บางนิยามที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม


การจัดการกับตนเอง จัดการจิตใจตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้สถานการณ์ภายนอกที่บีบคั้นให้จิตพะวักพะวน เช่น ต้องดิ้นรนรับผิดชอบชีวิตคนอื่นๆในครอบครัวด้วย สังคมจึงจำเป็นต้องสร้างระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานควบคู่กัน

เกษตรกรที่มุ่งขายสู่ระบบตลาด    นอกจากจะเผชิญความเสี่ยงด้านดินฟ้าอากาศแล้วยังเผชิญความเสี่ยงด้านตลาดซ้ำเข้าอีก     เกษตรกรจึงมีความเสี่ยงและความเปราะบางมากกว่าคนอื่นๆ 

ความเปราะบาง**เป็นสภาพการณ์ที่บุคคลไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น   เนื่องจากไม่ได้เตรียมการจัดการกับความเสี่ยงไว้อย่างเพียงพอ 

อาจารย์อัมมารบอกว่า แนวคิดการจัดการความเสี่ยงให้ภาพที่เป็นพลวัตมากกว่าความยากจน 

Unni and Rani (2002) บอกว่า แนวคิดการจัดการความเสี่ยงทำให้สามารถเชื่อมโยงกับแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ได้ชัดเจนขึ้น 

การทำให้คนจนมีความเสี่ยงน้อยลง  นอกจากแก้ที่ต้นเรื่อง (ซึ่งแก้ยากเพราะควบคุมยาก)แล้ว   มาตรการสำคัญคือ  การคุ้มครอง (protection)  และ  การเสริมสร้างสนับสนุน (promotion)  (ซึ่ง พรบ.สส.การจัดสวัสดิการสังคม ๒๕๕๐ ก็พูดถึงประเด็นเหล่านี้) 

การคุ้มครอง**  เพื่อ ไม่ให้มาตรฐานการดำรงชีวิตต้องลดลง เมื่อประสบเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์ และเพื่อลดผลเสียหายจากความเสี่ยง    เครื่องมือหนึ่งที่ใช้คือ  การประกัน   เช่น ประกันการว่างงาน  ประกันอุบัติเหตุ    และการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากความเสี่ยง   ในกลุ่มองค์กรชุมชนก็จะเห็นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล  ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล 

การเสริมสร้างสนับสนุน**  เป็นการช่วย ยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต   ช่วยให้สามารถลดความเปราะบาง  จึงเกี่ยวข้องกับการเพิ่มศักยภาพของคน   ในกลุ่มองค์กรชุมชนก็จะเห็นการสนับสนุนทุนการศึกษาในระบบ  และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้  

การจัดการความเสี่ยงในมุมมองของความมั่นคงของมนุษย์**จำแนกเป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน (รายได้ อาหาร สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย) และความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ (การมีงานทำที่เหมาะสม  ตามมาตรฐานแรงงาน) 

โดยนิยามข้างต้น   งานสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมตาม พรบ. ๒๕๕๐ ซึ่งรวมบทบาทของทุกภาคส่วน  รวมทั้งชุมชน...(คารวะครูชบอย่างสูงมา ณ ที่นี้  ที่ทำให้ พรบ.มีความสมบูรณ์เพราะเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง)  ดูจะมุ่งเน้นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน  ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  และสอดคล้องกับการกระจายอำนาจ 

หากหน่วยงานภาครัฐได้บูรณาการเป้าหมาย คือ ต่างตระหนักถึงบทบาทของสวัสดิการสังคมทั้งสามประการข้างต้น และใช้ชาวบ้านเป็นตัวตั้ง  ก็น่าจะลดความรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน เจ้าของงาน และพร้อมจะหนุนเสริมศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น (กลุ่มองค์กรชาวบ้าน อบต. และเอกชนในพื้นที่) ในการเป็นผู้บริหารจัดการระบบสวัสดิการสังคมที่สอดคล้องกับพื้นที่  หากทุกฝ่ายใช้ชาวบ้านเป็นตัวตั้ง  การบูรณาการงาน บูรณาการเงิน บูรณาการคน ก็คงจะง่ายขึ้น 

โดยส่วนตัวเห็นว่า  หลักศาสนาเป็นทั้งส่วนที่คุ้มครอง และสนับสนุน   การมองปัญหาที่ประสบอย่างมีสติ  การสร้างความมั่นคงทางจิตใจเมื่อประสบปัญหา   การมีศีลธรรมที่ลดปัญหาการใช้ชีวิตอย่างสุ่มเสี่ยง   การมีปัญญาที่ช่วยให้จัดการความเสี่ยงความเปราะบางได้อย่างรู้เท่าทันตามหลักอริยสัจสี่  

การจัดการกับตนเอง จัดการจิตใจตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่ายภายใต้สถานการณ์ภายนอกที่บีบคั้นให้จิตพะวักพะวน  เช่น  ต้องดิ้นรนรับผิดชอบชีวิตคนอื่นๆในครอบครัวด้วย    สังคมจึงจำเป็นต้องสร้างระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานควบคู่กัน

อาจคิดได้ว่าสถาบันต่างๆที่เกิดขึ้นหลากหลายในชุมชนเพื่อจัดการกับความเสี่ยงหลายมิติในชนบท  เช่น ระบบอุปถัมภ์  ระบบการแบ่งผลผลิตแทนจ่ายค่าเช่า ที่สมัยใหม่ขึ้นมาหน่อยก็ได้แก่ ระบบสหกรณ์  ระบบเครือข่าย  ระบบสวัสดิการชุมชน

_____________________

หมายเหตุ   ** นิยามที่เรียบเรียงมาจาก   นฤมล นิราทร (๒๕๕๐)   แรงงานนอกระบบและนัยต่อรัฐสวัสดิการ  การสัมมนาวิชาการประจำปี ๒๕๕๐ จะแก้ปัญหาความยากจนกันอย่างไร: แข่งขัน แจกจ่าย หรือ สวัสดิการ  จัดโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  ๑๐-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ชลบุรี
หมายเลขบันทึก: 165680เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 08:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท