จาก อ.ไก่ : เสรี นนทสูตร


Tuesday, January 29, 2008 
1. น่าจะต้องจัดทำบัญชีกฎหมายที่เกี่ยวข้องแยกไว้ต่างหาก ทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายภายใน และกฎหมายของต่างประเทศที่จะกล่าวถึง (หรือเปรียบเทียบถ้าจะดำเนินการอย่างนั้น)
2. ในทางระหว่างประเทศ ถ้าจะวิเคราะห์สิทธิในด้านสาธารณสุขและการได้รับการรักษา ไม่ควรกล่าวถึงเฉพาะ UDHR เท่านั้น ควรวิเคราะห์กฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย อย่าลืมว่า ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาหลายฉบับที่มุ่งคุ้มครองสิทธิประเภทต่างๆ (civil and political rights, economic and social rights) และบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น เด็ก สตรี ผู้อพยพ นักโทษสงคราม และควรวิเคราะห์ด้วยว่าในบริบทคนไร้รัฐ (ที่ยังอาจแบ่งออกได้เป็นกลุ่มคนหลายประเภท) นั้น มีกลไกในทางระหว่างประเทศใดที่รับรองสิทธิ และกำหนดกลไลให้ความคุ้มครองไว้อย่างไร และมีตัวอย่างในทางระหว่างประเทศหรือไม่
3. ในเรื่องกฎหมายภายใน ทำไมไปกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ทั้งที่ได้กล่าวอ้างในตอนต้นเองว่า "สิทธิ" ในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
              ปัญหาพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ว่า ตามระบบรัฐธรรมนูญของไทย ไม่ถือว่า ผู้ไร้รัฐ (รวมถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทย) เป็นผู้มีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ หรือมีศักด์ศรีความเป็นมนุษย์ (ซึ่งรัฐไทยต้องเคารพ--แต่ต้องจัดหาอะไรให้หรือไม่?) 
              และถ้าจะสรุปว่า คนกลุ่มนี้มีสิทธิดังว่าแล้ว รัฐไทยจะให้ความคุ้มครองหรือจัดระบบ
สิทธิดังกล่าวให้กับคนกลุ่มนี้แตกต่างไปจากประชาชน(ที่มีสัญชาติ)ไทย ได้หรือไม่
             กรุณาดูมาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๒๖ ถึง มาตรา ๒๘ และโดยเฉพาะมาตรา ๓๐ และวิเคราะห์ในงานวิจัยด้วยว่า ถ้ามีสิทธิจริงแล้ว เราจะรับรองสิทธิให้แตกต่างไปจากสิทธิของพลเมืองไทย ได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งกรอบการวิเคราะห์นี้จะเป็นประโยชน์มาก (ไม่แน่ใจว่ามีงานวิจัยโดยละเอียดในเรื่องนี้ที่จะใช้อ้างอิงได้โดยไม่ต้องมาดำเนินการเองหรือไม่ แต่ไม่เห็นมีการอ้างอิงงานวิจัยใดๆ ในเอกสาร เลยอนุมานว่ายังไม่น่าจะมี)
4. ปัญหาข้อ 2 และ 3 ข้างต้น เป็นปัญหาในเชิงหลักการที่มีประเด็นเช่นเดียวกับที่อ้างว่า เจ้าหน้าที่ของไทยตีความคำว่าบุคคล ในพระราชบัญญัติฯ ว่าไม่รวมถึงคนไร้รัฐนั่นเอง แต่ย่อมมีความสำคัญกว่ามาก เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ
5. ในเชิงนโยบาย ควรระบุปัญหาข้อเท็จจริงให้เด่นชัด ซึ่งต้องเป็นปัญหาเฉพาะที่เกิดกับคนไร้รัฐจริงๆ ถ้าปัญหาใดเป็นอุปสรรคที่ทุกคนต้องประสบเช่นเดียวกัน อาทิ การไม่ได้รับบริการอย่างทั่วถึง บริการไม่ได้มาตรฐาน ฯลฯ น่าจะเป็นปัญหาของโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่จะต้องแก้ไขทั้งระบบ (ซึ่งจะกล่าวถึงก็ย่อมกระทำได้ แต่ต้องระบุให้ชัดว่าเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง และมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร)
6. ผู้วิจัยน่าจะลองตั้งสมมติฐานจากหลายมุม ไม่เฉพาะจากมุมมองคนไร้รัฐ (ซึ่งแน่นอนย่อมต้องการได้รับความคุ้มครอง) แต่ของมุมมองฝ่ายรัฐและเอกชน ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เช่น ผู้จัดทำและจัดสรรงบประมาณ ผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุข ผู้ให้การรักษา (รัฐและเอกชน) และประเด็น policy consideration อื่นๆ ที่พึงมี
7. การวิจัยในระยะเวลาที่จำกัดแบบนี้ จะทำเป็น positive study ก่อนได้หรือไม่ โดยเป็นการค้นคว้าและประมวลสภาพปัญหา (โครงสร้างกฎหมาย การบังคับใช้ ความเข้าใจและทัศนคติของผู้เกี่ยวข้อง) เพราะที่ทำมามีลักษณะเป็น normative study ที่จะเสนอแนะด้วย ซึ่งถ้าวิเคราะห์ปัญหาไม่สมบูรณ์อาจทำให้ข้อเสนอแก้ปัญหาไม่ถูกจุด หรืออีกทางหนึ่ง อาจจะเสนอเป็น normative study ที่เสนอทางออกของปัญหาเฉพาะด้าน (ไม่ใช่แก้ทั้งระบบ) ก็น่าจะอยู่ในวิสัย และกรอบเวลาที่เสนอมา
คิดว่าถ้าลองไปวิเคราะห์ตามประเด็นข้างต้น รายงานวิจัยที่จะออกมาจะสมบูรณ์และเป็นประโยชน์อย่างมาก ถ้าอยากจะให้อ่านอีกรอบหลังจากที่ได้ไปพิจารณาประเด็นเหล่านี้แล้วก็ยินดี
หมายเลขบันทึก: 165576เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท