นพ.สุรพงษ์ขอเวลา 6 เดือน ความเชื่อมั่นฟื้น ยันไม่แทรกแซงคดีภาษี ทักษิณ


กระทรวงการคลัง

นพ.สุรพงษ์ขอเวลา 6 เดือนพิสูจน์ผลงาน มั่นใจบริหารกระทรวงการคลังได้ พร้อมปฏิเสธปลดผู้ว่า ธปท.และไม่เข้าแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบภาษี ทักษิณ

กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการบริหารงาน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าทั้งจากในและนอกประเทศ ขณะที่มีกระแสข่าวเกาเหลากับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงความไม่ชัดเจนฐานะ "หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ" ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี  นอกจากนั้น นายแพทย์สุรพงษ์ยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงประสบการณ์ และความสามารถในการบริหารด้านการเงิน การคลัง ทำให้นักธุรกิจ ภาคเอกชนส่วนหนึ่งขาดความเชื่อมั่น และห่วงว่าภาพการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอาจจะคลุมเครือได้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มีคำตอบในบทสัมภาษณ์พิเศษ
 
มีข่าวเกาเหลาในทีมเศรษฐกิจ จะทำงานกันอย่างไร เป็นเพียงแค่ขาว ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะในโลกยุคใหม่ไม่เหมือนโลกยุคเก่าที่มีเถ้าแก่ มีหลงจู๊ที่ดูแลทุกอย่าง แต่โลกปัจจุบัน แค่หลงจู๊คนเดียวทำไม่ทัน ทั้งเรื่องคุณภาพและแง่ของเวลา ผมเชื่อว่า องค์กรเอกชนก็ต้องมีซีอีโอ (Chief Executive Officer: CEO)  ซีเอฟโอ (Chief Financial Officer: CFO) และซีเอ็มโอ (Chief Marketing Officer: CMO) สารพัด   เพราะงานหลากหลาย และลักษณะของการบริหารจัดการไม่ใช่เป็นแบบพีระมิด มันต้องเหมือนกับคางหมู แต่ละคนก็รับผิดชอบงานคลัสเตอร์ของตัวเอง ฉะนั้นการบริหารประเทศก็เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นพีระมิด มีหลงจู๊อยู่คนหนึ่ง และทำทุกเรื่อง เพราะกรอบของงานมีรายละเอียดมากมาย และการตัดสินใจมีเงื่อนไขของเวลา ถ้ารวมศูนย์มันจะยิ่งทำให้เสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน วันนี้ในแง่การบริหารรัฐบาล ยังไม่รู้ใครทำหน้าที่ส่วนไหน แต่นายกฯ สมัครจะอยู่ในฐานะซีอีโอ  นอกจากนั้น ยังแบ่งได้อีกสองส่วน คนแรกจะดูในแง่ Asset และงบประมาณ  ขณะที่อีกคนจะดูด้าน Marketing และการหารายได้ แค่สองสามส่วนนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มหาศาลมาก ถามว่าทำคนเดียวได้ไหม ก็ตอบว่าทำได้ แต่จะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ เราแข่งขันในเวทีโลกแล้ว โมเดลนี้ เป็นโมเดลสำหรับการบริหารจัดการทั้งของภาครัฐและเอกชน เพราะหลายเรื่อง ที่ผมทำกระทรวงสาธารณสุข ผมก็อยากให้มีซีเอฟโอของโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคอยนั่งดูงบประมาณของโรงพยาบาลเป็นอย่างไรวิเคราะห์เรื่องต้นทุน ประสิทธิภาพของการลงทุน หรือแม้แต่เรื่องของการคำนึงประสิทธิภาพเรื่องต้นทุน ก็ไม่มีใครทำ นี่ถึงเป็นสาเหตุที่เราหย่อนประสิทธิภาพในเรื่องของระบบการบริหารงานภาครัฐ มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญทางด้านการคลังของรัฐมนตรี ต้องมาตีความกันว่า ผู้เชี่ยวชาญการคลังตีความว่าอย่างไร ถ้าตีความโดยประวัติการศึกษา ผมก็เรียน Finance Accounting และ MBA ถ้านับพวกนี้ถือว่า ผมเรียน MBA มา และสอบคะแนน Finance ได้ดี มันไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ   ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร  ถามว่า เคยบริหารแบงก์หรือเปล่า อันนี้ไม่ใช่ ผมไม่เคยบริหาร ฉะนั้นก็อยู่ที่การตีความเรื่องการเงินการคลังว่าต้องรู้ขนาดไหน ถ้าบอกว่าเป็นคนที่เคยบริหารงานในองค์กร ในเรื่องของการเงินและบัญชี เศรษฐศาสตร์มหภาค ก็เป็นเรื่องที่ไม่ห่างไกลจากสิ่งที่เราเคยเข้าใจมัน แต่ว่าทั้งหมดผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่มีแบล็คกราวนด์อย่างไรมา หรือเคยบริหารแบงก์มาหรือไม่  สุดท้ายแล้ว ก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่องในด้านเศรษฐกิจมหภาค        ก็ต้องรับข้อมูลทั้งฝั่งที่ดูแลเรื่องการคลัง และดูแลเรื่องการเงินและต้องตัดสินใจ  ผมคุยกับภาคเอกชนสายการเงินสองสามคนก็คิดไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่าคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการเงินการคลังจะคิดเหมือนกันหมด ดังนั้น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การตัดสินใจ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักว่า จะเชื่อข้อมูล     ในส่วนไหน ว่าอันไหนเราเห็นพ้องหรือสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่มีคนบอกว่า "คนฉลาดจะเชื่อเพียงครึ่งหนึ่งของที่ได้ฟัง แต่คนที่ฉลาดกว่าจะรู้ว่าครึ่งไหนควรจะเชื่อ" ถามว่าจะเป็นที่ยอมรับไหม ก็ต้องตอบว่า เราต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไหม คือ ถ้าเอกชนบอกว่า ต้องเป็นคนที่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เคยเป็นนักการเงิน นักการธนาคาร แล้วถึงจะยอมรับ ตรงนั้น ผมว่ากระบวนทัศน์ต้องเปลี่ยน เพราะในโลกยุคใหม่ ผมเชื่อว่า เป็นเรื่องสหวิทยาการ ลองไปดูซิ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย จบวิศวะ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ จบเอ็มบีเอ คุณบัณฑูร ล่ำซำ จบวิทยาศาสตร์ ดังนั้นกระบวนทัศน์เหล่านี้ต้องเปลี่ยน  "ถ้าบอกว่า ไม่เคยจบเศรษฐศาสตร์มาจะบริหารด้านการเงินการคลังไม่ได้ มันไม่ใช่ เพราะหัวใจอยู่ที่การตัดสินใจ มีทีม และเปิดใจให้กว้าง รับฟังข้อมูลแบบไม่มีอคติ แล้วตัวคนที่ต้องตัดสินใจต้องทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ถ้าเป็นน้ำเต็มแก้วเมื่อไร แสดงว่ามีอคติ ซึ่งหลายกรณีในอดีตมีปัญหาเรื่องน้ำเต็มแก้วอยู่" จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ตัดสินใจแล้วและสอดคล้องกับความเป็นจริง ถูกต้อง อันนี้ ถือเป็นการวัดความสำเร็จของผู้บริหาร เพราะในอดีตที่ผ่านมา มีผู้บริหารที่มีความรู้ด้านการเงินการคลังแล้วก็ตัดสินใจผิด อันนี้แหล่ะ จะเป็นตัววัดความสำเร็จ อยู่ที่ว่าจะเลือกข้อมูลไหนและตัดสินใจ ซึ่งบางทีมันยาก เพราะข้อมูลทั้งสองฝ่ายน่าเชื่อทั้งคู่ ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ หนักใจกับตำแหน่งรมว.คลัง และเลือกตำแหน่งนี้เองหรือเปล่า ชีวิตนี้ ถ้าเลือกได้อยากอยู่บ้านเฉย ๆ ผมปลีกวิเวกมาสองครั้งแล้ว แต่ต้องกลับมาครั้งที่สาม ถือเป็น    ความรอบคอบ เมื่อเราอาสามาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุด คงไม่ใช่เลือกเองหรือไม่เลือกเอง แต่เมื่อประชุมร่วมกันกับผู้นำของพรรคและลงความเห็นว่า เราทำงานเป็นทีม จะต้องขับเคลื่อนนโยบายที่เสนอไว้กับประชาชน เมื่อรับตำแหน่งจะประกาศทีมเศรษฐกิจเลยไหม ผมคิดว่า ความเชื่อมั่นไม่ได้เกิดจากทีม อย่างที่บอก กระบวนทัศน์ต้องเปลี่ยนนะ ถ้าบอกว่า ประกาศทีมแล้วจะเชื่อมั่น ไม่ใช่ ต้องประกาศแผนงานที่จะทำ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องกว่า จะสังเกตสมัยท่านทักษิณ เศรษฐกิจเริ่มประสบปัญหา แล้วใช้มาตรการมงฟอร์ด อันนั้น ถือเป็นชุดมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า       ผมให้ความสำคัญกับชุดมาตรการมากกว่าตัวบุคคล และอยากให้กระบวนทัศน์ของคนอื่นมองอย่างนี้ด้วย สำหรับ        ชุดของมาตรการนั้น คิดว่าไม่นาน หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบาย แต่สามารถประชุมร่วมกันได้ก่อน ทีมที่ปรึกษาเป็นใครบ้าง ขออนุญาตไม่พูด เอาไว้เปิดตัว เพราะบางท่านก็พร้อมให้คำปรึกษา แต่ไม่ขอให้เปิดเผยประกาศว่าเป็นที่ปรึกษา แต่ยินดีให้คำปรึกษาเบื้องหลัง เราจะไปบอกให้ท่านมาอยู่ในประกาศแต่งตั้ง ท่านก็ไม่เอา ให้เวลาพิสูจน์กับสิ่งที่คิดอย่างไร  ผมพูดไว้แล้วว่า 6 เดือน โดยประชาชนจะเป็นคนวัด ทั้งจากประชาชนที่มาจากชนบท ภาคเอกชน และนักวิชาการ  จุดเด่นที่จะบอกประชาชนที่มานั่งตรงนี้ อย่าพูดเรื่องจุดเด่นเลย คงไม่ดีถ้าจะบอกว่า เรามีจุดเด่นอะไร คงพูดว่า เราได้ประกาศไว้ช่วงเลือกตั้งว่า เราตั้งใจมาแก้ปัญหาของประเทศ เราก็จะทุ่มเท ทำงานหนัก เปิดรับความคิดเห็น และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสุดท้ายก็คือ เราพร้อมที่จะตัดสินใจ คิดว่าวันนี้ไม่มีเวลามากนัก ที่จะรีรอโดยที่ให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นเอง โดยที่เราไม่ต้องตัดสินใจอะไร เราคงต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในข้อสรุป ที่เราผ่านการวิเคราะห์ มาอย่างรอบด้านแล้ว เวลา 6 เดือนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ความเชื่อมั่น ผมคิดว่า ปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชน นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเราวิเคราะห์วันนี้ ปัญหาของประเทศไทย วิกฤติที่เผชิญแตกต่างจากวิกฤติเมื่อปี 2540     เปรียบเหมือนขาวกับดำ เช่น ค่าเงินบาทในปี 2543-2544 อ่อน แต่ตอนนี้แข็ง  ราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนั้นต่ำ แต่ตอนนี้สูงขึ้น ทุนสำรองระหว่างประเทศในปีนี้น้อยลงไปมาก แต่ตอนนี้เกินแสนล้านดอลลาร์ การส่งออกในตอนนั้น โตมหาศาล แต่ตอนนี้ มีแนวโน้มชะลอตัว  วิกฤติครั้งนั้น เป็นวิกฤติจากประเทศไทยลามออกไปในเอเชีย แต่วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤติที่ผสมผสานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ใช่แค่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ แต่ลามไปถึงตราสารหนี้ พันธบัตร และสถาบันการเงิน เศรษฐกิจไทยตอนนี้ถือเป็นวิกฤติเศรษฐกิจไหม  ถ้าเราไม่ทำอะไร จะเป็นวิกฤติ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เหมือนรักษาคนไข้ ที่ต้องรักษาทันที เพราะหากช้าไปอาจจะเสียชีวิตได้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวมาแล้ว เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนและบริโภค แต่ปัญหาเกิดขึ้นคนละอย่าง ปัญหาทั้งหมดที่เป็นปัญหาใจกลาง คือ ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นอย่างเดียวเลย คนมีเงินไหม มี แต่ปี 2540 ไม่มีเงิน แต่ปีนี้มีเงินแต่ไม่ใช้ เพราะไม่มั่นใจในอนาคต ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่น นอกจากนี้ จีดีพีของประเทศจะต้องทำให้สมดุลกันระหว่างจีดีพีการส่งออกและจีดีพีเศรษฐกิจในประเทศ  ซึ่งปีนี้       จีดีพีจากการส่งออกมีถึง 73% ขณะที่ บทบาทของจีดีพีในประเทศมีน้อย ถามว่า จะทำอะไรต่อไป ทางเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ คือ ส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ เพราะการส่งออกเริ่มมีปัญหา ซึ่งการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ ทำได้ โดยการส่งเสริมให้มีการใช้เงิน แต่ต้องมีเงินนะ ส่งเสริมเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา มีข้อจำกัดเป็นผลกระทบจากการเมือง จึงไม่พร้อมลงทุน แต่เมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา เราต้องส่งสัญญาณชัดเจนว่า เรายินดีต้อนรับการลงทุน จากต่างประเทศ จะส่งสัญญาณและปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราคิดว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนเหมือนเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ มีเรื่องส่งออก การบริโภค การลงทุน และงบประมาณภาครัฐ ตอนนี้มีเครื่องยนต์เดียว คือ การส่งออก ซึ่งใช้งานหนัก และเครื่องบินกำลังเข้าภาวะอากาศไม่เป็นใจ เครื่องยนต์นี้ก็ทำงานไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องหันมาสตาร์ทเครื่องยนต์อีก 3 เครื่องให้ได้ ตัวที่เร็วที่สุด คือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวที่เราควบคุมได้ ฉะนั้น ภาครัฐต้องเป็นตัวนำการลงทุน ที่พูดกันมาก คือ เมกะโปรเจค ต้องประกาศให้ชัดว่า รัฐพร้อมจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือ เชื่อมั่นว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบแต่ไม่เร็ว เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง กว่าจะมีเม็ดเงินบาทแรกออกไปต้องใช้เวลาเป็นปีหรือก็ประมาณปี 2552 ฉะนั้น ตรงนั้นไม่ใช่กระแสเงินที่จะเข้ามา แต่สร้างความเชื่อมั่นได้  ฉะนั้น เม็ดเงินใส่เข้าไปแล้วขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะใส่ที่ไหน  ก็ต้องใส่ที่รากหญ้า ก็จะต้องมีเงินผ่านเข้าไป ทั้งกองทุนหมู่บ้าน งบประมาณเอสเอ็มแอล ซึ่งเป็นงบที่เคยตั้งไว้แต่ผลักดันจริง ๆ ช้ามาก  ถ้ามีงบตรงนี้ก็เน้นเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานง่าย ๆ แต่เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ของคนระดับรากหญ้า หรือแม้แต่โอท็อปเอง ซึ่งหายไปนานมาก ฉะนั้น การส่งเสริมเรื่องโอท็อปจะต้องรีบทำในระยะสั้น และระยะกลาง จะต้องทำให้เกิดความแตกต่าง จำนวนเงินที่จะลงในเศรษฐกิจระดับรากหญ้า พูดได้เลยว่า ต้องมีการตั้งงบประมาณกลางปี 2551 แผนที่คิดไว้ ซึ่งต้องปรึกษากับสำนักงบประมาณอีกครั้ง คือ จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรประมาณปลายเดือนมีนาคม ก็คิดว่า ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 1.8% อีกไม่เกิน 0.5-1% ของจีดีพี  ส่วนงบประมาณปี 2552 ก็ทำต่อ และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนพฤษภาคม สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมา ก็คือการกู้ แต่การกู้นั้น เรากู้มาเพื่อลงทุน ไม่ใช่เพื่อบริโภค สำหรับการไฟแนนซ์เงินสำหรับโครงการเมกะโปรเจคนั้น ก็จะมาจากต่างประเทศ เช่น เจบิค หรือการกู้เงินจากในประเทศ เช่น การออกบอนด์ หรือการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกการระดมเงินทุนจาก           ในประเทศ ก็มีข้อดี คือ ทำให้เรื่องเกี่ยวกับค่าเงินได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะที่ผ่านมา บาทแข็งไม่ใช่ดอลลาร์  อ่อนอย่างเดียว แต่เพราะเราไม่ใช้เงิน  ดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกิน เมื่อเราได้ดอลลาร์จากส่งออกมาก เงินเราก็อ่อน ถ้าเราทำเมกะโปรเจค เราก็เอาเงินดอลลาร์ไปซื้อสินค้าทุน ความต้องการดอลลาร์ก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะเข้าสู่สมดุลที่เหมาะสม ส่วนการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ นอกจากจะเป็นแหล่งระดมเงินทุนสำหรับโครงการเมกะโปรเจคแล้ว ประโยชน์ที่ได้อีกด้าน คือ ผู้ฝากเงินก็จะมีแหล่งเงินฝาก เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ เราชอบพูดกันว่า เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาขณะนี้ คือ เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนที่สูง อย่าเป็นห่วงเรื่องดีมานด์พูล เพราะไม่มีใครลงทุน เรื่องกฎหมายต่างด้าวจะเดินหน้าอย่างไร เราต้องส่งสัญญาณให้ชัดว่าอะไรก็ตามจะต้องไม่เป็นโทษย้อนหลัง โดยหลักกฎหมายทั่วไป อะไรที่เป็นคุณย้อนหลังได้ แต่ที่เป็นโทษ ไม่ควรย้อนหลัง ก็ต้องชัดเจนว่า ไม่มี และทุกอย่างต่อไปนี้ จะต้องเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ฉะนั้น ถ้าเราส่งสัญญาณชัดว่า เราไม่ได้ปิดประเทศ และยินดีต้อนรับการลงทุนต่างชาติ ภายใต้เวิลด์คลาสแสตนดาร์ด อะไรที่เป็นโทษย้อนหลังเราจะไม่ทำ ส่วนเรื่อง 30% ตอนนี้ ก็ชัดเจนว่า มาตรการนี้ผ่อนคลายลงเรื่อย ๆ เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ทำไมถึง     ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ต้องคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเราต้องวิเคราะห์กันให้ได้ว่า เงินบาทแข็งผิดปกติเกิดจากอะไร มันเกิดจากไหลเข้าเงินทุนที่ผิดปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของระบบเศรษฐกิจของเราเองด้วย แล้วการที่เรามีดุลชำระเงินมากเกินไป เพราะเราไม่มีการลงทุน พอไม่มีการลงทุน ค่าเงินบาทก็แข็งเกินเหตุ และภาวะแบบนี้ ถ้าทิศทางไม่เป็นธรรมชาติการเก็งกำไรก็เกิดขึ้นได้ง่าย แต่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด เราต้องทำทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังควบคู่กันไป และต้องดูปัญหาในภาพรวมด้วย  กระแสข่าวปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ ยังไม่คิดไกลขนาดนั้น ตอนนี้มีข่าวออกมา ผมก็ไม่รู้ว่าออกมาจากไหน แต่ไม่ใช่ผมแน่ เพราะผมก็แปลกใจ ผมไม่เคยให้ข่าวแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน จะตัดสินใจอย่างไร เป็นเรื่องหลังจากนั้น เพราะฉะนั้น ข่าวที่ออกไปยังไม่ใช่ เป็นข่าวที่เป็นความคิดของผม ถือเป็นเรื่องแรกที่แบงก์ชาติต้องพิจารณามาตรการ 30% หรือไม่ ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคุยกัน และหาข้อสรุปให้ได้จะมีการทุบโต๊ะเกี่ยวกับนโยบายการเงินไหม ต้องทำทีละขั้น ถ้าหารือ ได้ข้อสรุปร่วมกันก็เป็นเรื่องที่ดี ที่เราอยากเห็น นโยบายด้านภาษีเป็นอย่างไร อย่างที่บอก การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง และน้ำหนักก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เรื่องภาษีก็เป็นเรื่องที่ต้องดูรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้เรื่องนโยบายภาษีเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ขณะเดียวกัน ต้องไม่กระทบต่อรายได้รัฐบาลจนกระทั่งเป็นปัญหาในอนาคตได้ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนเป็นรัฐมนตรีต้องตัดสินใจ ถ้าดูภาษีนิติบุคคลเทียบประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ภาษีจะต่ำกว่าเรา แต่ยังไม่ได้คิดไกลถึงการปรับโครงสร้างภาษี รวมถึง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย เรื่องค่าลดหย่อนด้วย แต่เรื่องค่าลดหย่อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ไม่มีการเปลี่ยนมานานมาก เกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรี

ผมจะไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานที่ตรวจสอบ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไป

 กรุงเทพธุรกิจ  7  ก.พ.  51
หมายเลขบันทึก: 163898เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท