นายศักดิ์ณรงค์
นาย นายศักดิ์ณรงค์ ศักดิ์ บุญออน

เศรษฐกิจพอเพียงกับพระพุทธศาสนา


ดำเนินตามรอยพุทธองค์และน้อมนำตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ ถ้าประพฤติตนอยู่ตามหลักธรรมของพระบรมศาสดาแล้ว ความพอดีและความพอเพียงก็จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ อยู่ที่จิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อสังคม

1.หลักปุริสธรรม 7 ได้แก่
1.ธัมมัญญุตา ความรู้จักเหตุ คือรู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล
2.อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์
3.อัตตัญญุตา ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
4.มัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ เป็นต้น
5.กาลัญญุตา ความรู้จักกาล คือรู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา เป็นต้น
6.ปริสัญญุตา ความรู้จักบริษัท คือรู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
7.ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น ๆ ด้วยดี เป็นต้น
2.ทิฏฐธัมมิกกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 ได้แก่
1.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติ
2.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รู้จักคุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์ และผลงานอันตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียร
3.กัลยาณมิตตตา คบคนดีเป็นมิตร คือ รู้จักกำหนดบุคคลในถิ่นที่อาศัย เลือกเสวนาสำเหนียกศึกษาเยี่ยงท่านผู้ทรงคุณ มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา
4.สมชีวิตา มีความเป็นอยู่เหมาะสม คือ รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี มิให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้
จากแนวคิดและคำอธิบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และความเห็นของบุคคลทั้งสามดังกล่าวที่ได้ยกขึ้นมากล่าวอ้าง และการนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบวิเคราะห์ จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบทั้ง 3 ที่ได้กล่าวถึงนั้น เกี่ยวข้องกับ การรู้จักเหตุ รู้จักผล การรู้จักประมาณตนในการบริโภค การใช้ชีวิตให้เหมาะกับสิ่งที่หามาได้ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่อยากได้ชนิดที่ต้องเบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ความซื่อสัตย์ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร การเลี้ยงชีวิตอย่างสุจริต เป็นต้น เหล่านี้ได้มีหลักการปฏิบัติมาจากคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ได้ยกขึ้นมาแสดงพอเป็นตัวอย่างเพียง 2 หลักธรรม และยังมีหลักธรรมอีกมากที่ครอบคลุมองค์ประกอบเหล่านี้ ซึ่งแนวทางการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้เป็นแนวการดำรงชีวิต โดยอาศัยหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องดำเนินการ และมีสติสัมปชัญญะเป็นผู้ควบคุม
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแนวคิดที่ถูกหล่อหลอม มาจากความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ที่มนุษย์ทุกคนต้องศึกษาให้เข้าใจ และต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ ความเป็นจริงของชีวิต ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ สิ่งใดควรยึดถือเป็นที่พึ่ง สิ่งใดไม่ควรยึดถือเป็นที่พึ่ง เมื่อได้ศึกษาจนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติจนเกิดผลแล้ว จนพบความเป็นจริงแห่งชีวิตว่าสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตคืออะไร เมื่อนั้นก็จะได้เข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างดี เพราะหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายที่แสดงให้เห็นถึง...ความเป็นจริงของชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา

หมายเลขบันทึก: 167915เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2008 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีม๊ากมากกกกกกกกก(มั้ง!!!)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท