คลังเด้งรับนโยบาย 7-17-7 เต็มสูบ รื้อแผนออกพันธบัตร-ธกส.ลุยพักหนี้


คลังเด้งรับนโยบาย "7-17-7" เต็มสูบ รื้อแผนออกพันธบัตร-ธกส.ลุยพักหนี้
เปิดเมนูโกหมัก ประชานิยมสูตรดั้งเดิม ทุ่มเงินลงทุน 1.5 ล้านล้าน ปั๊มเศรษฐกิจโตพรวด 8% "คลัง" รับสนอง รื้อแผนบริหารหนี้ ออกพันธบัตรเพิ่ม 1 แสนล้าน สนองเมกะโปรเจ็กต์ ธ.ก.ส.เด้งรับ พักชำระหนี้ 3 ปี บริหารยุคใหม่ต้องมีทั้งซีอีโอ ซีเอฟโอ ซีโอโอ และซีเอ็มโอครบทีม น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ว่าที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของรากหญ้า ทั้งในแง่การบริโภคภายในประเทศ โครงการเอสเอ็มแอล การจ้างงาน การสร้างสาธารณูปโภคในหมู่บ้าน   ส่วนการบริหารยุคใหม่จะต้องมีทีมเศรษฐกิจที่มีทั้งซีเอฟโอ ซีอีโอ ซีโอโอ และซีเอ็มโอ ดังนั้นการบริหารประเทศจะใช้คนคนเดียวไม่ทันกิน ฉะนั้นภายใต้รัฐบาลสมัครจะไม่มีปัญหาเรื่องเกาเหลาอย่างแน่นอน ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลใหม่มุ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มทุนหมุนเวียนด้วยการเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายสร้างอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลใหม่มีนโยบายเร่งด่วนผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของ รัฐ อาทิ โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน 9 เส้นทาง และรถไฟรางคู่ ที่ต้องใช้วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทว่า กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะตลอด 10 ปีหลังประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยยังไม่เคยมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ๆ เลย ทำให้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ  อีกทั้งสถานการณ์ทางการเงิน-การคลังของประเทศ ในขณะนี้ยังเอื้ออำนวยที่ให้รัฐบาลใหม่ดำเนินโครงการนี้ได้โดยไม่กระทบกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ที่กำหนดให้ก่อหนี้ได้ไม่เกิน 50% ของ GDP จากปัจจุบันมีสัดส่วน 38% ของ GDP ประกอบกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศจำนวนมาก ถือว่าเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรกู้เงินระยะยาว หรือ "infrastructure bond" เพื่อนำสภาพคล่องที่มีอยู่มากภายในประเทศมาใช้ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์  ตามแผนบริหารจัดการหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2551 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว 2 ครั้ง          มีวงเงินทั้งสิ้น 993,000 ล้านบาท และถ้าพิจารณาจากนโยบายของรัฐบาลใหม่แล้วคงต้องปรับปรุงแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในปีนี้ใหม่ โดยเพิ่มวงเงินอีกไม่เกิน 100,000 ล้านบาท รวมเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในวงเงิน       ที่ สบน.จะขอปรับเพิ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มเติมอีก 80,000 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรืองบฯ กลางปี ส่วนที่เหลือจะนำไปเฉลี่ยเพื่อดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐผ่านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งระหว่างนี้ สบน.จัดเตรียมข้อมูลไว้เสนอ รมว.คลัง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป"ขณะนี้ สบน.ยังไม่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลใหม่ แต่โดยหน้าที่ของข้าราชการจะต้องจัดเตรียมข้อมูลไว้  ซึ่งเบื้องต้นวงเงินลงทุนจะปรับเพิ่มจากเดิมไม่มากนัก เฉพาะปีงบประมาณ 2551 คาดจะเพิ่มไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อมาทำงบฯ กลางปี ส่วนการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์จะมีลักษณะทยอยทำ ไม่ได้ มากระจุกตัวอยู่ในปีนี้เท่านั้น เฉพาะโครงการเดิมที่บรรจุไว้ในแผนการกู้เงินแล้ว อาทิ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-สีม่วง-      สีแดง จะเริ่มเปิดประมูลและได้ตัวผู้รับเหมาเร็ว ๆ นี้  ส่วนโครงการใหม่ ๆ อาจมาใช้วงเงินกู้ในปีนี้ไม่ทัน เพราะปีงบฯ 2551 เหลือเวลาอีกไม่เกิน 8 เดือนเท่านั้น คงไปเบิกจ่ายเงินกู้ในปีถัดไป"นอกจากนี้ สบน. จะทบทวนแผนออกพันธบัตรของภาครัฐใหม่ ซึ่งตามแผนเดิมปีนี้ ภาครัฐมีแผนการ        ออกพันธบัตรทั้งสิ้น 280,000 ล้านบาท หากขยายวงเงินบริหารจัดการหนี้เพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท จะต้องปรับปรุงแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่ทั้งหมด ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศึกษาในรายละเอียดของ infrastructure bond ซึ่งจะเป็นพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 ปี เพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และยังมีส่วนในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในเรื่องการสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (bench mark) โดยมีบริษัทประกันชีวิตและสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายนายพงษ์ภาณุกล่าวว่า ส่วนรายละเอียดของโครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งรถไฟฟ้า 9 สาย และรถไฟรางคู่ สบน.จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ.ที่กระทรวงการคลัง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการลงทุนต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนนำเสนอรัฐบาล นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ภายหลัง ธ.ก.ส.ได้ทราบว่า รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายให้ธนาคารดำเนินโครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียด เพื่อเตรียมเสนอต่อ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  "โครงการประเภทนี้เป็นโครงการที่ดีที่จะมาช่วยเหลือเกษตรกรที่มีความเดือดร้อนจากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ หรือเกษตรกรที่ประสบภัยทางธรรมชาติจนกลายเป็นปัญหาหนี้สินไม่มีเงินมาชำระหนี้ โครงการพักชำระหนี้ก็จะให้โอกาสเกษตรกรเหล่านี้ยังไม่ต้องนำเงินต้นมาชำระหนี้กับ ธ.ก.ส. ส่วนดอกเบี้ยรัฐบาลจะจัดเงินงบประมาณมาชำระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.แทนเกษตรกร ซึ่งในช่วงที่มีการดำเนินโครงการพักชำระหนี้เมื่อปี 2544 รัฐบาลได้จัดงบประมาณมาชำระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.ปีละ 6,000 ล้านบาท ตลอด 3 ปี ใช้เงินไปไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ฉะนั้นเมื่อมีการใช้เงินจากงบประมาณหรือเป็นเงินภาษีมาจากประชาชน ในหลักการควรที่จะใช้งบประมาณเหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพหรือประโยชน์สูงสุด"นโยบายต่อยอดประชานิยมอันประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ 17 นโยบาย และ 7 ภารกิจเร่งด่วน ในส่วนนโยบายเร่งด่วนที่น่าสนใจได้แก่ การเร่งผลักดันให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มทุนหมุนเวียนโดยการอัดฉีดเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ การจัดสรรงบประมาณให้หมู่บ้านในโครงการเอสเอ็มแอล หมู่บ้านขนาดเล็ก 3 แสนบาท หมู่บ้านขนาดกลาง 5 แสนบาท หมู่บ้านขนาดใหญ่ 7 แสนบาท รวมทั้งพิจารณามาตรการกันเงินทุนสำรอง 30% ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจและส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งกระตุ้นการลงทุนในระบบเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง  นอกจากนี้ยังมีนโยบายเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและภาคบริการ โดยประกาศปีการท่องเที่ยวไทย คราวละ 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2551-2553 เป้าหมาย เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวจากปีละ 14 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน รวมทั้งยังมีนโยบายพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรได้พักปัญหาหนี้สิน เพิ่มทุนให้หมู่บ้านที่มีความพร้อมแห่งละ 1 ล้านบาท เพิ่มทุนให้สถาบันการเงินของรัฐและกองทุนแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 20,000 ล้านบาท ยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการบินของโลก และส่งเสริมให้เกิดโครงข่ายคมนาคมทางรถไฟ รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ก่อสร้างรถไฟฟ้า 9 เส้นทาง โดยทุ่มงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล   ส่วน 7 ภารกิจเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.การพักชำระหนี้ทั้งระบบ 3 ปี  2.อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการเอสเอ็มแอล  3.การแก้ปัญหานโยบายกันทุนสำรองระหว่างประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์  4.การก่อตั้งศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพย์ติด  5.การแก้ปัญหาค่าเงินบาท  6.การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ  และ 7.การต่อยอดนโยบาย อาทิ โอท็อป กองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

รายงานข่าวแจ้งว่า นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงการคลังคนใหม่ จะเข้าทำงานที่กระทรวงการคลังวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.พ. และในวันศุกร์ที่ 8 ก.พ. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ทั้งนี้ หนึ่งในมือเศรษฐกิจที่จะเข้าไปช่วยงาน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี น่าจะได้แก่ นายนิพัทธ์ พุกกะณะสุต อดีตผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำพรรคไทยรักไทยเดิม และยังเคยเป็นที่ปรึกษาอดีตนายกฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

 ประชาชาติธุรกิจ  7  ก.พ.  51
คำสำคัญ (Tags): #การคลัง
หมายเลขบันทึก: 163897เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 12:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท