การบริหารระบบอุดมศึกษาของประเทศแบบ Chaordic Management
ผมต้องขออภัยที่จะต้องเริ่มบันทึกด้วยการบอกว่า วิธีการบริหารระบบอุดมศึกษาของประเทศไทยเป็นวิธีการที่ล้าสมัย ไม่เหมาะต่อการบริหารหน่วยงานหรือองค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรม หรือทำหน้าที่เป็นสมอง เป็นพลังสร้างสรรค์ของประเทศ
และเวลานี้เป็นฤดูกาลยกร่าง พรบ. ของมหาวิทยาลัยที่จะออกนอกระบบราชการ และมีข้อโต้แย้งอยู่ในระดับกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ในสาระและกระบวนทัศน์ของการสนับสนุนและกำกับของรัฐ โดยมีแนวโน้มว่าภาคการเมืองต้องการเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัยมากขึ้น ในลักษณะที่เขียนกฎหมาย (พรบ.) ให้มหาวิทยาลัยมีรูปแบบการบริหารที่เหมือน ๆ กันหมด ในลักษณะ “กำหนดสูตรที่แน่นอนตายตัว”
นี่คือจุดตายของระบบอุดมศึกษาไทย
นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่เป็น Learning Organization อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
องค์กรเพื่อการสร้างสรรค์ ต้องบริหารแบบ chaordic management ซึ่งหมายความว่า ความชัดเจนอยู่เป้าหมาย (goals) หรือปณิธานความมุ่งมั่น (purpose) แต่วิธีการและกฎเกณฑ์กติกาไม่ตายตัว เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และร่วมกันกำหนดกติกา และรูปแบบการจัดองค์กรให้เหมาะสมต่อบริบทของการทำงาน ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายบรรลุปณิธานความมุ่งมั่นที่กำหนดไว้
การบริหารระบบอุดมศึกษาต้องเน้นการบริหารที่ยึดปณิธานความมุ่งมั่นเป็นหลัก ใช้ทรัพยากรและการจัดการเข้าไปเสริมหรือเพิ่มพลัง (empower) การริเริ่มสร้างสรรค์และฟันฝ่าของแต่ละมหาวิทยาลัยให้บรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ใช่ผู้บริหารระบบอุดมศึกษาเข้าไปกำหนดรายละเอียดและวิธีการทำงานของแต่ละมหาวิทยาลัย
วิจารณ์ พานิช
20 ก.ค.48