หมอบ้านนอกไปนอก(54): รู้เขารู้เรา


การวิเคราะห์แนวดิ่งเป็นการพยายามถกเถียงเพื่อหาเหตุผลให้ออกมาเห็นชัดเจนเพื่อทำให้การหาเหตุผลนำไปสู่ความสมเหตุสมผลให้ได้ทางเลือกที่เป็นไปได้จริง เป็นการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม ทำให้ประสบความสำเร็จได้ง่าย เปรียบดัง รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

           อากาศที่หนาวเย็นลงมาอีกกับสัปดาห์ที่ 24 ทำให้ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ในขณะที่ฟ้าใส แดดออกเกือบทุกวัน ไม่มีฝนตก เบเคเล่เพื่อนชาวเอธิโอเปียบอกว่ามันหนาวกว่าที่บ้านเขามากจนเขาต้องเก็บตัวอยู่ในห้องเกือบตลอดเวลาที่กลับจากห้องเรียนแล้วคลายเหงาด้วยการอ่านหนังสือ อ่าน อ่านแล้วก็อ่าน ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน แต่ก็พยายามออกไปร่วมกิจกรรมภายนอกกับเพื่อนคนอื่นๆด้วย บรรยากาศเช่นนี้เสียงเพลงไร่อ้อยคอยรัก ที่เราร้องกันบ่อยๆในการจัดงานปีใหม่ที่โรงพยาบาลบ้านตากสองสามปีที่ผ่านมา ยังคงก้องกังวานอยู่ในโสตประสาท ทำให้อดฮัมเพลงเบาๆไปด้วยไม่ได้ บ่อยครั้งที่เดินฮัมเพลงไปตามถนนขณะเดินไปเรียนหนังสือ

            "หนาวเริ่มเยือนมาแล้วน้อง พี่ร่ำร้องเรียกน้องบัวลอย ใครเล่าใครเขาหมายเหม่อคอย พี่ใจลอย ไร่อ้อยคงเหลือแต่ซาง น้องเจ้าไม่หันมาแล พี่ชะแง้หนาวแท้นวลปราง ลมหนาวเอยข้าเคยกอดนาง กลับอ้างว้าง ลมพาพัดนางสู่กรุง  ไร่อ้อยแห้งเฉา เพราะเจ้าไม่อยู่ พี่ทนอดสู เฝ้าดูเจ้ารุ่ง สวมเพชรวงใหญ่อยู่ในเมืองกรุง เพลินกลิ่นหอมฟุ้ง ลืมบ้านมุงหญ้าคา หนาวพี่ก็หนาวไม่น้อย หนุ่มไร่อ้อยบุญน้อยหนักหนา คงชวดชมเจ้าแล้วแก้วตา อ้อยแห้งคา อ้อมแขนคอยแฟนกลับคืน"

             ที่สวรรคโลกบ้านผมชาวไร่เลิกปลูกถั่วปลูกฝ้ายหันมาปลูกอ้อยขายส่งโรงงานมากว่ายี่สิบปีแล้ว ตามคำโฆษณาของโรงงานน้ำตาลที่บอกว่าปลูกอ้อยรวยเร็วกว่า ดูแลน้อยกว่า แปลงถั่วเหลืองหลายพันไร่จึงกลายเป็นไร่อ้อยเต็มไปหมด วิถีชีวิตเปลี่ยนจากไปนอนในไร่กลับเข้าบ้านเฉพาะช่วงหน้าแล้งกลายเป็นห้างไร่ถูกทิ้งให้อยู่เดียวดาย เจ้าของออกไปหาแค่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ผลหมากรากไม้ที่เคยเพาะปลูกไว้เก็บกินเป็นอาหารก็พลอยอดอยากล้มตายไปด้วย ทำให้ต้องใช้เงินซื้อแทนที่จะเก็บกินได้ง่ายๆจากไร่ของตนเอง แม้ชาวไร่อ้อยจะดูมีฐานะขึ้นจากการมีรถไถ มีรถสิบล้อกันมากขึ้น

             แต่ปีแล้วปีเล่าผืนดินถูกเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนดินขาดอาหารพาลให้อ้อยเติบโตไม่ดี ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นานาชนิดจึงถูกใส่ลงไปในดินเพื่อบำรุงอ้อย แต่ไม่ได้บำรุงดิน คำแนะนำเรื่องปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ว่าดีนะ ชาวไร่ก็รู้ว่ามันดีในระยะยาว แต่อ้อยมันโตไม่ทันใจ หนำซ้ำกับการประพรมไปด้วยยาฆ่าหญ้าที่มีฤทธิ์เดชมหาศาล ดินดำน้ำชุ่มในวันก่อนกลายเป็นดินแข็ง แหล่งกันดาร ผักพื้นบ้านสูญสิ้น การไถคราดยากมากขึ้น แมลง ไส้เดือนที่คอยช่วยพรวนดินล้มหายตายจากไป การลงทุนก็สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ราคาขายไม่ได้สูงตามราคาน้ำตาลที่แพงขึ้นเลย ทุกข์ซ้ำกรรมซัดของชาวไร่ คงคล้ายกับการรับจ้างนายทุนที่อยู่ในเมืองไปตัดไม้ในป่าของชาวบ้านที่อยู่เชิงเขา พอฝนตกลงมาหนักๆ ไม่มีต้นไม้รากไม้ยึดหน้าดินทำให้น้ำป่าพัดดินโคลนถล่มทับถมบ้านเรือนชาวบ้านให้รับเคราะห์กรรมในขณะที่นายทุนยังคงสุขสบายอยู่ในเมืองใหญ่

         วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ไม่ได้ออกไปไหน นั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องพัก อากาศเย็นทำให้ขี้เกียจออกไปข้างนอก ตอนบ่ายมีการติวกันในกลุ่มในวิชาระบาดวิทยาที่บ้านผมมีริด ริด้า เฟ็ง พี่เกษมและเกลนด้า ตั้งแต่บ่ายสองโมงเย็นไปจนเกือบหนึ่งทุ่ม จึงทำอาหารเย็นทานกันโดยริดกับริด้าขอทำอาหารเลี้ยงพวกเรา มีไก่ผัดขิงกับทอดปลา พี่เกษมทำแกงเขียวหวานไก่ เป็นอีกมื้อหนึ่งที่อร่อยมาก เกลนด้ากลับไปก่อนเพื่อไปโบสถ์แล้วกลับมาร่วมทานอาหารเย็นตอนทุ่มกว่าๆ การติวร่วมกันเป็นกลุ่มมีประโยชน์มากเพราะแต่ละคนมีช่องโหว่ของการรับรู้จากการฟังอาจารย์เพราะความแตกต่างเรื่องภาษา พอมาช่วยกันติวก็เติมเต็มได้ดี

          วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ทำกิจกรรมกลุ่มต่อ กลุ่มผมทำเรื่องไข้เลือดออก สถานการณ์เป็นเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรมีความหนาแน่นสูง จากการวิเคราะห์ความสำคัญของปัญหา สร้างตัวแบบทางระบาดวิทยาและค้นหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน สัปดาห์นี้เริ่มต่อในขั้นของการกำหนดทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดในการจัดบริการแบบใด โดยใคร ทำกิจกรรมอะไรบ้างแล้วก็ประเมินผลพร้อมทั้งทำสไลด์นำเสนอ ในกลุ่มมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างมาก แต่ก็พยายามหาทางออกได้ดี ไม่ถึงกับเป็นความเห็นร่วมมากนักแต่ก็ยอมๆกันไปได้ ในขณะที่หลายกลุ่มบรรยากาศการถกเถียงเข้มข้นมาก แทบไม่ยอมกันเลย อย่างกลุ่มของบูโคล่าเธอบอกว่าไม่ใช่การถกเถียง (Arguement) แล้ว เหมือนเป็นการต่อสู้ (Fighting) กันมากกว่า มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยมาช่วยนำทางและหาข้อยุติให้ สังเกตว่านักศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังคงเชื่อความคิดเห็นของอาจารย์อยู่ กลุ่มผมมีอาจารย์แมรีแอนมาช่วยเป็นระยะๆ ทำให้กิจกรรมกลุ่มไปได้เร็วและราบรื่น สามารถทำสไลด์เสร็จก่อนหกโมงเย็น หลายกลุ่มต้องไปทำต่อที่บ้านตอนกลางคืน และผมเองก็พยายามช่วยลดการตึงเครียดของกลุ่มทำให้บรรยากาศถกเถียงสนุกขึ้น เช่นเวลาเขาเถียงกันมากๆ ผมก็จะยกมือแล้วบอกว่าผมฟังไม่ทัน ช่วยพูดช้าๆหน่อยหรือไม่ก็ขอเบรคพักเล่นปิงปองก่อน ทำนองนี้

          การทำกิจกรรมกลุ่มแบบนี้ เป็นการเริ่มต้นจากมองปัญหา (Problem) แล้วถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันตามพื้นฐานจากเอกสารตำรา (Explicit knowledge) บรรยากาศกลุ่มมีการถกเถียงกันมากตามสไตล์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มจากปัญหาเป็นทุกข์ เริ่มจากตำราเป็นความฝัน ไม่ได้เริ่มจากความสำเร็จซึ่งเป็นสุข ไม่ได้เอาคนทำเรื่องนั้นๆมาคุยกัน จึงไม่มีประสบการณ์และไกลจากการปฏิบัติจริง บางกลุ่มเป็นเหมือนการต่อสู้ (ทางความคิด) พยายามทำให้คนอื่นๆคิดเหมือนตนเอง สุดท้ายต้องพยายามประนีประนอม (Compromise) ไม่ได้หาข้อสรุปร่วม (Consensus) เท่าไรนัก

         ในขณะที่บรรยากาศของการจัดการความรู้ จึงเริ่มจากความสำเร็จ (Success story) เป็นความสุข การชื่นชมในผลสำเร็จ พูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ จดอย่างเข้าใจใส่ใจ เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีแบบLearn Care Share Shine นำเอาสิ่งที่ทำจริงๆกับมือตัวเองมาเล่าให้คนอื่นๆฟัง เป็นความรู้ในคน (Tacit knowledge) ไม่ได้ไปฟังเขามาหรือไปอ่านมาเล่าให้คนอื่นฟัง หลักฐานว่าจริงหรือไม่ได้จากผลงานที่ออกมาเป็นที่ประจักษ์ทำให้เกิดการยอมรับได้ง่าย

         การทำกิจกรรมกลุ่มแบบนี้ในแต่ละวัน ผมรู้สึกว่าตัวเองใช้พลังงานอย่างมาก ทำให้ตอนเย็นรู้สึกเหมือนหมดเรี่ยวแรง อ่อนล้าและอยากกินอาหารหวานๆมาก อาจเนื่องจากต้องพยายามอย่างมากในการติดตามความคิดเห็นของเพื่อนๆในกลุ่มพร้อมกับคิดตามไปด้วยตลอดเวลา เวลาถกเถียงกันเพื่อนๆในกลุ่มพูดเร็วมาก ฟังแทบไม่ทัน การทำงานกลุ่มที่ต้องออกความคิดเห็น การเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ความเห็นต่าง ความเห็นแย้ง ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งทำงานมากขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดใจเรียนรู้จากผู้อื่นเพราะมี 2 อี มากขึ้นคือ E-Ego หรืออัตตา กับ E-Experiences หรือประสบการณ์ อีแรกไม่ดีแต่อีหลังมีประโยชน์มาก แต่ก็อาจทำให้มั่นใจในตัวเองจนไม่ยอมฟังคนอื่นได้เช่นกัน

         วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นการนำเสนอของทั้ง 8 กลุ่ม เริ่มจากหัด ไข้เลือดออก ตับอักเสบบี อหิวาตกโรค ทุพโภชนาการ เบาหวาน พยาธิใบไม้ในเลือดและมะเร็งปากมดลูก ใช้เวลานำเสนอ 15 นาทีและอภิปราย 15 นาทีร่วมกับการให้ข้อเสนอแนะของอาจารย์กีและอาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละกลุ่มอาจารย์ทอมมอบหมายให้ผมเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย (Moderator) กลุ่มแรก ต้องคุมเวลา ดำเนินการอภิปรายให้ลุล่วงไปด้วยดี ส่วนการนำเสนอของกลุ่มผมมีลอร่าและลาริสซ่าเป็นผู้นำเสนอ (Presenter) กลุ่มตับอักเสบบีพี่เกษมเป็นคนนำเสนอ แต่ละกลุ่มจะมีผู้ดำเนินการอภิปราย 1 คนเสมอ พักกลางวันกลุ่มผมได้ออกไปทานอาหารร่วมกันในร้านตรงข้ามสถาบัน ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ในกลุ่มแน่นแฟ้มมาก ในขณะที่บางกลุ่มเสร็จงานนี้แล้วบางคนไม่อยากอยู่กลุ่มเดียวกันอีกเลยก็มี ยิ่งถ้าอัตตามีมากเท่าไหร่ก็ประนีประนอมกันได้ยาก บางกลุ่มมีเถียงกันเองตอนตอบคำถามในช่วงนำเสนออีกด้วย

         วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นการสรุปและสังเคราะห์บทเรียนจากการทำกิจกรรมกลุ่มของเราทั้งสองส่วน อาจารย์กีเป็นผู้สรุปวิเคราะห์ได้อย่างคม ชัด ลึก มาก สมกับเป็นศาสตราจารย์ในด้านการวิเคราะห์โครงการปัญหาสาธารณสุข ชี้ให้เห็นแนวทาง (Approach) การวิเคราะห์ปัญหาของแต่ละกลุ่ม ชี้ประเด็นคุณลักษณะเฉพาะของปัญหาแต่ละเรื่อง รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในภาพรวมที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงการบูรณาการโครงการต่างๆให้สอดคล้องกับภารกิจงานของหน่วยงานและบริบทของชุมชน ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คิดและมองรอบด้าน ไม่ใช่เจาะลึกอยู่แต่เรื่องของตนเองเท่านั้น มีความเข้าใจระบบสุขภาพโดยรวม คุณภาพบริการ การจัดสรรทรัพยากรทางด้านสุขภาพ มองเห็นภาพรวมของระบบได้ด้วย ตอนบ่ายกลับมาอ่านหนังสือที่บ้านพัก รู้สึกกังวลกับการสอบเหมือนกันเพราะแม้เคยมีประสบการณ์มาบ้างแต่การที่ต้องอธิบายเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตอนกลางคืนนอนหลับฝันถึงพ่อ เวลาใกล้ๆวันสำคัญทางศาสนาหรือเวลามีเรื่องไม่สบายใจผมมักจะฝันถึงพ่อ เหมือนกับว่าพ่อมาให้กำลังใจ เรื่องราวในฝันนั้นชัดเจนมาก

        วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นการเรียนทบทวนระบาดวิทยาก่อนสอบกับอาจารย์วีเริล ทำให้สามารถเข้าใจได้มากขึ้น เนื่องจากผมขาดเรียนไปสองวันครึ่งในช่วงกลับเมืองไทยตอนปีใหม่และเก็บรายละเอียดบางประการที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้เองจากการอ่านหนังสือและดีที่ผมอ่านหนังสือนี้จบไปแล้วพร้อมกับมีติวกันเองกับเพื่อนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ต่อจากนั้นเป็นการทบทวนเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของอาจารย์บรูโน มีเซน ตอนบ่ายไม่มีเรียนผมกลับมานั่งอ่านหนังสือเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพตลอดทั้งเย็น ตอนกลางคืนเรียนภาษาอังกฤษจากเทปแล้วก็อ่านหนังสือต่อเพื่อเตรียมตัวสอบ

         ผมรู้สึกว่าบรรยากาศเครียดกว่าการสอบครั้งแรกมากทั้งที่วิชาสอบน้อยกว่า เพื่อนๆต่างเตรียมตัวกันอย่างมาก มีการรวมกลุ่มติวกันเกือบทุกวัน อาจเป็นเพราะว่าคะแนนสอบที่ออกมาคะแนนส่วนใหญ่ไม่สูงกันนัก การให้คะแนนเป็นแบบไฮสแตนดาร์ด หรืออาจเรียกได้ว่าโหดสแตนดาร์ด ก็ว่าได้ มีบางส่วนคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่อาจต้องสอบซ่อมด้วย ตอนเย็นผมรู้สึกค่อนข้างเครียดจึงออกไปขี่จักรยานออกกำลังกายริมแม่น้ำสเกลด์เกือบชั่วโมง พอได้เหงื่อ ได้ออกกำลังกาย รับลมเย็น (หนาว) ๆแล้วความเครียดก็หายไป ทำให้สามารถอ่านหนังสือต่อได้ดีในตอนกลางคืน วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ปกติถ้าอยู่ที่เมืองไทย ผมจะพาครอบครัวไปทำบุญที่วัดพระบรมธาตุ ปีนี้ผมไม่ได้ไปทำบุญเนื่องจากไม่มีวัดไทยในแอนท์เวิป น้องแคนเล่าให้ฟังว่าแม่ (ภรรยาผม) พาไปทำบุญที่วัดแล้วก็พาไปหาคุณตาคุณยายที่ลำปาง

         วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 ตื่นเช้าอ่านหนังสือตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า กินข้าวเช้าเก้าโมงแล้วก็อ่านหนังสือวิชาการตัดสินใจต่อยาวจนเกือบบ่ายสองกินข้าวแล้วอ่านต่อ ผมคิดว่าวิชานี้เนื้อหาไม่มากแต่ยากมากในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ ตีความ สมัยเรียนชั้นประถมและมัธยม ผมสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ตั้งแต่อยู่ในห้องเรียนและจำได้ดี ในขณะที่ในการเรียนตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยเป็นต้นมา หลังจากฟังบรรยายแล้วผมมักไม่เข้าใจกระจ่างแจ้งเหมือนสมัยเป็นเด็ก ต้องมานั่งอ่านทำความเข้าใจเองอีกรอบจึงจะเข้าใจได้ดี ตอนบ่ายสามมีการติวกลุ่มวิชานี้กันกับสมาชิกกลุ่มเดิม ฝึกทำแบบฝึกหัดร่วมกันจนเย็นพี่เกษมเลยทำอาหารเย็นทานกันเกือบสองทุ่มจึงแยกย้ายกันไป ผมกลับเข้าห้องนอนอ่านหนังสือต่อ การติวกันในกลุ่มทำให้ผมได้ฝึกการอธิบายให้เพื่อนๆฟัง เป็นการฝึกพูดภาษาอังกฤษไปด้วย

         วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 อ่านหนังสืออยู่ที่บ้านทั้งวัน อ่านจนรู้สึกสมองล้าไปเหมือนกัน

         การเรียนวิชาวิธีการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ (Methodologies for the Analysis of Health Problems: MAHP) เป็นเนื้อหาของส่วนที่สาม (CC3) ของหลักสูตรคือ ARDP: Analytic perspectives, Research, Decision Making and Project planning ไม่มีสอบข้อเขียนแต่ใช้การประเมินผลงานจากการทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งมีการนำหลักการวิเคราะห์ 3 รูปแบบมาให้ศึกษาและทำกิจกรรมกลุ่มคือการวิเคราะห์แนวดิ่ง (Vertical analysis) การวิเคราะห์สาเหตุ (Causal analysis) และการวิเคราะห์ปฏิบัติการ (Operational analysis หรือ Piot's model)

         การวิเคราะห์แนวดิ่ง เป็นการวิเคราะห์ในภาพรวมที่เริ่มจากขั้นตอนแรกการวิเคราะห์ความสำคัญของปัญหา (Importance) โดยดูจากภาระของปัญหา (Burden of problem) จากความถี่ (frequency) และความรุนแรง (severity) ของปัญหากับค่าใช้จ่าย (cost) ทางเศรษฐกิจ (economic) และทางสังคม (social) ในขั้นนี้เราต้องค้นคว้าเอกสาร รายงานวิจัยจากแหล่งต่างๆเพื่อมาประกอบการตัดสินใจว่าปัญหานี้มีความสำคัญ ต่อในขั้นที่สองด้วยการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยา (The epidemiological system) เพื่อศึกษาธรรมชาติของโรค กลไกการเกิดโรค การติดต่อ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆเพื่อสังเคราะห์เป็นตัวแบบทางระบาดวิทยาของโรคโดยสามารถหาหลักฐานอ้างอิงตัวแบบนี้ได้จากผลการวิจัยต่างๆ เพื่อทำขั้นที่สามต่อด้วยการวิเคราะห์หาทางเลือกในการแก้ปัญหา (Inventory of interventions) จากตัวแบบทางระบาดวิทยาโดยเลือกวิธีการที่เป็นที่ต้องการ (desire able) และเป็นไปได้ (feasibility) มีประสิทธิผล (effectiveness) ดี ค่าใช้จ่าย (cost) ต่ำและเป็นที่ยอมรับ (Acceptability) สามขั้นแรกนี้เป็นไปในเชิงทฤษฎีค่อนข้างมากก่อนจะปรับไปสู่เชิงปฏิบัติในขั้นต่อๆไป

         ก่อนที่ไปสู่ขั้นที่สี่ ต้องทำการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาทั้งหมดก่อนโดยการระดมสมอง การวาดภาพลำดับขั้นของความคิด การมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อปัญหาเพื่อไปให้ถึงความเห็นร่วม (Consensus) แล้วเอาตัวแบบวิเคราะห์สาเหตุไปร่วมกับการวิเคราะห์บริบท (Contextual analysis) ส่วนนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้ SWOT analysis ได้ ทำให้เราได้ข้อมูลของวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้ (Plausible intervention) ไม่ใช่ possible intervention เหมือนขั้นที่สาม ขั้นที่สี่ให้พิจารณาชนิดของบริการ (Which services?) เป็นแบบรวมศูนย์หรือกระจายออกข้างนอก (Centralised/decentralised) แบบถาวรหรือเป็นครั้งคราว (Permanent/periodic) แบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือทั่วไป (Specialist/polyvalent) ขั้นที่ห้าเป็นการกำหนดบุคลากรในการดำเนินการ ขั้นที่หกเป็นการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมในการดำเนินการแก้ไขปัญหา (Operationalising) และขั้นที่เจ็ดเป็นการประเมินผล (Evaluation)

         การวิเคราะห์แนวดิ่งเป็นการมุ่งเน้นที่ปัญหา (problem/disease) แล้วพยายามให้เหตุผลให้เห็นเด่นชัด (Explicit) โดยการถกเถียง (argument) ในทุกๆสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในฐานของทุกแบบของการสนทนาที่ให้ผลดี (Basis of all fruitful dialogue) โดยการให้เหตุผลในขณะถกเถียงกันนั้นเป็นห่วงโซ่ของขั้นตอนที่นำไปสู่การให้เหตุผล (Rational) สู่ความสมเหตุสมผล (Reasonable) แล้วไปสู่ความเป็นไปได้จริง (Plausible)

         ผมนึกถึงการทำโครงการต่างๆของโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขแล้ว หากเรามีการวิเคราะห์โครงการกันทุกปี มีการใช้ความรู้มาวิเคราะห์ตามแนวทางที่ผมกล่าวมานี้ น่าจะได้รูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างไปจากเดิมๆมากขึ้น บางทีหลายหน่วยงานกิจกรรมต่างๆเหมือนกันเกือบทุกปี ต่างไปแค่ปีที่ทำ จำนวนเงินที่ใช้เท่านั้น นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาสาธารณสุขหลายๆปัญหาไปได้ กิจกรรมเหล่านี้หากนำเอาหลักการของการจัดการความรู้มาประยุกต์ใช้ไปด้วย จะทำให้บรรยากาศกลุ่มดีขึ้น ในขั้นตอนของการวิเคราะห์เชิงทฤษฎีอาจหนักไปทางค้นเอกสารตำราหรืองานวิจัยเพื่อคว้าเอาความรู้เหล่านั้นมาประกอบ ในขณะเดียวกันเมื่อถึงขั้นตอนการหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมก็คว้าความรู้เอาจากผู้ที่มีประสบการณ์จริงและประสบความสำเร็จเข้ามาประกอบ ก็จะช่วยให้เกิดผลสำเร็จได้มากขึ้น

          แม้ต้องอ่านหนังสือหนักมากขึ้น แต่ใจยังคงคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว ทำให้ลึกๆแล้วมีความวิตกกังวลซ่อนอยู่ในใจ เพื่อนๆหลายคนทั้งผู้ชายผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้วก็เป็นเช่นเดียวกัน มีความห่วงกังวลไปสารพัดเรื่อง ธรรมชาติสอนให้มนุษย์ผูกพันกับคนครอบครัว ที่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมแต่สำคัญที่สุดในโลก

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

22 กุมภาพันธ์ 2551, 15.20 น. ( 21.20 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 166993เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ คุณหมอพิเชษฐ์

  • คุณหมอคงจำดิฉันไม่ได้  แต่ดิฉันจำคุณหมอได้ดี  เราเคยพบกันที่ HACC. KKU (วิทยากร)ที่ อ. JJ เชิญอาจารย์ไปบรรยายค่ะ...
  • ว่าจะแวะมาคุยด้วยบ่อยๆก็ไม่ได้ทำสักที...วันนี้สบโอกาสค่ะ
  • เมื่อไหร่ก็ตามเราเริ่มพูดคุยกันด้วยปัญหา...แล้วไล่หาจุดอ่อนของผู้ทำพลาด...อย่างบรรยากาศ MM Conferences ...ที่วงการบ้านเราชอบทำกัน...วันนั้น(โดยเฉพาะคนขึ้นเวที)จะเหนื่อยทั้งกายและใจ  พลอยไม่อยากทำงาน...ประหนึ่งว่าทำดีมาร้อยครั้ง...ไม่เคยมีใครเห็นและเอ่ยปากชื่นชมเลย(ไม่ต้องชมบนเวทีหรอก)...แต่พอทำพลาดครั้งเดียว(แม้เป็นครั้งแรกในชีวิต) ก็จะได้รับเกียรติ(ที่ไม่มีใครอยากได้รับ)ให้ขึ้นเวที...บางคนชิงลางานไปเลย...น่าสงสารค่ะ
  • อยากให้บรรยากาศบ้านเราเป็น KM (มากกว่า MM)...ที่เริ่มจากความสำเร็จมากๆค่ะ...ไม่ค่อยจะมีกัน เพราะไม่ค่อยจะชมกันเอง(ไม่รู้ว่าเขินหรือขี้อิจฉา)...ไม่กล้าเล่า(กลัวเขาว่าโอ้อวด)...คนไทยถูกเลี้ยงดูมาแบบนั้น... "จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย   ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน...."....เฮ้อ...
  • สงสารคุณหมอที่คิดถึงครอบครัว....จะอยู่ที่นี่อีกนานมั้ยคะ
  • 11-14 มีค.นี้ มี HA Forum ครั้งที่ 9 ที่เมืองทองธานี  คุณหมอก็อดไปซีคะ  น่าเสียดาย....

สวัสดีครับคุณกฤษณา

เราถูกสอนให้จับผิดมากกว่าจับถูกกันมานาน เป็นสังคมที่มีการใช้พรหมวิหารสี่ แต่มักขาดข้อสี่ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) จึงไม่ค่อยชมกันเอง ไม่ค่อยมองหาสิ่งดีรอบๆตัว ไม่ยอมรับความรู้ในคนที่ทำดีหรือทำสำเร็จใกล้ๆตัว แต่เชื่อมือนักวิจัยที่เขียนรายงานวิจัยตีพิมพ์ที่อยู่ไกลตัวเรามากกว่า ทั้งๆที่บริบทต่างกันเยอะ

ความผิดพลาดก็เป็นบทเรียนได้ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ แต่ต้องเป็นไปในบรรยากาศของความเข้าใจ เห็นใจ พยายามเรียนรู้ความผิดพลาดร่วมกันโดยไม่ตำหนิกันให้เสียกำลังใจ เสียความมั่นใจและคนที่อยุ่ในเหตุการณ์ความผิดพลาดนั้นเต็มใจเล่าเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนอื่นๆ จะได้ไม่ผิดพลาดซ้ำเหมือนที่ตนเองเคยพลาดมาแล้ว

ผมเรียนอีกแค่สี่เดือนก็กลับเมืองไทยแล้วครับ ห่างบ้าน ห่างครอบครัว ห่างงาน ห่างการจัดการความรู้และเรื่องการพัฒนาคุณภาพไปหลายเดือนเลย กลับไปคงวต้องไปฟื้นฟูวิทยายุทธ์กันใหม่

เสียดายที่ปีนี้ไม่ได้ร่วม เวทีดีๆ บรรยากาศดี ร่วมชื่นชมสิ่งดีๆในในมหกรรมคุณภาพ HA Forum  9 ฝากเก็บตกสิ่งดีๆมาเล่าให้ฟังด้วยนะครับ

และขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน ทักทายกันครับ 

  • ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนี้ค่ะ  คงได้เก็บตกมาฝากบ้าง...แต่เกรงว่าจะไม่สามารถเก็บได้อย่างมีคุณภาพน่ะค่ะ...จะพยายามค่ะ
  • อาจจะได้รบกวนคุณหมอเพื่อเป็นรูปแบบในการจัดการความรู้ของกลุ่มวิชาชีพวิสัญญีพยาบาลในลำดับถัดๆไปค่ะ
  • ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
สวัสดีครับ หมอครับ ผมขอโทษ หมอมากครับที่ไม่ได้แวะไปเยี่ยมช่วง 21-2 กพ. 51 ที่ผม ไปอยู่ที่ antwerp 2 อาทิตย์ วันปกติก็ออกจากโรงแรม 0800 กลับถึงโรงแรมก็เกือบ 5-6 โมงเย็น ที่นั่นมืดเร็วมาก และก็อากาศก็หนาวมากด้วย เลยไม่รู้จะไปไหน กินข้าวเย็นเสร็จ ก็เดินย่อยอาหารแถว Central Station แล้วก็กลับมานั่งอยู่ในห้องพักอย่างเดียว ผมเช็คถนนที่หอพักอยู่แล้วกะว่าจะหาเวลาไปเยี่ยม ก็ไม่ได้ไปซักที พอเสาร์-อาทิตย์ก็ไป paris ช่วงที่หมอไปอิตาลีนั่นแหละครับ ไม่มีไอกาสได้ไปทักทายหมอเลย ผมเข้าใจแล้วละครับว่า ทำไมช่วงฤดูนี้มันน่าเบื่อ และชวนให้คิดถึงบ้านมากนัก บ้านเราน่าอยู่กว่ามากเลยไม่ว่าจะเป็นอากาศ อาหารการกิน ขอเป็นกำลังใจให้หมอนะครับ ถ้ามีโอกาสคงไจอหมอที่เมืองไทยนะครับ ขอบคุณหมอสำหรับคำแนะนำหลายอย่างครับ ชาครีย์ ทวีทรัพย์ 27-2-51

สวัสดีกับคุณกฤษณา

ขอบคุณครับ จะรออ่านเก็บตกสิ่งดีๆครับ ขอให้มีความสุขกับการร่วมกิจกรรมนะครับ

สวัสดีครับคุณชาครีย์

ไม่เป็นไรครับ ผมเองก็ยุ่งจนไม่ได้แวะไปหาเช่นกัน พอมืดเร็วก็ไม่ค่อยอยากออกไปไหนด้วย ขอบคุณสำหรับกำลังใจและมิตรภาพที่มอบให้นะครับ ผมเองก็หวังว่าจะได้พบกันที่เมืองไทยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท