มาตรการการป้องกันอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาล


การรักษาพยาบาล

มาตรการการป้องกันอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาล

 อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่น่าสนใจที่จะนำเสนอ

นางสาวโยชิโกะ นิอิโนะ ผู้จัดการอาวุโสแผนกธุรการ สำนักงานนโยบายสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ได้บรรยายสรุปให้ผู้เขียนได้รับทราบดังนี้

 

การกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางการรักษายาบาล รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่เข้าทำการรักษาพยาบาลตามสถานพยาบาลต่างๆ ที่มีเตียงรับคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาล ทำให้ได้รับอันตรายทางร่างกายไปจนถึงต้องสูญเสียชีวิต เช่น ได้รับยารักษาที่ผิดพลาด การได้รับการผ่าตัดที่ผิดพลาด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะความไม่เข้มงวดในรายละเอียดของการดูแลคนไข้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณะสุขฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้กำหนดนโยบายนี้ขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาล และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างสถานพยาบาล แพทย์ผู้รักษา คนไข้และครอบครัวคนไข้ โดยดำเนินการดังนี้

 

๑. จัดทำระบบเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้นซ้ำอีก

 

จัดระบบรวบรวมข้อมูล ปัญหาที่เกิดจากสถานพยาบาลต่างๆ กระตุ้นการใช้ประโยชน์ของข้อมูลเป็นกรณีศึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกัน โดยใช้หน่วยงานอิสระเป็นผู้ดำเนินการรวบรวม กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยในสถานพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อให้ดำเนินการในการรองรับมาตรการที่กระทรวงฯกำหนด กำหนดมาตรการจำเป็นให้สถานพยาบาลต่างๆ ปฏิบัติ ได้แก่ มาตรการความปลอดภัยในสถานพยาบาล มาตรการปรับปรุงความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ มาตรการอบรมให้ความรู้และทดสอบ มาตรการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางการรักษาพยาบาล

 

๒. จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยทางการรักษาพยาบาล

 

จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัยทางการรักษาพยาบาลตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย พร้อมกับเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษา และวิเคราะห์ นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดให้มีการประชุมเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางการรักษาพยาบาล โดยกรรมการจะเลือกจากผู้ใช้บริการการรักษาพยาบาล ตัวแทนกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ของพื้นที่นั้น และผู้ทรงคุณวุฒิ

 

๓. ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลและฝึกอบรม

 

ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เข้าใจถึงมาตรการต่างๆ ในการป้องกันอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาล

 

๔. ดำเนินการติดตามสำรวจและวิจัย

 ทั้งนี้ เพื่อติดตามสภาพปัญหาการเกิดอุบัติเหตุเพื่อหาแนวทางป้องกันในอนาคต 

ข้อคิดเห็นของผู้เขียน

๑. จากลักษณะการเกิดอุบัติเหตุทางการแพทย์มี ๒ ปัจจัยหลักที่ควรพิจารณา คือ การขาดความเข้มงวดในเรื่องขั้นตอนรายละเอียดในการดุแลคนไข้และความบกพร่องของสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาล ได้แก่ เครื่องมือทางการแพทย์และความบกพร่องด้านประสิทธิภาพของบุคคลากร  ดังนั้น การกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นภายในองค์กรนับว่าเป็นประโยชน์ในการสร้างความตระหนักของแพทย์และพยาบาล และความเข้มงวดของการให้บริการแก่คนไข้ในฐานะผู้รับบริการยิ่งขึ้น

 

๒. การกำหนดมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาลมีความจำเป็นจะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้องจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากสถานพยาบาล ความบกพร่องดังกล่าวซึ่งอาจเกิดจากแพทย์ผู้รักษาก็ดี พยาบาลก็ดี หรือความประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการก็ดี ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับบริการ ในฐานะผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นย่อมมิใช่เรื่องง่ายหรือเป็นไปได้ในทางปฏิบัติสำหรับสังคมหรือประเทศบางประเทศหรือหลายประเทศ  ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลความผิดพลาดดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลภายในองค์กรซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการที่จะต้องรับผิดทางแพ่งกรณีเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เกี่ยวข้อง

 

๓. อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการดังกล่าวนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการจัดเก็บข้อมูล และข้อมูลดังกล่าวต้องได้รับการจัดการที่ดีด้วย

 

๔. ข้อมูลจากคำร้องเรียนของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าจะเกิดจากความเชื่อของผู้บริโภคเองว่าอุบัติเหตุทางการรักษาพยาบาลนั้นมิได้เกิดจากตนเป็นสาเหตุ แต่หากมีกรณีที่คล้ายคลึงกันเป็นจำนวนที่มากในเชิงสถิติ ก็จะเป็นตัวชี้หรือเป็นข้อสังเกตให้แก่สถานพยาบาลแก้ไขปัญหาได้

 

๕. การดำเนินการดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคทุกหน่วยงาน

 ๖. มาตรฐานการให้การบริการทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนประกอบกับจรรยาบรรณในทางวิชาชีพเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินกิจกรรม
หมายเลขบันทึก: 165166เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2008 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท