สวรส.
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

ทำให้งานวิจัยที่ไม่ถูกผูกขาดโดยนักวิจัย


R2R ได้ทำให้งานวิจัยเป็นงานที่ใครๆ ก็ทำได้

ย้อนหลังไปสมัยเมื่อยังเป็นเด็กและได้ยินคำว่า “งานวิจัย” เป็นครั้งแรก ผมจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานใน

ห้องทดลอง ทำการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือยารักษาโรคชนิดใหม่ๆ ยิ่งเมื่อได้อ่านประวัติของนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายๆ ท่าน ยิ่งทำให้รู้สึกทึ่งในความรู้ความสามารถของท่านเหล่านั้น และเพราะความรู้ความสามารถอย่างมากนี่แหละทำให้งานวิจัยเหล่านั้นสำเร็จได้ ต่อเมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น จึงทราบว่ามี “งานวิจัย” ด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านวิทยาศาสตร์อีกมาก แต่คนที่จะทำงานวิจัยได้ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยในสาขาอื่นๆ จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทรงความรู้อย่างมาก มิฉะนั้นจะไม่สามารถทำงานวิจัยที่จะนำไปสู่การค้นพบ (นวัตกรรม/ความจริง) ใหม่ๆ ได้ งานวิจัยจึงเป็นงานที่ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ หากไม่ได้เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์มาตั้งแต่เกิดก็ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาเล่าเรียนในระดับสูง (ปริญญาโทหรือเอก) เท่านั้น จึงจะสามารถทำงานวิจัยได้

        ความเชื่อดังกล่าวของผมค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อลองทำงานวิจัยด้วยตนเองเป็นครั้งแรกสมัยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชน โดยนำปัญหาต่างๆ ที่ประสบพบเห็นมาตั้งเป็นคำถามการวิจัย เรียนรู้ระเบียบวิธีวิจัยต่างๆ จากตำราที่มี และเข้าฝึกอบรมระยะสั้นที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จัดขึ้นเป็นบางครั้ง ทำวิจัยเองร่วมกับทีมงานของโรงพยาบาล ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลทำวิจัยโดยไม่ต้องไปขอแหล่งทุนวิจัยใด เดิมทีตั้งใจจะทำวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเหมือนนักวิจัยอื่นๆ แต่คิดว่าคุณภาพคงไม่ถึงขั้น จึงไม่ได้เน้นตรงจุดนี้ การทำวิจัยโดยจับประเด็นปัญหาของหน่วยงานเป็นจุดตั้งต้นและไม่เน้นการนำผลงานไปตีพิมพ์ (publication) ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายประการคือ

  •         - ระบบข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะข้อมูลถูกนำมาใช้ มีการตรวจสอบความถูกต้อง ยิ่งทำวิจัยในประเด็นที่ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ระบบข้อมูลยิ่งได้รับการพัฒนามากขึ้น
  •         - มีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น (evidence based decision making) การขัดแย้งเผชิญหน้าเนื่องจากมีความเชื่อแตกต่างกันลดน้อยลง และนำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น หน่วยงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

   

      ระยะหลังผมได้ยินคำว่า R2R หรือ Routine to Research บ่อยขึ้น โดยไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร เพิ่งได้เรียนและรู้จากอาจารย์ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อดีตผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ว่า น่าจะคล้ายๆ กับสิ่งที่ผมได้เคยทำเมื่อนานมาแล้ว ผมเคยได้ยินคำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็น operational research (OR) หรือ action research (AR) แต่คำว่า R2R กลับติดตลาดง่ายกว่า เพราะเป็นคำที่ sexy และดูเป็นสมัยนิยมมากกว่า R2R ได้ทำให้งานวิจัยเป็นงานที่ใครๆ ก็ทำได้ และกลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานและองค์กรที่ทรงประสิทธิภาพ เพราะส่งเสริมให้เกิด evidence based decision making

 

         สวรส. ควรจะมีท่าทีอย่างไรต่อ R2R นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่เริ่มมีการถกเถียงกันภายใน สวรส. หากมองจากวิสัยทัศน์ของ สวรส. ที่ต้องการเป็น “องค์กรหลักในการบริหารจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพ และสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพผ่านกระบวนการจัดการความรู้” จะเห็นได้ว่า R2R จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกในระบบสุขภาพ แต่อาจไม่สามารถสร้างความรู้เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย เพราะประเด็นวิจัย R2R เริ่มต้นจากปัญหาของหน่วยงานเป็นสำคัญ

        การขยับจาก R2R ไป R2P หรือ Research to Policy อาจมี 2 แนวทางสำคัญคือ การสังเคราะห์ความรู้จาก R2R ในประเด็นร่วมที่มีความสำคัญในระดับชาติ กับการใช้ R2R เป็นฐานในการพัฒนานักวิจัยเพื่อทำงานวิจัยระบบสุขภาพ (health system research) ต่อไป

ท่านมีข้อเสนอต่อบทบาท สวรส. ต่องาน R2R อย่างไร...

หมายเลขบันทึก: 163854เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2008 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ติดตามเยี่ยมชมสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ที่ เว็บไซต์

http://www.hsri.or.th

เรามีคอลัมน์ถาม-ตอบ การวิจัย, ข่าว-กิจกรรมความเคลื่อนไหวในระบบสุขภาพ จุดประเด็น สาระสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ

การทำ R2R

ถ้าเริ่มที่คนที่มีไฟและอยากทำ ให้โอกาสมาพัฒนากระบวนการทำวิจัย พาหาปัญหา พาเขียนโครงร่าง

เมื่อมีทุนวิจัย ถ้ามีข้อกำหนดว่า R2R ต้องมีทีม 2 คนขึ้นไป เขาจะพยายามหาทีม

เมื่อทีมมีปัญหาอะไร สามารถถามตอบข้อข้องใจหรือช่วยแก้ปัญหาให้ทีมได้

เมื่อทำเสร็จ ให้เขียนเป็นรายงานวิจัย 10 หน้า โดยประมาณ

ให้โอกาสมานำเสนอและตีพิมพ์

ถ้าเป็นไปได้มีแหล่งทุนให้ไปนำเสนอผลงานต่างประเทศ

รับรองว่า R2R จะสำเร็จได้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท