การประชุมเครือข่ายฯสัญจร ครั้งที่ 2/2549 (3.2) ต่อ


เมื่อเราลงมือทำงานแน่นอนว่าต้องมีปัญหาตามมา การทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหา แต่ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้เราจะเกิดความภาคภูมิใจ นี่คือ หลักการบริหาร

      วันนี้ขอเล่าบรรยากาศและเนื้อหาสาระของการประชุมเครือข่ายฯสัญจร  ครั้งที่ 2/2549  ซึ่งองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านแม่พริกเป็นเจ้าภาพต่อเลยนะคะ  เมื่อวานนี้ผู้วิจัยเล่าถึงวาระที่ 3  ในส่วนที่คุณกู้กิจ  ซึ่งเป็นประธานองค์กรออมทรัพย์บ้านดอนไชย  ต.ล้อมแรด  อ.เถิน  จ.ลำปาง  ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการแบบใหม่  ซึ่งให้ตำบลมีอำนาจเต็มที่ในการบริหารจัดการทุนของชุมชนด้วยตนเอง  ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเครือข่ายฯเลยนะคะ  หลังจากการนำเสนอของคุณกู้กิจ  มีความเห็นตามมามากมาย  เรามาลองดูกันนะคะว่าจะเป็นอย่างไร

      วาระที่ 3  เรื่องสืบเนื่อง (ต่อ)

      อ.ธวัช  ในฐานะประธานองค์กรออมทรัพย์บ้านแม่พริก  ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มบ้านดอนไชยว่า  ผมเองก็คิดถึงกลุ่มตัวเองเหมือนกัน  ที่ผ่านมาเราทำตามสูตรของประธานมาโดยตลอด  พยายามเก็บออมทุกอย่าง  ทำทุกอย่าง  แต่เงินก็ยังไม่พอใช้  มีปัญหาเรื่องการเงิน  ในเดือนที่แล้วสมาชิกของกลุ่มตาย 2 ศพ  ต้องจ่ายให้รายละ 15,000 บาท  (รวมเป็นเงิน 30,000 บาท) จะให้ทางกลุ่มทำอย่างไร  ทั้งๆที่ทุกเดือนเราก็จ่ายค่าเฉลี่ยศพไปที่เครือข่ายฯ  แต่ตอนนี้เงินของกลุ่มช็อต (พูดง่ายๆ  คือ  เงินไม่พอ)  ตอนนี้กลุ่มค้างค่าเฉลี่ยศพอยู่ประมาณ 41,302 บาท  แต่ตอนนี้ไม่มีเงินที่จะจ่ายแล้ว  เงินค่าศพก็ไม่มีจ่าย  พอไปเอาที่เครือข่ายฯ  เครือข่ายฯกลับบอกว่าไม่ให้  ต้องให้ทางกลุ่มจ่ายค่าเฉลี่ยศพมาที่เครือข่ายฯให้ครบเสียก่อน  ทำให้ผมนั่งคิดมาตลอดเดือนที่ผ่านมาว่าผมจะช่วยสมาชิกของผมซึ่งมีประมาณ 770 กว่าคนได้อย่างไร  ตอนแรกคิดว่าจะทยอยจ่ายค่าเฉลี่ยศพให้เครือข่ายฯไปเรื่อยๆ  แต่เหตุก็เกิดขึ้น  เพราะ  เดือนที่แล้วทางกลุ่มมีคนตาย 2 ศพ  พอจะไปขอเงินค่าศพจากเครือข่ายฯมาจ่ายให้สมาชิกก่อน        ปรากฎว่าเครือข่ายฯก็ไม่ยอมให้สักบาทเดียว  เมื่อเป็นอย่างนี้ผมก็มานั่งคิดว่าผมจะจัดการอย่างไร  จะหาเงินมาจ่ายให้สมาชิกได้อย่างไร  โดยที่ไม่ถูกชาวบ้านมาตีหัวเอา  ผมนั่งคิดไปคิดมาก็เห็นว่าเงินที่ทางกลุ่มส่งไปที่กองทุนกลาง (กองทุนสำรอง) ของเครือข่ายฯมีถึง 20%  ทำไมไม่ให้ผมยืมออกมาก่อน  เงินที่ต้องส่งไปที่เครือข่ายฯ  ทั้งเงินกองทุนชราภาพ  กองทุนเพื่อการศึกษา  ทางกลุ่มก็ส่งตลอด  ไม่เคยขาด  คิดไปแล้วน้อยใจ  คณะกรรมการของกลุ่มบางคนรู้เรื่องเข้าก็หมดกำลังใจ   เราอุตส่าห์ทำความดีมาตลอด  ผมอยากเรียนให้สมาชิกทุกคนของเครือข่ายทราบว่า  เมื่อเราลงมือทำงานแน่นอนว่าต้องมีปัญหาตามมา  การทำงานทุกอย่างต้องมีปัญหา  แต่ถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลุล่วงไปได้เราจะเกิดความภาคภูมิใจ  นี่คือ  หลักการบริหาร  เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้เราจะทำอย่างไร  ในกรณีนี้เรามีเงินอยู่ที่จังหวัด  แต่เครือข่ายฯกลับไม่ให้มา  ผมจึงได้มาปรึกษากับคณะกรรมการของกลุ่มซึ่งได้ข้อสรุปว่า  ต้องเอาเงินออมในเดือนต่อไป (ก็คือเดือนกุมภาพันธ์)  มารวมกับเงินกองทุนธุรกิจชุมชนที่มีอยู่แล้วนำไปให้กับญาติของสมาชิกที่เสียชีวิต  เพราะฉะนั้นผมจึงอยากขอเงิน 20% ซึ่งเป็นเงินสำรองเอาไว้ที่กลุ่มได้ไหม  ผมคิดออกแค่นี้  และขอสนับสนุนความคิดของกลุ่มเถินเต็มที่  เพราะ  กลุ่มผมประสบปัญหาด้วยตนเอง  ถ้าเราให้เถินเป็นกลุ่มทดลอง  แล้วเถินสามารถอยู่ได้  เราก็ทำตามเถินไป  รับรองว่าจะต้องดีตามเถินแน่นอน  แต่ให้เถินทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ  มีปัญหา  เราก็ต้องหาทางปรับปรุงแก้ไข 

       เมื่อ อ.ธวัช  กล่าวจบ  พี่นก  ยุพิน  ในฐานะเลขานุการกลุ่มเถิน  ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่า  เมื่อมาดูยอดที่คุณกู้กิจคิดออกมาในส่วนของการจ่ายสวัสดิการ (เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย)  ภายในกลุ่ม  ซึ่งคุณกู้กิจคิดออกมาเฉลี่ยคนละ 3 บาท/เดือนนั้น  อย่างสมาชิกของเถินเดือนหนึ่งจ่ายสวัสดิการในส่วนนี้ประมาณ 6,000 กว่าบาท  (เถินมีสมาชิกประมาณ 2,015 คน)  นี่คือ สถิติของกลุ่มใหญ่  แต่ถ้าเราไปดูที่กลุ่มเล็กๆ  จะยิ่งหนักกว่านี้ (หมายความว่าค่าเฉลี่ยจะสูงกว่านี้ค่ะ)  เพราะฉะนั้น  ยอดรวมจะไม่ใช่ 41บาท/คน/เดือน  ยอดจะต้องสูงกว่านี้  ทุกครั้งเราไม่ได้คิดวิเคราะห์แบบนี้  แต่พอเอาตัวเลขมาวิเคราะห์จริงๆเราจะเห็นปัญหาเลย  นี่คือ  สาเหตุที่ทุกกลุ่มบอกว่าไม่มีเงิน  จะมีได้อย่างไร  เราเก็บกันเดือนหนึ่ง 30-31 บาท  แต่จ่ายจริง 41 บาทขึ้นไป  ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปปัญหาก็จะยิ่งหมักหมมไปเรื่อยๆ  เราจะเข้าเนื้อขนาดไหน  เราจะอยู่ได้ไหม  โดยเฉพาะกลุ่มเล็กๆ  นี่คือ  ที่มาที่เรามานั่งคุยกัน  มาวิเคราะห์กันภายในกลุ่ม  ดังนั้น  กลุ่มของเราจึงอยากเป็นหนูทดลองวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ดู

       จากนั้นคุณกู้กิจ  กล่าวเสริมต่อไปว่า  ในประเด็นนี้สมมติว่ามีอำเภอ ก , ข , ค  เห็นว่าเข้าท่า  คิดอยากทำอย่างนี้  ปรากฎว่า อำเภอ ก. อยากจะทำนำดื่ม  แต่เงินของอำเภอ ก. ไม่พอ  เมื่อ อำเภอ ก , ข , ค  และอำเภอเถิน  มีความคิดตรงกัน  ก็ให้อำเภอ ก. มายืมเงินของอำเภอที่มีความคิดเหมือนกันเลย  ทำสัญญาลูกผู้ชาย  นี่คือ  การให้ชุมชนอย่างแท้จริง  แต่ถ้ายังเป็นเหมือนทุกวันนี้  เงินยังไปกองอยู่ที่เครือข่ายฯ  นอนอยู่ในห้องแอร์  ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน

       ประธานพยายามตัดบท  โดยบอกว่าพอที่จะเข้าใจแล้ว  ก่อนที่ประธานจะกล่าวอะไรต่อไป  คุณปิยชัย  ในฐานะประธานองค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านต้นธงชัย  ได้ยกมือขอแสดงความคิดเห็นว่า  จากแผนภูมิที่ทางกลุ่มเถินคิดออกมา (รายรับ-รายจ่ายสวัสดิการ)  เป็นเรื่องที่ทุกกลุ่มน่าจะนำไปศึกษา  ผมได้พูดตั้งแต่การประชุมครั้งที่ผ่านมาแล้วว่าในกรณีของกลุ่มบ้านต้นธงชัยจ่ายเงินเข้ามาที่เครือข่ายฯประมาณ 67% ยังไม่รวมที่ทางกลุ่มยังเป็นหนี้อยู่อีกหมื่นกว่าบาท 

      วันนี้ขอเล่าแค่นี้ก่อนนะคะ  เพราะ  หากเล่าต่อจะอีกยาวค่ะกว่าจะจบประเด็นนี้ (แถมตอนนี้ก็ดึกแล้วด้วยค่ะ  ต้องรีบไปทำงานอื่นที่ค้างเอาไว้)  ถ้าพรุ่งนี้โอกาสอำนวยจะเข้ามาเล่าให้ฟังต่อไปค่ะ  แต่ขอบอกก่อนว่าไม่ควรพลาด  เพราะ  บรรยากาศเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17042เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2006 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อ.อ้อมตามร่อยรอยการต่อสู้ของเครือข่ายสวัสดิการลำปางได้อย่างหายใจลดต้นคอทีเดียว ผมเข้าใจว่ากลุ่ม/เครือข่ายต่างๆก็มีร่องรอยการต่อสู้ที่น่าศึกษาไม่แตกต่างกันมากนัก หน่วยงานที่มองภาพใหญ่ คิดจะเข้ามาต่อยอดควรคิดถึงการเข้ามาเสริมในช่วงการพัฒนาเหล่านี้ด้วย กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าใช่ว่าจะทำได้ง่าย การวิเคราะห์ของเถินน่าจะต่อ  ยอดการศึกษาให้ชัดเจนว่าการรับ-จ่ายของกลุ่มและเครือข่ายทั้งระบบเป็นอย่างไร หากไม่รู้เรื่องนี้ ก็เหมือนคนตาบอด
การจัดการความรู้ต้องช่วยหาความรู้เรื่องนี้ให้ชัดแจ้งก่อน     จากนั้นมาดูการบริหารจัดการว่ารวมศูนย์ที่เครือข่ายทั้งหมด    รวมที่เครือข่าย70%ที่กลุ่ม30% หรือสัดส่วนเท่าไรจึงจะเหมาะสมเพื่อให้การบริหารเกิดการพึ่งตนเองและพึ่งพาช่วยเหลือกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 
ถ้าไม่สนใจศึกษาเรื่องแรกก็คือคนตาบอดขายฝัน
ถ้าไม่ศึกษาเรื่องที่2ก็คือดันทุลังตามฝัน
การจัดการความรู้ อาศัยจินตาการและเป้าหมายเป็นเครื่องนำทาง แต่กระบวนการไปสู่เป้าหมายใช้ความรู้เป็นตัวเดิน
แบบง่ายคือไปดูคนที่ทำสำเร็จหรือทำได้ดีกว่าแล้วเรียนแบบ(ไม่ใช่ลอกแบบ)
ทีมวิจัยต้องช่วยสร้างความรู้และจัดการความรู้ให้เกิดผลตามเป้าหมายและจินตนาการที่สวยหรู(ภาคสวรรค์)นั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นสวรรค์ล่มครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท