กิมย้ง vs ดูมาส์


 คนที่รู้จักชีวิต โดยซื้อความรู้ด้วยชีวิตของตนเอง เป็นการซื้อที่ราคาแพง

 

แต่เราอาจเรียนรู้จักชีวิตโดยไม่ต้องซื้อด้วยชีวิต แต่ด้วยเวลา ด้วยการอ่านผู้อื่น ด้วยการอ่านนิยาย ด้วยการอ่านประวัติศาสตร์ อ่านประวัติบุคคล อย่างพิเคราะห์ ให้เห็นการทอเกลียว สานใย ถักทอขึ้นเป็นสังคม เพื่อมองกลับข้างในตนเอง ให้เห็นสังคมที่วิวัฒน์และผุพังในใจของเรา

หากอ่านนิยาย แล้วไม่อ่านงานของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ และกิมย้ง ออกจะน่าเสียดาย


ดูมาส์เป็นคนยุคร้อยกว่าปีก่อน (Dumas père, Alexandre, 1802-1870 คลังนิยาย download ได้ที่นี่)

 

ดูมาส์เขียนถึงอัศวินและนักรบ เขียนถึงการต่อสู้ช่วงชิง

 

ส่วนกิมย้งเป็นคนร่วมยุคสมัยของเรา เขียนถึงผู้กล้า เขียนถึงคุณธรรม

 

การต่อสู้ แม้เสมือนหนึ่งเป็นแกนหลักของงานทั้งคู่ แต่กลับไม่มีส่วนกระทบกับสิ่งที่นิยายเขียนถึง คือ ชีวิตล้วนไม่ตัวของตัวเอง

 

แม้ต่างยุค แต่ทั้งคู่เขียนหนังสือได้น่าอ่าน คนรู้จักกันทั้งโลก

 

แต่เมื่ออ่านงานเขียนของอเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ เราจะรู้สึกได้ถึงอิทธิพลวิธีการเขียนของเขาต่อกิมย้งอย่างลึกซึ้ง

 

พล็อตเรื่องเคาต์ ออฟ มองเต คริสโต คล้ายคลึงกับ หลั่งเลือดมังกร ตัวเอกล้วนติดคุกจากการถูกใส่ความ คบหาเพื่อนในคุกที่ล้วนตายจากในคุกคล้าย ๆ กัน แล้วออกจากคุกเพื่อสะสางเรื่องราวเก่าก่อน

 

หรือฉากการรอคอยอันชวนโศกศัลย์ของเอี้ยก้วยจากมังกรหยก 2 บนผาสูงและคอร์เนเลียสรอคอยคนรักในคุก ของ ทิวลิปสีดำ 

 

หรือฉากการผจญภัยในเรือของเหล่าอดีตมัสเกเตียร์ยามหนีจากเกาะอังกฤษใน Ten Years Later กับฉากก๊วยเช็งและอั้งชิดกงจากมังกรหยก บนเรือศัตรูยามออกจากเกาะดอกท้อ

 

เราแทบจะเห็นการบรรยายแบบคู่ขนาน ฉากต่อฉาก ราวลอกเลียนมา แต่หากให้ติว่าเป็นการลอกเลียนแล้วตัดทิ้ง กลับน่าเสียดายอยู่บ้าง เพราะกิมย้งทำได้ดีกว่า


ทั้งคู่มีลีลาเขียนเป็นแบบฉบับของตัวเอง อ่านแล้ววางไม่ลง

 

หกเซียนหุบเขาท้อในกระบี่เย้ยยุทธจักรสร้างความเฮฮาเช่นไร เหล่ามัสเกเตียร์ของดูมาส์ก็เป็นเช่นนั้น ความสนุก ไม่ได้อยู่ที่พล็อตเรื่อง แต่อยู่ที่บทพูดจา

 

หากจัดให้ดูมาส์เป็นนักเขียนเอกของโลกตะวันตก กิมย้งก็ต้องเป็นนักเขียนเอกของโลกตะวันออกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

ทั้งคู่เขียนเรื่องที่ พล็อตเรื่องซับซ้อน สมจริงสมจัง  เดินเรื่องฉับไว ถ้อยคำแหลมคม มีอารมณ์ขัน ตีแผ่ธรรมชาติมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น

 

ดูมาส์ เน้นเล่าเรื่องของผู้กล้า และน้ำมิตร แต่ไม่เน้นด้านคุณธรรม หากอ่านด้วยสายตาของคนปัจจุบัน ในบางครั้ง ต้องขมวดคิ้วอ่าน

ผู้กล้าของดูมาส์ มีด้านความกล้าหาญ น้ำใจ และด้านมืดของจิตใจ ฉากหลังของเรื่อง บางครั้ง เหมือนเป็นสงครามตลอดเรื่อง หักเหลี่ยมชิงไหวพริบด้วยชีวิต เช่นใน Marguerite De Valois หรือที่รู้จักในนาม Queen Margot เล่าถึงสงครามศาสนาในยุโรปยุคกลาง ผ่านตัวละครที่หักไหวชิงพริบได้อย่างน่าสยดสยอง (เรื่องดั้งเดิม เป็นบทละครภาษาฝรั่งเศส แต่ Sydney Fowler Wright แปลเป็นนิยายภาษาอังกฤษ อาจเป็นฉบับที่สำนวนแปลดีที่สุด)

 

หรือเราจะเห็นพัฒนาการของคนธรรมดาที่เปลี่ยนแปลงได้ จากวัยหนุ่มฉกรรจ์จนถึงบั้นปลายชีวิตเช่นในเรื่องยาวชุดสามทหารเสือ ซึ่งฉายให้เห็นพัฒนาการของหนุ่มเลือดร้อนสี่คน ที่ยามไม่สบอารมณ์ ก็ใช้ดาบ เมื่อสูงวัยขึ้น แม้เลี่ยงการใช้อาวุธ แต่ไหวพริบการรับมือกับเรื่องแปรเปลี่ยน ยิ่งมา ยิ่งปราดเปรียวเผ็ดร้อน

ดาร์ตาญัง ฉลาด งก ซื่อสัตย์ กล้าหาญ รับราชการเป็นทหาร ใฝ่ฝันจะเป็นจอมพล

อาโธส์รักศักดิ์ศรียิ่งกว่าชีวิต อยู่อย่างอัศวิน อยู่อย่างสุภาพบุรุษ อ่อนโยน และห้าวหาญโอ่อ่ากระไรปานนั้น แต่ในวัยต้น กลับถูกอดีตดำมืดครอบงำจนบุคลิก กลับไม่โดดเด่น

ปอโธส์ ยักษ์ปักหลั่นที่โง่งม แต่เฮฮาน่ารัก และตามใจเพื่อนอย่างไร้ขีดจำกัด

อารามีส์เปิดตัวด้วยการเป็นนักรบผู้กล้าที่ใฝ่ทางธรรม แล้วบั้นปลายกลับเปลี่ยนเป็นนักธรรมผู้มีลับลมคมในผู้ฝักใฝ่ทางโลกย์ เป็นนักชักใยการเมือง กลายเป็นอธรรมเต็มตัวใน The Man in the Iron Mask

ในช่วงต้นและกลาง ทั้งสี่คนทำตัวเยี่ยงผู้กล้า และบางคราก็เป็นปุถุชนที่ดิบ โหด และเถื่อน ยามเมื่อสูงวัย ธาตุแท้จึงปรากฎ

ใน The Three Musketeers ทั้งสี่พนันกับผู้อื่นนัดกินเลี้ยงกลางสมรภูมิ แท้แล้วเพื่อหารือภารกิจลับ เราจะเห็นความห้าวหาญคนทั้งสี่  หรือในบท The Trial บทก่อนปิดท้ายเรื่องในภาคแรก เราก็จะเห็นความดุดันไม่ปราณีปราศัยเยี่ยงสัตว์จนตรอกยามแว้งคืนผู้ล่า

 

 

งานของกิมย้ง กลับมุ่งสะท้อนคุณธรรมที่เด็ดเดี่ยวกว่า เห็นความดื้อรั้นเพื่อความถูกต้องและสิ่งที่ดีกว่า เห็นความสูงส่งของจิตใจคนในแง่มุมที่หลากหลาย บ้างในเรื่องความซื่อตรง บ้างเรื่องความรัก บ้างเรื่องความเมตตา บ้างเป็นความเปิดเผยห้าวหาญ แม้ขาดมิติของคนมีเลือดเนื้อไปบ้าง แต่กลับให้ความรู้สึกผูกพันอบอุ่นกว่าอ่านงานของดูมาส์อยู่บ้าง

 

 

ความแตกต่างใหญ่หลวงอยู่ที่ดูมาส์ไม่ใส่ใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

 

 

ดูมาส์ไม่ลังเลที่จะดัดแปลงประวัติศาสตร์ตามใจชอบ คนอังกฤษอ่านประวัติศาสตร์อังกฤษฉบับของดูมาส คงปวดเศียรเวียนเกล้า หรืออาจเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน

 

ส่วนกิมย้งจะเคารพข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากกว่า แต่เมื่อเขียนเล่าฉากหลังของเรื่อง ทั้งคู่สามารถสะท้อนให้เห็นสังคมขนาดใหญ่ที่ปั่นป่วนกลียุคได้ราวกับมีตัวตนอยู่จริง

 

ในแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ฉากชุมนุมจอมยุทธบนวัดเสียวลิ้มโอ่อ่าตระการถึงเพียงไหน ใน Ten Years Later ดูมาส์ก็เล่าถึงบรรยากาศในปารีสยามเกิดจราจลได้ไม่แพ้กัน


ในนิยาย ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนไม่เป็นตัวของตัวเอง บ้างเป็นผู้ล่า เป็นผู้กระทำ บ้างเป็นผู้ถูกล่า เป็นผู้ถูกกระทำ แต่ตัวละครล้วนเป็นเหยื่อของความเขลาและกิเลสของตนเอง ในชีวิตจริง กลับไม่มีข้อแตกต่างใด

 

ผู้ที่กำหนดทางเดินให้คนอื่น ไม่แน่ว่าจะเป็นไทจากตัวเอง

 

ถนนยิ่งกว้าง ทางเดินอาจยิ่งแคบ

 


ณ จุดกลางทางแพร่ง ไม่แน่ว่ามีสถานที่ให้คนยืนหยัดทรงกาย

 


โลกกว้างไพศาลนัก ผืนน้ำจรดฟ้า เวิ้งตระการถึงเพียงไหน ?

 


แต่คนผู้หนึ่งท่ามกลางความเวิ้งว้างไพศาล ไม่แน่ว่าอับจนหนทางเดิน

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #กิมย้ง#ดูมาส
หมายเลขบันทึก: 171213เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เคยดูหนัง ที่เอาเรื่องของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์มาทำ ทุกเรื่องค่ะ

สี่มัสเกเตียร์/เคาน์มองเตคริสโต/ทิวลิปดำ--สนุกค่ะ

สาวนของกิมย้ง ชอบ มังกรหยกค่ะ   -ปัจจุบัน กิมย้ง ยังมีชีวิตอยู่นะคะ  และดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ของเขาอยู่

 

P

wwibul

 

ไม่รู้จัก ดูมาส์ จึงไม่แน่ใจว่าจะเคยอ่านบ้างหรือไม่... ส่วน กิมย้ง รู้จัก (มังกรหยกอ่านนิดหนึ่ง อักษรเล็กจึงเลิก) แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเคยอ่านจบสักเรื่องหรือไม่ โดยมากก็ดูหนัง...

เมื่อก่อน ยามเบื่อหน่ายหรือท้อแท้ ก็มักจะอ่านหนังสือหรือดูหนัง... นิยายจีนก็อาจสร้างพลังบางอย่างให้เราได้...

ต่อมา รู้สึกว่าตัวเองจะค่อยๆ ดื้อยา...

เจริญพร

P BM.chaiwut

  • นมัสการพระคุณเจ้า
  • นิยายดูมาส์ที่เข้ามาบ้านเรา กระผมคลับคล้ายคลับคลาว่ามี สามทหารเสือ (เป็นหนังทำออกมาเรื่อย ๆ แต่เนื้อเรื่องไม่เคยตรงฉบับแปลที่เป็นหนังสือ), ชายหน้ากากเหล็ก (รู้สึกพระเอกเรื่องชู้รักเรือจมที่กางแขนอยู่้หัวเรือจะแสดงหนังเมื่อหลายปีก่อน ไม่แน่ใจว่ามีฉบับแปลหรือเปล่า แต่ที่แน่ ๆ คือ หนังทำหนังสือซะเละไปเลย), ทิวลิปสีดำ (หลายสิบปีก่อน เคยมีฉบับย่อ เป็นนิยายอ่านเสริมหลักสูตรภาษาอังกฤษมัธยมปลาย ผมไม่ทันเรียน แต่ทันเห็นหนังสือ), Queen Margot ก็ดูเหมือนจะเข้ามาฉายเมืองไทย แต่แถว ๆ ต่างจังหวัดไม่ได้ออกฉายหรือเปล่า ไม่ค่อยแน่ใจครับกระผม)

สวัสดีครับ พี่P Sasinanda

  • หนังของดูมาส์ที่ทำมาฉาย เน้นดูสนุก แต่มักจะปู้ยี่ปู้ยำพล็อตเดิมจนจำไม่ได้ แต่ก็สนุกไปอีกแบบครับ ลุ้นสนุกดีครับ ว่า หนังเรื่องนั้น ๆ เวอร์ชันหน้า จะโดนยำเละแบบไหน
  • แต่ต่างจังหวัด บางเรื่องก็ไม่ได้ไปฉาย
  • แต่ผมชอบอ่านหนังสือมากกว่า เพราะบทพูดเขาโดดเด่น
  • The Three Musketeers มีหลายสำนวนแปล (Fr -> Eng) ที่โหลดจาก gutenberg ได้ฟรี เป็นสำนวนที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่มีสำนวนที่ทำเป็นหนังสือขาย อ่านแล้วสะใจ แต่หนังสือดันไม่ใส่ชื่อผู้แปลซะนี่
  • ส่วนกิมย้ง ก็ตามอ่านทุกเรื่องครับ เรื่องไหนชอบมาก ก็ซื้อเก็บ ช่วงไหนว่างจัด ก็มาอ่านซะทีนึง (แต่หลายปีนี้ ไม่ได้แตะเลยครับ)

 

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

เบิร์ดอ่านของกิมย้ง ( น่าจะทุกเรื่องนะคะ ) แต่ของอีตาดูมาส์เบิร์ดไม่เคยอ่าน แต่เคยดูหนังบางเรื่องแล้วไม่ปิ๊งน่ะค่ะ ก็เลยไม่คิดจะอ่านหนังสือของเค้า ( เป็นตัวอย่างของการมีกำแพงจากการรับรู้เดิม อิ อิ อิ )

เบิร์ดชอบที่อาจารย์กล่าวว่าเราอาจเรียนรู้จักชีวิตโดยไม่ต้องซื้อด้วยชีวิต แต่ด้วยเวลา ด้วยการอ่านผู้อื่น ด้วยการอ่านนิยาย ด้วยการอ่านประวัติศาสตร์ อ่านประวัติบุคคล อย่างพิเคราะห์ ให้เห็นการทอเกลียว สานใย ถักทอขึ้นเป็นสังคม เพื่อมองกลับข้างในตนเอง ให้เห็นสังคมที่วิวัฒน์และผุพังในใจของเรา...ชีวิตสอนชีวิตได้ดีนักถ้าเราให้เวลาและใส่ใจศึกษานะคะ

เพียงแค่การรับฟังคนอื่นเวลาที่เค้าทุกข์เบิร์ดก็เห็นสัจธรรมเรืองโรจน์ขึ้นมาแล้ว...ดังนั้นการมองสิ่งรอบข้างเราก็น่าจะเห็นสัจธรรมเช่นเดียวกันนะคะอาจารย์ เป็นการประพฤติธรรมแบบวิหารธรรม ( โน้มนำเอาสิ่งรอบข้างมาสอนตัว ) เปี๊ยบเลย อิ อิ อิ ..ว่าแล้วก็ต้องไปเตรียมรับการประเมินก่อนล่ะค่ะ  นี่ก็เห็นสัจจะในการทำงานเหมือนกัน..ในข้อว่าไฟลนก้น ^ ^

 

 

 

  สวัสดีครับ น้อง เบิร์ด

  • ดูมาส์ฉบับหนัง ก็งั้น ๆ
  • แต่หนังสือ ไม่อ่าน ก็กระไรอยู่
  • ลองนึกถึงว่า ถ้ากิมย้งเขียนออกมารวดเดียว 30 เรื่อง แล้วเราไม่ได้อ่าน คงรู้สึกยากทนทาน จริงไหมครับ
  • แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่เหลือบมองหนังสือของดูมาส์

ที่ยกหลักธรรมมากล่าวถึง

  • ข้อ วิหารธรรม ชื่อแปลกดีครับ เหมือนคุ้น เหมือนไม่คุ้น ชอบกลอยู่
  • ข้อ ไฟลนก้น ฟังดูคุ้นมากครับ แต่ไม่น่าจะเป็นหลักธรรม
  • น่าจะอธิบายด้วย ภาพประกอบ น่าจะเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า

 

                            => Ma-paen

  • อธิบายว่า การลนที่เหมาะสม ควรมีพื้นผิวสัมผัสสูงขณะลน
  • ...
  • ...
  • "ย่าง"
  • ...
  • ...

 

  • สวัสดีครับ
  • พยามทำความเข้าใจตาม อยู่นะครับ
  • ตอนเด็กดูแต่ไอ้มดแดง ส่วน มังกรหยกนี่พอได้ดูบ้างครับ แฮ่ะๆ
  • เดี๋ยวกลับมาอ่านอีกที เหนื่อยครับวิ่งตามความคิด(ในตัวหนังสือ)

ไฟลนก้นเป็นหลักธรรมค่ะ

ธรรม=ธรรมชาติ

หลักธรรมชาติของคนที่เตรียมตัวรับการประเมิณ(อิ อิ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท