สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประวัติย่อ ตำหนักปลายเนิน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   เป็นเจ้าฟ้าผู้ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนง ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี และงานช่าง  พระองค์มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าจิตรเจริญ  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย  ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง  เมื่อวันที่  ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖  ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนคะเด็ตทหาร  จากนั้นผนวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  หลังจากนั้นทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ  และราชประเพณี

 

 

 

พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงผนวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๗  ครั้นลาผนวชแล้ว  ทรงรัชราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระสติปัญญารอบรู้  เป็นที่วางพระราชหฤทัยจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ  อยู่หลายหน่วยงานเพื่อวางรากฐานในการบริหารราชการให้มั่นคง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ  กระทรวงพระคลัง  และกระทรวงวัง

 

 

 

               ใน พ.ศ. 2452  ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากประชวร    ด้วยโรคพระหทัยโต  ทรงปลูกตำหนักอยู่ที่คลองเตย และเรียกตำหนักนี้ว่า  บ้านปลายเนิน  ครั้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  และโปรดเกล้าฯ  ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง  จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จึงทรงพ้นจากตำแหน่ง

                ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  พระชันษา ๘๓ ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล  จิตรพงศ์ 

 

                สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนุวัดติวงศ์  ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายแขนง ได้ทรงงานออกแบบไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งงานภาพเขียนในวรรณคดี  ภาพประดับผนัง  พระราชลัญจกรและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ตาลปัตร  ตลอดจนสถาปัตยกรรม  ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  พระอุโบสถวัดราชาธิวาส  พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ  ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านงานช่างนี้เอง  ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า  นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม 

 

 

 

                 นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารทางด้านดนตรี  ทรงพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับนิทราชาคริต เพลงตับจูล่ง ฯลฯ  ส่วนด้านวรรณกรรมทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเอกสารที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและอักษรศาสตร์ ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม  สาส์นสมเด็จ ความที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนงจึงมิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยเท่านั้น  หากแต่ทรงเป็นบุคคลที่ชาวโลกพึงรู้จัก โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๖  อันเป็นวาระครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ ยูเนสโกได้ประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง

อ้างอิง

1. ตำหนักปลายเนิน http://tongtubsuang.tarad.com/article?id=22466&lang=th

2. http://personinhistory.exteen.com/page-6

หมายเลขบันทึก: 169809เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2008 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อความที่มีประโยชน์มาก

สามารถทำให้ทุกคนมีความรู้เพิ่มขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท