คุณแม่จุดประกายเขียนหนังสือเล่มสอง


ผมเขียนหนังสือเล่มสองเสร็จแล้วครับ...ชื่อ "กว่าจะมาเป็นดอกเตอร์กิจกรรมบำบัด" ...รอติดตามดูพร้อมเล่มแรก "กิจกรรมบำบัดพัฒนาชีวิต"
คำนำจากคุณแม่  จะเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ คุณพ่อไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไรนัก คงจะเป็นเรื่องธรรมดาของครอบครัวไทยที่ส่วนมากจะยกย่องคุณแม่ให้เป็น ผ.บ.ท.บ. ประจำครอบครัว  ด้วยเหตุนี้จะเห็นแต่คุณแม่แสดงเพียงผู้เดียว  คุณพ่อจะเป็นผู้ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาคำแนะนำในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องและชอบธรรม (คุณพ่อเป็นนักกฎหมาย)                วันหนึ่งลูกมาปรารภว่า อยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมบำบัดกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้ คำว่า กิจกรรมบำบัด คืออะไร เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ กายภาพบำบัด คุณแม่เห็นด้วยโดยพาไปรู้จักกับเพื่อนคุณแม่ที่มีสำนักพิมพ์  เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการจัดพิมพ์และจำหน่าย จากนั้นลูกจึงได้รวบรวมเล่มส่งสำนักพิมพ์ หลังจากสำนักพิมพ์ส่งเล่มมาให้ตรวจปรู๊ฟ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ได้ช่วยกันตรวจต้นฉบับให้ลูก ขณะที่ตรวจนั้น แม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้ ควรจะเหมาะสำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มนักศึกษาหรือผู้ปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องทางวิชากิจกรรมบำบัดโดยตรง เพราะบางบทจะเน้นสาระทางวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นที่เบื่อหน่ายสำหรับคนบางกลุ่ม  แม่เองกลับคิดถึงกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ว่าจะสื่ออย่างไรให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆ ให้รู้จักคิดเป็นระบบสามารถกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเอง และได้รับรู้ถึงการใช้ชีวิตอย่างไรให้ประสพผลสำเร็จ  เพียงน้อยนิดก็ยังดี คุณแม่พยายามย้อนกลับไปคิดถึงการดำเนินชีวิตของครอบครัวเราโดยเฉพาะการเลี้ยงดูปลูกฝังลูกตั้งแต่เกิดจนสำเร็จการศึกษา โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ที่จะให้บุคคลทั่วไปและเยาวชนได้รับรู้  คำว่า กิจกรรมบำบัด และบทบาทของกิจกรรมบำบัดที่ผสมผสานกับการใช้ชีวิตประจำวัน ได้อย่างไรหนังสือที่อยู่ในมือท่านเล่มนี้จึงเกิดขึ้น คุณแม่ไม่ต้องการโอ้อวดลูกโดยให้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา  แม่เองยังคิดว่าเป็นเพียงความสำเร็จเบื้องต้นของลูกเท่านั้น  แต่การใช้ชีวิตของลูกตั้งแต่เริ่มสู่วัยอุดมศึกษา เกร็ดเล็กๆน้อยๆของชีวิตครอบครัว ควรถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับรู้เป็นแบบอย่างแม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยังดี (เหตุที่ตัดตอนเฉพาะส่วนของวัยอุดมศึกษาเห็นว่าช่วงของวัยนี้เป็นวัยของการเลือกทางเดินของชีวิต) วันที่คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจเป็นที่สุดคือวันที่ได้ไปร่วมรับปริญญาเอกของลูกที่ Perth Convention Hall  Western Australia  เมื่อวันที่ 26   กันยายน 2550 โดยเฉพาะวันที่ School of Occupational Therapy ใน Curtin University of Technology   ได้จัดเลี้ยงฉลองเป็นการส่วนตัวให้ลูก  คุณพ่อคุณแม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย พ่อแม่ประทับใจมากในความเป็นกันเองของเพื่อนๆและอาจารย์ของลูก โดยเฉพาะ Professor Tanya Packer  กล่าวแสดงความยินดีชมเชยลูกเสมือนเธอเป็นทั้งแม่และอาจารย์ของลูกที่เดียว โดยเฉพาะคำที่เธอพูดว่า ป๊อป ตอนนี้คุณจบปริญญาสูงสุดทางการศึกษาแล้ว แต่ปริญญาชีวิตคุณยังไม่จบ คุณต้องสู้ต่อไป ประโยคเดียวที่ได้ความรู้สึกที่กินใจและซาบซึ้งมาก   เธอเป็นถึง Professor  ยังให้ความรักความเป็นกันเองกับลูกศิษย์ถึงขนาดนี้ นี่แหละความเป็นผู้ให้ในความเป็นครูที่แท้จริง  หลังจากงานเลี้ยงจบลง แม่ได้กล่าวขอบคุณทุกท่านด้วยความตื้นตันและซึ้งใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ในขณะที่กล่าวขอบคุณ เพราะไม่คิดเลยว่าทุกคนจะให้เกียรติให้ความรักความผูกพันกับลูกถึงขนาดนี้ ทั้งๆที่เป็นต่างประเทศ (เพราะบางประเทศถือว่าจบแล้วก็แล้วไป)          จะเห็นว่า บางบทที่ลูกเขียนคุณแม่จะมีส่วนแทบทุกเรื่อง ไม่ใช่ว่าคุณแม่จะเลี้ยงลูกแบบคุณหนู พ่อแม่ทุกคนต้องการเห็นความเจริญก้าวหน้าของลูก จึงพยายามปลูกฝังในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับลูกทั้งปัจจุบันและอนาคต จะได้รับคำถามอยู่เสมอว่า เลี้ยงลูกอย่างไรถึงได้เป็นแบบนี้  เราจะตอบทันทีว่า ไม่ยากเลย  ให้คิดว่า ครอบครัวเราเป็นโรงเรียนแห่งแรกของลูก  เราจึงเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวก่อน โดยเฉพาะความรักความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว  โดยเฉพาะเมื่อลูกเป็นวัยรุ่น เราจะสอนอย่างไรให้รักโรงเรียนแห่งนี้ (ครอบครัว) ไม่เบื่อโรงเรียน หนีเรียน หรือ หนีไปหาเพื่อนข้างนอก  หรือถ้าจะให้เพื่อนมาเที่ยวโรงเรียนนี้เราก็อนุญาต ในกรณีที่เขาต้องการพักออกข้างนอกบ้างเราก็ไม่ว่าแต่เราก็ให้คำตักเตือนหรือดูอยู่ห่างๆ  เราจะให้ความรักความอบอุ่น ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ห้า ชี้แนะแนวทางให้ลูกเดินโดยไม่ได้บังคับ        นอกจากนี้ เราจะฝึกให้ลูกมีวิสัยทัศน์โดยทางอ้อม เช่นเมื่อแม่ไปปฏิบัติงานต่างประเทศ หรือติดต่อกับเพื่อนที่คิดว่าจะให้ลูกเข้าไปร่วมได้ ก็จะพยายามชวนลูกไปด้วยเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ดูแบบอย่างพร้อมศึกษาไปด้วย เปรียบเสมือนการศึกษานอกหลักสูตร จะไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันใดให้การสอนในเรื่องนี้ได้   สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าการติดต่อจะระดับสูงหรือต่ำ ลูกก็เห็นแบบอย่างจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว คิดว่าดีที่สุด ลูกคงใช้ชีวิตในการเลือกเดินทางสายกลาง ตามคำสอนของพระพุทธองค์  หวังว่าข้อคิดจากหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านและเยาวชนของชาติ ได้รับรู้และเป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิต แม้จะได้ประโยชน์จากเกร็ดเล็กๆน้อยๆของเรื่องก็ยังดี 
หมายเลขบันทึก: 164570เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2008 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท