภาพข้าราชการ เจาะลึกบทเรียน "ฝรั่งเศส"


การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายหน่วยงานของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม จนนำมาสู่การขับเคลื่อน "สหภาพข้าราชการ" เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว

            อย่างไรก็ตามยังมีการถกเถียงกันใน วงกว้างว่า ที่สุดแล้วการตั้งสหภาพข้าราชการจะนำมาสู่ทางออกของปัญหาได้จริงหรือไม่ ?

            ล่าสุด ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ เจ้าของเว็บไซต์ www.pub-law.net อาจารย์สอนกฎหมายคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษารูปแบบสมาคม (associations) ของข้ารัฐการของ ประเทศฝรั่งเศสมาอย่างลุ่มลึก ได้ให้ ข้อเตือนสติก่อนขับเคลื่อนสหภาพข้าราชการไทย ดังนี้

            ในประเทศต่าง ๆ ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการเมือง ระบอบการปกครอง หรือระบบเศรษฐกิจแบบใดหรือประเภทใดก็ตาม ภารกิจของประเทศเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่การจัดทำ บริการสาธารณะให้กับประชาชนเพื่อสนองความต้องการของประชาชน เพื่อจัดระเบียบของสังคม

            อันจะส่งผลให้ประเทศมีพัฒนาการไปในทางที่ดีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของสังคม หรือบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกสบายของประชาชน

            รัฐจะใช้ "บุคลากรภาครัฐ" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ เป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งบุคลากรภาครัฐในที่นี้ก็หมายความรวมถึงข้ารัฐการ และบุคคลที่ดำรงสถานะอื่นๆ ที่ทำงานให้กับรัฐ เช่น ลูกจ้างของรัฐประเภท ต่างๆ ในการทำงานของบุคลากรภาครัฐทุกประเภทนั้นก็จะต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ ซึ่งก็ทำให้สถานะของบุคลากร ภาครัฐ มีความแตกต่างจากบุคลากร ภาคเอกชน

            นอกจากนี้ยังมีหลักที่มีขึ้นเพื่อใช้บังคับกับข้ารัฐการ เช่น หลักว่าด้วยความเป็น กลางทางการเมือง ที่ข้ารัฐการจะต้องไม่ "ฝักใฝ่" พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นกรณีพิเศษ หลักบังคับบัญชา ที่ข้ารัฐการจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือแนวทางของผู้บังคับบัญชา เว้นแต่คำสั่งหรือแนวทางดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ  และหลักว่าด้วยการมีส่วนร่วม ที่บรรดาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายเปิดโอกาสให้ข้ารัฐการมีสิทธิ "ทางสังคม" ได้เช่นเดียวกับบุคลากรภาคเอกชน เช่น สิทธิในการรวมตัวกันเป็นสมาคมหรือสหภาพ หรือสิทธิในการนัดหยุดงาน

            การดำเนินงานของข้ารัฐการจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน การเลื่อนลดปลดย้าย เงินเดือน ความก้าวหน้า วินัยและความรับผิดต่างๆ เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับข้ารัฐการต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเคร่งครัด

            การรวมตัวในรูปของสมาคม (associations) เป็นที่ยอมรับกันมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.1901 แล้วว่า ข้ารัฐการสามารถรวมตัวกันเป็นสมาคมได้ แม้ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสก็ได้เคยวินิจฉัยไว้ใน ปี ค.ศ.1908 ให้สมาคมของข้ารัฐการมีสิทธิเป็นผู้ฟ้องคดีได้ในกรณีที่มีการฟ้อง เพื่อปกป้องประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก สมาคม

            ซึ่งในปัจจุบันก็มีกลุ่มข้ารัฐการหลายกลุ่มที่มีกฎหมายกำหนด ห้ามรวมตัวกันเข้าเป็นสหภาพ ได้ใช้วิธีรวมตัวกันใน รูปของสมาคม เช่น สมาคมผู้ว่าการจังหวัด

           ส่วนการรวมตัวในรูปของสหภาพ (syndicats) นั้น ก่อนปี ค.ศ.1946 ข้ารัฐการในฝรั่งเศสไม่มีสิทธิในการตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสหภาพ เนื่องจากว่าไม่ว่าจะเป็นสถานะหรือการดำเนินงานของข้ารัฐการล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติและอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งสิ้น จึงไม่มีความจำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ

            นอกจากนี้แล้วเมื่อกล่าวถึงการมี "สหภาพ" ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่ทั่วไปว่า หมายความรวมถึง "การนัดหยุดงาน" ซึ่งเป็น "เครื่องมือ" ที่สหภาพนำมาใช้ในการเจรจาต่อรองปัญหากับเจ้าของกิจการหรือนายจ้าง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ เพราะขัดต่อ "หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง" ของการจัดทำบริการสาธารณะ ด้วยเหตุนี้เองที่ในฝรั่งเศส ในช่วงก่อน ปี ค.ศ.1946 จึงไม่ได้ให้สิทธิแก่ข้ารัฐการ ที่จะตั้งหรือเข้าร่วมกับ สหภาพได้

            ปัญหาอีกประการหนึ่งของการไม่ให้ข้ารัฐการตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพอยู่ที่ปัญหาทางการเมืองด้วย เพราะสหภาพในอดีตนั้นสะท้อนให้เห็นภาพของการปฏิวัติ การเปลี่ยนระบบ การแข็งข้อ การแบ่งชนชั้น การต่อต้านทุนนิยม ซึ่งภาพต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผู้นำประเทศในสมัยก่อน ไม่เห็นด้วยที่จะให้ข้ารัฐการตั้งหรือเข้าร่วมกับสหภาพได้ เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมของรัฐ

            นี่คือประเด็นสำคัญที่ผู้มีความคิดในการจัดตั้งสหภาพข้าราชการ อาจต้องขบคิดอย่างหนัก...

ประชาชาติธุรกิจ  20  มี.ค.  51 

คำสำคัญ (Tags): #สหภาพข้าราชการ
หมายเลขบันทึก: 171840เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ข้าราชการผู้ใหญ่ใช้ข้าราชการผู้น้อยเป็นเครื่องมือ รักษาสถานะภาพของตัวเอง แต่ไม่ดูตัวเอง งานก็ไม่ได้ทำเอง ผู้น้อยเป็นคนทำ แต่ผู้ใหญ่เอาผลงาน มีแต่ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก ที่มีผลประโยชน์ด้วยกัน มีแต่การสืบทอดอำนาจ พ่อใครเคยเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด แม่ทัพ นายกอง ลูกก็จะได้เป็นทุกคน สืบทอดมรดกตกทอดกันไปตลอดชีพ ไม่เชื่อลองเปิดอดีตหลายๆคนดู เริ่มจากกระทรวงมหาดไทยก็ได้ ดูนามสกุล ที่ข้าราชการผู้น้อยเขาพูดประชดกันว่า" นามสกุลเข้ากฎ กพ." เพราะฉนั้นอย่าไปคัดค้านนักการเมืองเขาเลย เพราะท่านผู้ใหญ่หลายๆคนในบ้านในเมืองนี้ ก็มาจากระบบอุปถัมภ์ ระบบวงศาคณาญาติ ที่นักการเมืองเขารู้เขาเห็นมานาน และก็รอวันเขามีอำนาจบ้าง ก็ให้ทำใจถึงวันที่มันจะต้องรับการเปลี่ยนแปลง

ดีนะครับ บางคำไม่เคยได้ยินเลยจริงๆ เช่น นามสกุลเข้ากฎ กพ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท