การปรับพฤติกรรมเด็ก


ทุกพฤติกรรมสามารถปรับได้ แต่...........

           "ลูกดื้อมากเลยค่ะ อยู่เฉยไม่ได้ ชอบเล่นซุกซน จนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บบ่อย ๆ "

          "หลานเอาแต่ใจตนเอง โมโหร้าย ชอบรังแกน้อง"

          "ลูกไม่ค่อยกินข้าว กว่าจะกินข้าวหมดตามที่เตรียมไว้ ต้องพานั่งรถยนต์วิ่งรอบวงแหวน ๒-๓ รอบและป้อนข้าวไปด้วยจึงจะกินข้าวหมด"

          "พ่อเค้าชอบเล่นกับลูกรุนแรง ชกต่อย เตะถีบ กระโดดลงจากที่สูง กลัวเกิดอุบัติเหตุค่ะ"

          "ลูกชายชอบใช้เครื่องสำอางของแม่ ทั้งทาแป้ง ทาปาก เขียนคิ้ว จะทำอย่างไรดีค่ะ"

          "ลูกชายคนโตหาเหล้ายาปลาปิ้งขนไปกินที่บ้านเพื่อนประจำ เห็นเพื่อนเป็นเทวดา ทีพ่อแม่และน้อง ๆ ไม่เคยสนใจใยดี"

          อีกหลากหลายพฤติกรรมที่มักจะได้ยิน ได้ฟังพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บ่นหรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุตรหลาน ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องวิตกกังวล ไม่สบายใจ หรืออยากปรับพฤติกรรม ด้วยคำนึงถึง "ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก"  ซึ่งก็เข้าใจและเห็นใจ ด้วยความรักความห่วงใยหวังจะให้ลูกหลานมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มีพัฒนาการครบทุกด้านตามวัยที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้

การปรับพฤติกรรม

          การปรับพฤติกรรม หมายถึง การประยุกต์หลักพฤติกรรมมาใช้แก้ปัญหาพฤติกรรมของคน โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าพฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้ การแก้ไขพฤติกรรมนั้นควรแก้ไขที่การเรียนรู้

          ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยของครูผู้สอน หรือพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ พฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของนักเรียน จึงขอเสนอความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยม และนักปรับพฤติกรรมของคน ดังนี้

          ๑. พฤติกรรมของคนเป็นผลมาจากการเรียนรู้ พฤติกรรมปกติ และพฤติกรรมอปกติส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ กล่าวคือ ถ้าเรียนรู้มาเหมาะสมก็มีพฤติกรรมปกติ ถ้าเรียนรู้มาไม่ดี ไม่เหมาะสมก็มีพฤติกรรมอปกติ

          ๒. พฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยหลักการเรียนรู้ คือ ถ้าคนมีพฤติกรรมอปกติ เนื่องเพราะเขาเรียนรู้มาไม่ดีไม่เหมาะสม ถ้าเราวางเงื่อนไขการเรียนรู้ใหม่ให้เหมาะสมย่อมสร้างพฤติกรรมปกติได้เช่นกัน

          ๓. การปรับพฤติกรรมสามารถกระทำได้ทุกพฤติกรรม ยกเว้นพฤติกรรมที่เกิดจากสาเหตุพยาธิสภาพร่างกาย หรือระบบประสาทบางส่วนถูกทำลาย เช่น พูดไม่ได้เพราะสมองส่วนควบคุมการพูดถูกทำลาย เรียนหนังสือไม่ได้เพราะปัญญาอ่อนมาก

          วัตถุประสงค์ของการปรับพฤติกรรม คือ การแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ดังนั้นก่อนที่จะทำการปรับพฤติกรรมใด ๆ ก็ตาม ต้องพิจารณาก่อนว่าพฤติกรรมอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

เกณฑ์ในการพิจารณาพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

          ๑. พัฒนาการ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาต้องเป็นพฤติกรรมที่มีพัฒนาการช้า หรือไม่เหมาะสมกับวัย เช่น ถ้าเด็กอายุ ๑ ปี ปัสสาวะรดที่นอน ถือว่าพฤติกรรมปกติเพราะพัฒนาการของเด็กวัยนี้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ แต่ถ้าเด็กอายุ ๑๔ ปี ยังปัสสาวะรดที่นอน ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

          ๒. ผลที่เกิดต่อตัวเอง พฤติกรรมที่เป็นปัญหาต้องเป็นพฤติกรรมที่เมื่อทำไปแล้วจะก่อให้เกิดผลทางลบต่อตัวเองในด้านต่อไปนี้

              ๒.๑ ผลทางลบต่อร่างกายตนเอง เช่น พฤติกรรมเอาศรีษะโขกพื้นของเด็กปัญญาอ่อน พฤติกรรมทำร้ายตนเอง เป็นต้น

              ๒.๒ ผลทางลบต่ออารมณ์ตนเอง เช่น การกลัวที่สูง ที่แคบ ความมืด การวิตกกังวลเกี่ยวกับการสอบที่เกินกว่าเหตุ เป็นต้น

              ๒.๓ ผลทางลบต่อบุคลิกภาพตนเอง เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด การเดินหลังค่อม เป็นต้น

              ๒.๔ ผลทางลบที่ทำให้ตนเองสูญเสียโอกาสที่ดี เช่น การขาดเรียนจนหมดสิทธิ์สอบ การขโมยสิ่งของ เป็นต้น

          ๓. ผลกระทบที่อาจจะเกิดกับผู้อื่น และสังคม สามารถเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น พฤติกรรมถือมีดไล่แทงคนอื่น ส่งเสียงดังรบกวนชั้นเรียน เป็นต้น

          ๔. ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมเสพยาเสพติด ทำร้ายผู้อื่น ก่อกวนชั้นเรียน และรักร่วมเพศ เป็นต้น

          ๕. ระยะเวลาและความถี่ในการแสดงพฤติกรรม การตัดสินว่าพฤติกรรมใดเป็นปัญหา พิจารณาว่าพฤติกรรมนั้นมีช่วงเวลาและความถี่แตกต่างจากคนทั่วไปมากน้อยแค่ไหน เช่น มีพฤติกรรมปวดปัสสาวะ ๑ ครั้งก่อนรายงานในชั้นเรียนยังถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติ แต่ถ้ามีพฤติกรรมปวดปัสสาวะถึง ๑๐ ครั้งก่อนรายงานในชั้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ ดังนั้นเกณฑ์การพิจารณาพฤติกรรมในข้อนี้จึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นสำคัญ

          มีครอบครัวหนึ่งซึ่งเป็นครอบครัวเดี่ยว มีบุตร ๒ คน คนโตเป็นลูกชาย ด้วยความรักที่มีต่อลูก แม่จึงดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ทำให้ลูกทุกอย่าง ลูกกินอาหารแม่กลัวช้า กลัวความสกปรกเลอะเทอะ จึงป้อนอาหารทุกมื้อ การแต่งกายก็กลัวช้า(ทุกอย่างเร่งรีบตามภาวะของสังคม)แม่จึงแต่งกายให้ทุกวัน รวมถึงเรื่องส่วนตัวของลูกทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ตื่นนอน ล้างหน้า แปลงฟัน แต่งกาย สวมถุงเท้า รองเท้า เมื่อลูกไปโรงเรียนเข้าส้วมก็ทำความสะอาดไม่เป็น บางวันจึงอุจจาระใส่กางเกง สร้างความเดือดร้อนให้ครู เพื่อนนักเรียน ลูกก็อายไม่อยากไปเรียน แม่ พ่อ ก็เครียดที่ลูกคิดไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็น ทุกข์ลำบากใจ เพราะเรียนชั้น ป. ๕ แล้วน่าจะเรียนรู้ช่วยเหลือตนเองได้ ตรงกันข้ามกับน้องสาวที่แม่ไม่ได้ใส่ใจมาก จึงเรียนรู้ช่วยตนเอง ช่วยพ่อ แม่ พี่ชาย ทำทุกอย่าง จึงคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ถ้าเป็นท่านจะแก้ปัญหาให้ครอบครัวนี้อย่างไร?

                   

หมายเลขบันทึก: 166394เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอคำปรึกษาเกี่ยวการปรับตัวของเด็กวัยก่อนเรียน

ขอคำปรึกษาเกี่ยวการปรับตัวของเด็กวัยก่อนเรียน

ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท