ขรก.เกษียณเฮรับบำเหน็จเพิ่ม พิการได้อย่างต่ำหมื่นห้า/เดือน


ทายาท ขรก.เกษียณได้เฮ บัญชีกลางเตรียม 1.8 หมื่นล้าน จ่ายบำเหน็จตกทอดเพิ่ม หลังกฎหมายใหม่เปลี่ยนสูตรคำนวณ พร้อมเพิ่มเงินให้ ขรก.ทุพพลภาพ เต็มจนครบ 1.5 หมื่นบ./เดือน ช่วยให้รับมือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นได้เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ไปก่อนหน้านี้ ล่าสุด คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจะมีผลบังคับใช้ใน 1-2 วันนี้ โดยสาระสำคัญจะมีการปรับวิธีการคำนวณเงินบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทใหม่ จากเดิมที่คำนวณให้ 30 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนเท่านั้น ได้มีการแก้ไขเป็นคำนวณจาก 30 เท่า ของเงินบำนาญรายเดือนรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.)  ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้รับบำนาญที่จะได้รับผลประโยชน์ในครั้งนี้ จำนวน 339,312 คน โดยแต่ละเดือนมีการจ่ายเป็นเงินบำนาญ 4,600 ล้านบาท และเงิน ช.ค.บ. เดือนละ 829 ล้านบาท ซึ่งผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญบางรายได้รับ เงินบำนาญไม่มาก แต่จะได้เงิน ช.ค.บ. มากกว่า เนื่องจากเดิมมีเงินเดือนหรือมีเวลาราชการน้อย แต่เมื่อมีการ   ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนให้แก่ข้าราชการก็จะมีการปรับเงิน ช.ค.บ. เพิ่มให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญด้วย เช่น การปรับเพิ่ม 4% ที่ผ่านมา จึงทำให้ทายาทได้รับเงินบำเหน็จตกทอดมากขึ้นกว่าเดิม โดยประมาณเบื้องต้นว่า ปีหนึ่ง ๆ มีผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 7,800 ราย ซึ่งจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้ประมาณ 18.798 ล้านบาทต่อปี นายมนัสได้กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวยังแก้ไขในส่วนของการจ่ายเงินบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพให้แก่ผู้รับบำนาญที่มีสิทธิที่ได้รับเงินบำนาญปกติรวมกับเงินบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพแล้ว ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือน ก็ให้ได้รับเงินบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ เพิ่มขึ้นอีกจนครบ 15,000 บาทต่อเดือน โดยคาดว่าน่าจะเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่เหมาะสมกับผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญในปัจจุบัน โดยมีผู้ทุพพลภาพได้รับเงินต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน จำนวนประมาณ 3,000 คน หากจ่ายเงินเพิ่มให้ครบ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่ม 39 ล้านบาทต่อเดือน "สำหรับการจ่ายเงินบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ กรมบัญชีกลางได้เตรียมคำนวณเงินที่จะจ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พร้อมแล้ว เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด จะจ่ายเงินดังกล่าวได้ทันที" นายมนัสกล่าวรายงานข่าวแจ้งว่า บำเหน็จตกทอด คือ เงินก้อนที่รัฐจะจ่ายให้ทายาทของข้าราชการที่เกษียณและเสียชีวิต ซึ่งเดิมให้ในอัตรา 30 เท่าของเงินบำนาญ หรือหากข้าราชการที่เกษียณต้องการใช้เงินก้อนนี้ก่อน ก็สามารถยื่นเรื่องขอเบิกได้ก่อนในอัตรา 15 เท่าของเงินบำนาญ หรือไม่เกิน 2 แสนบาท  ทั้งนี้ สูตรคำนวณเงินบำนาญนั้น ตามระเบียบจะนำเงินเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้าย บวกด้วยวันทวีคูณมาใช้ในการคำนวณหาอัตราเงินบำนาญ และเงินบำนาญดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดไปตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเงินบำนาญจนกระทั่งเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตามกฎหมายสูตรคำนวณเงินบำนาญดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่สภาพทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงไป ค่าครองชีพมีการปรับขึ้น เมื่อข้าราชการได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน เช่น 4% ในปีที่ผ่านมา เป็นต้น   รัฐบาลก็จะพิจารณาปรับเพิ่มเงินให้ข้าราชการบำนาญด้วย โดยจะให้ในอัตราเท่ากัน เช่น 4% ของเงินบำนาญ แต่เงินดังกล่าวนั้นจะเรียกว่าเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ซึ่งจะได้รับช้ากว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเล็กน้อยในแต่ละปีงบประมาณที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่จะมียอดตกเบิกให้ เพียงแต่ว่าในอดีตเงิน ช.ค.บ.ดังกล่าว ไม่สามารถนำมาใช้เป็นฐานคำนวณรวมกับเงินบำนาญในการกำหนดบำเหน็จตกทอดให้แก่ทายาทของข้าราชการที่เสียชีวิตได้ แต่กฎหมายที่ปรับเปลี่ยนไปในครั้งนี้ จะมีผลให้เงิน ช.ค.บ.ที่ข้าราชการบำนาญได้รับเพิ่มในแต่ละปีงบประมาณนั้น สามารถนำมารวมในการคำนวณเงินบำเหน็จตกทอดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ทายาทได้รับเงินบำเหน็จตกทอดเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

 มติชน  31  ม.ค.  51
คำสำคัญ (Tags): #บำเหน็จตกทอด
หมายเลขบันทึก: 162456เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2008 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่บอกว่าปรับเป็น 15000 บาท เฉพาะผู้ที่รับบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ หรือว่า รวมข้าราชการบำนาญทั้งหมดคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท