• เรื่องเล่าคือ “สำเภาบรรทุกความรู้บูรณาการ” หรือ
“นาวาความรู้ปฏิบัติ”
• ความรู้ปฏิบัติไม่ใช่ความรู้แยกส่วนอย่างที่เราคุ้นเคย
แต่เป็นความรู้ที่ผสมปนเปกันแบบต้มยำ
หรือขนมเปียกปูน
การนำเสนอความรู้แบบแยกสรุปเป็นข้อๆ จึงไม่ได้ความรู้เพื่อการปฏิบัติ
หรือเพื่อการประยุกต์ใช้
• เรื่องเล่า หรือการเล่าเรื่อง จึงเป็น “สิ่งประดิษฐ์”
ที่มนุษย์คิดขึ้น
สำหรับสื่อสารความรู้ปฏิบัติ
• ในยุคไอที เราสามารถเล่าเรื่องได้อย่างมีสีสัน และใช้เวลาสั้น
โดยใช้รูปภาพ ไดอะแกรม PowerPoint ฯลฯ
ประกอบ
“รูปภาพหนึ่งภาพสื่อแทนคำพูดได้พันคำ”
• ใน KM เรื่องเล่าต้องเป็นเรื่องจริง
ไม่ใช่นิทาน
ไม่ใช่เรื่องที่ผูกขึ้นเพื่อโอ้อวด ไม่มีการ “ตีไข่ใส่สี”
จนเกินจริง
• คนที่เล่าเรื่องแบบถ่อมตัว / จริงใจ
ไม่ใช้โวหารเกินงาม
ไม่นำเสนอแบบจูงใจ
จะได้ผลมากกว่า สร้างพลังการ ลปรร.
ได้มากกว่า
• การเล่าผลที่เกิดขึ้น
และวิธีปฏิบัติ/เหตุการณ์ที่นำไปสู่ผลนั้น
เป็นหัวใจของเรื่องเล่า
ไม่ใช่การตีความเหตุการณ์และผลที่เกิด
การตีความไม่ใช่หน้าที่ของผู้เล่าเรื่อง
ควรเป็นหน้าที่ของผู้ร่วมฟัง ที่จะผลัดกันตีความ
เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย
• เรื่องเล่าที่ดีต้องมีรายละเอียด
ไม่ข้ามขั้นตอน ต้องบอกความรู้สึกของผู้เล่า
ถ้อยคำ/ท่าทาง ของตัวละคร บรรยากาศของเหตุการณ์
อย่างละเอียด
ในเรื่องราวเหล่านั้นมีความรู้ปฏิบัติสู่ความสำเร็จ
• เทคนิคการเล่าเรื่องที่ดีวิธีหนึ่ง คือ
“เล่าแบบย้อนศร”
เล่าความสำเร็จแล้วจึงบอกว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
เป็นการเล่าเรื่องแบบ KM
มีข้อดีคือทำให้ใช้เวลาน้อย
• เทคนิคการเล่าเรื่องอีกวิธีหนึ่งคือเล่าแบบเรื่องสั้นที่มีการหักมุมตอนจบ
เล่าจากต้นไปหาปลาย มีข้อดีคือเร้าใจ
กระตุ้นความอยากรู้ แต่อาจใช้เวลามาก
• ในเรื่องเล่ามี “ข้อมูลดิบ”
เมื่อผ่านการตีความ ก็จะได้ความรู้ปฏิบัติ
• เรื่องเล่าไม่ใช่แค่ให้ความรู้
แต่ยังให้ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา
ให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคน
ให้ความเคารพเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน
ให้ความภาคภูมิใจ
ให้ความเชื่อมั่นในตนเอง/ในกลุ่มหรือทีมงาน
• พลังของเรื่องเล่าไม่ได้อยู่เฉพาะด้านผู้เล่าเพียงฝ่ายเดียว
แต่อยู่ที่ฝ่ายผู้ฟังที่ฟังอย่างตั้งใจ/อย่างลึก/อย่างชื่นชม
พลังอยู่ที่ฝ่ายเล่าครึ่งหนึ่ง อยู่ที่ฝ่ายฟังครึ่งหนึ่ง
• ฝ่ายฟังที่ดี จะส่งกระแสคลื่นไปกระตุ้นผู้เล่า
ให้เล่าออกมาได้ลึก ได้ใสกระจ่าง ได้อารมณ์
มากกว่าที่จะทำได้ด้วยตนเอง
กระแสคลื่นนั้นส่งและรับทางจักษุประสาท (แววตา สีหน้า ท่าทาง),
ทางโสตประสาท (เสียงแห่งความเงียบ เสียงหัวเราะ
คำถามที่ถามอย่างชื่นชม – appreciative inquiry),
และทางวิญญาณประสาท (อารมณ์)
• ควรบันทึกเรื่องเล่าไว้ในหลากหลายรูปแบบ
เช่นวิดีโอ บันทึกเสียง และภาพนิ่ง
บันทึกเรื่องราวเป็นตัวอักษร บันทึก “ขุมความรู้”
จากเรื่องเล่า
ต้องไม่ลืมบันทึกชื่อและสถานที่ติดต่อผู้เล่า
ที่จริงเรื่องเล่านั้นเป็นผลผลิตของทั้งผู้เล่าและผู้ฟัง
วิจารณ์ พานิช
๑๙ กพ. ๔๙