ทิศทางอนาคตของประเทศไทย


Thailand, Futrue Thailand,

ถ้าถามคนไทยในภาวะปัจจุบันคิดอย่างไรกับการที่จะมีรัฐบาลใหม่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค.50
  ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนจะตอบเหมือนกันว่า  เราทำตามกระบวนการประชาธิปไตยที่นานาชาติยอมรับ  ส่วนผลได้ต่อความเจริญและพัฒนาประเทศที่จะมาจากรัฐบาลเลือกตั้งนั้นไม่สามารถเพิ่มองศาหรือบ่งชี้ถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหรือประเทศได้
  ผู้เขียนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายกับสถาบันพระปกเกล้าหลายครั้งในช่วงประมาณไม่น้อยกว่า 5 ปีมานี้  สิ่งที่คิดถึงประเทศไทยและส่งต่อความคิดไปยังผู้เข้ารับการอบรมโดยเฉพาะเรื่อง “ทิศทางอนาคตของประเทศไทย” ควรที่จะได้พิจารณาในพาราไดม์ต่อไปนี้


สิ่งแรก ที่สำคัญในทิศทางอนาคตของประเทศไทย คือ
  - Thai Thai Culture หรือวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซึ่งเราไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า  อะไรคือวัฒนธรรมไทยหรือวัฒนธรรมไทยอะไรที่จะต้องสร้างเพื่อให้เกิดความรักชาติหรือมีความเป็นชาตินิยมที่จะทำและสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
  แต่วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ไม่ส่งเสริมและพัฒนาประเทศคือ  วัฒนธรรมไทยพื้นฐานที่ หยั่งลึกถึงสำนึกบุญคุณของคนที่ให้สิ่งของและสินจ้างรางวัลโดยไม่สนใจว่าสิ่งของและสินจ้างรางวัลนั้นผู้ที่ให้จะได้มาอย่างไร ผิดชอบชั่วดีหรือไม่


ความเข้าใจผิดที่คิดว่า  เมื่อใครมาอยู่บนฝืนแผ่นดินไทยแล้วจะมีความเป็นไทยทุกคน  ซึ่งสิ่งนี้ไม่จริงแล้วในปัจจุบัน
  เราจะพบว่าใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหาด้านเชื้อชาติและศาสนา  ความเป็นไทยไม่สามารถจะทำให้คนหัวรุนแรง เยาวชนรุ่นใหม่ที่ถูกปลูกฝังในทิศทางที่ผิดเกี่ยวกับประเทศไทย  ขาดการดูแลด้านการศึกษาจากส่วนกลาง  สะท้อนได้ชัดถึงความจริงข้อนี้
  ถ้าไปดูที่เกาะสมุยทุกวันนี้แทบจะเป็นวัฒนธรรมตะวันตกจนคนไทยที่ไปเที่ยวจะรู้สึกว่ากำลังอยู่ต่างประเทศ
  เราต้องสร้างวัฒนธรรมไทยที่จะเข้าต่อต้านให้ได้
  วัฒนธรรมไทยนั้นต้องเป็น “Global-mindset” ถึงจะต่อต้านทานกระแสวัฒน-ธรรมตะวันตกและอื่นๆ ไม่ว่าจีน อินเดีย ญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่จะกำลังใช้แนวคิด “Creolization” ที่หมายถึงการกลืนกินชาติอื่นด้วยวัฒนธรรมของชาติผู้รุกราน
  สิ่งสำคัญ  อย่างที่สอง Learning to Fly
  ประเทศไทยเราขาดความรู้ Lack of Knowledge (K)
  การพัฒนาประเทศไทยไม่ต่ำกว่าร้อยปีนับตั้งแต่การมีระบบการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน  คงต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาของเราหลงในวังวนเป็นดังที่ท่านพุทธทาสพูดไว้ว่า  “เสมือนสุนัขวิ่งไล่งับหางมันเอง”
  การปฏิรูปการศึกษาของเราชี้ชัดว่า
- ระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้สร้างให้คนคิดได้เอง (Self-Thinking)  สิ่งที่สะท้อนชัดที่สุดจากหลายๆ จังหวัดของประเทศไทย  เราเลือกคนที่จะมาเป็นตัวแทนเรา  จากคนที่ให้สิ่งของหรือสินจ้างรางวัลโดยไม่ได้คิดอะไรเลยนอกจาก “สำนึกในบุญคุณ”
- ระบบการศึกษาตกอยู่กับ “กลุ่มคนที่กำหนดนโยบาย” หรือ Policy Maker ที่คิดแบบตะวันตก บวกกับการปกป้องสถานภาพทางการศึกษาของตน เช่น ไม่อยากให้มีใครขึ้นมามีวุฒิเท่ากับตนเอง  มีตำแหน่งทางวิชาการเหมือนตนเองจึงกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเข้าสู่สถานภาพทางการศึกษาที่เป็นได้เฉพาะกลุ่มของตนเองหรือดูเหมือนเปิดกว้างแต่ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากยิ่ง
- ระบบการศึกษาที่ติดอยู่กับการตรวจสอบทางเอกสาร  จะมีการกำหนดตัวชี้วัด การทำรายงาน การจัดทำเอกสาร ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ช่วยให้การศึกษาของชาติพัฒนา  แต่กลายเป็นการศึกษาด้วยระบบเอกสารและการตรวจสอบ
การศึกษาในทิศทางใหม่จะต้องสอนให้บินได้ด้วยตัวเอง-Learning to Fly
การศึกษาจะต้องมีอิสระที่จะเรียนรู้  จะต้องไม่มีการปิดกั้นของการเกิดระบบและการพัฒนาการศึกษา  ที่สำคัญมากที่สุดคือ  จะต้องสร้างองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ที่เป็นของเราขึ้นมาเอง  เรียนรู้จากตะวันตกและชาติที่เก่งกว่า  แต่สุดท้ายจะต้องสร้างเองได้  ตราบใดที่การศึกษาของเราเป็นการศึกษาและเรียนรู้ที่จะต้องสำนึกในบุญคุณจากสิ่งของและสินจ้างรางวัลประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้
สุดท้าย Differentiate การที่เราอยู่บนกรอบความคิดของ Determination คือ รัฐบาลหรือนายทุนพรรคการเมือง เถ้าแก่นอกบ้าน เป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ
คนไทยเราต้องไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในชั่วลัดนิ้วมือหรอกครับ!
นักธุรกิจและคนไทยเราจะต้องคิดและทำธุรกิจแตกต่างไปจากเดิม  เชื่อในกำลังและศักยภาพของธุรกิจที่จะแข่งขันได้แม้จะยากลำบากก็ต้องทำ  เพราะหากให้ใครมากำหนดความเป็นตายของธุรกิจเราจะต้องเสียค่าโสหุ้ยและสิ่งตอบแทนที่ไม่อาจตีมูลค่าได้  ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วในทศวรรษนี้
ผู้เขียนเชื่อใน 3 สิ่งนี้ว่าสำคัญมากต่อทิศทางอนาคตของประเทศไทย  ถ้าไม่ทำหรือไม่แก้ไขเราจะไม่มีโอกาสที่จะลงสู่ลู่การแข่งขันในเวทีโลกได้ครับ

คำสำคัญ (Tags): #futrue thailand#thailand#thailand model
หมายเลขบันทึก: 164644เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2008 17:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท