ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>คุณลักษณะผู้บริหารมืออาชีพ


1. คุณลักษณะของผู้บริหารมืออาชีพ ( Management Professional )
              จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาและจากการศึกษาโดยทั่วไป มักจะพบว่าการเป็นนักบริหารที่ดี นั้น ควรจะมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในแต่ละด้าน เช่น
1.1 การมีภาวะผู้นำLeadership ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบของความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) การรู้จักตัดสินใจ (decision making) รู้จักและสามารถนำเอาวิธีการและกลยุทธในการแก้ไขปัญหา (problem solving)มาใช้ในการปฎิบัติงานในหน้าที่ได้ และเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำที่กำหนดทิศทางขององค์กรและเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี (lead direction) สร้างพลังในการทำงานเป็นทีม (team work) และการมีส่วนร่วมของเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) เป็นต้น
1.2 เป็นบุคคลที่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับหรืออยู่ในขอบข่ายของภารกิจที่รับผิดชอบอย่าง (Role Model & Responsibility)
1.3 มีทักษะในการสื่อสาร(Communication skill) ที่เป็นเลิศ ที่สามารถสื่อสารทั้งทางตรง ทางอ้อม ที่ทำให้เพื่อนร่วมงานหรือผู้ที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาสามารถเข้าใจง่าย และเข้าถึงในสิ่งที่เราต้องการสื่อสาร
1.4 เป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ (vision) มีความคิดและมุมมองที่กว้าง และเป็นผู้ที่มองการณ์ไกล
1.5 เป็นผู้ที่ยอมรับและเป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้(Knowledge Based Organization)

2 หลักการบริหารองค์กรให้ประสบผลสำเร็จ
                ในการบริหารงานไปสู่ความเป็นเลิศ และประสบผลสำเร็จ นั้น ผู้บริหารควรมีหลักการในการทำงานที่มีความชัดเจน ในแต่ละประเด็น อาทิ เช่น
2.1 การกำหนดนโยบายบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมที่มีความคมชัด (Clear Policy) ซึ่งสามารถที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ต่อเนื่องและบังเกิดผล
2.2 มีความรอบรู้และสามารถสั่งการหรือมอบหมายงานรวมทั้งการสื่อสารในองค์กร (Direction & Communication) ที่ทำให้เกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อนร่วมงานและผู้ที่อยู่ใต้การบังคับบัญชา ที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย พร้อมที่จะรับนโยบายหรือรับคำสั่งไปใช้ในทางปฏิบัติได้
2.3 ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่มีความสามารถบริหารจัดการในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง (Change management) ในองค์กรให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบและมีกระบวนการ โดยผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้หรือการสร้างให้เกิดให้ความรู้ (Knowledge) กันในหมู่คณะ เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อที่จะเข้าใจในผลประโยชน์ (Benefits for all)ที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ส่วนรวมของคนหมู่มากและองค์กร โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น(hidden agenda)แต่ประการใด ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การสร้างการยอมรับ (Buy in)ให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ ง่ายต่อการที่จะเข้ามามีส่วนร่วม (participation) ก่อเกิดความรู้สึกและความรับผิดชอบที่ผูกพัน (commitment)ต่อองค์กร และนำไปสู่ความเป็นวัฒนธรรม(Culture)ขององค์กรในที่สุด

3 ข้อเสนอแนะ / คำแนะนำสำหรับการบริหาร
             การบริหารจัดการที่ดี พึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ หลายประการ ในเบื้องต้นผู้บริหารควรมีความยึดมั่นและให้ความสำคัญกับหลักการในการทำงาน (Principle focus) เพื่อที่จะสร้างเป็นบรรทัดฐานให้กับองค์กร ด้วยการนำหลักการบริหารแบบธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ ซึ่งหมายถึง การนำเอาแนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้องค์กรของเราเอง สังคม และภาคประชาชนทั่วไป สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ใน ความถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ประกอบด้วยหลักการ 6 ประการ ดังนี้

1) หลักนิติธรรม (The Rule of Law)
            หลักนิติธรรม หมายถึง การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจ หรืออำนาจของ ตัวบุคคล จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และความยุติธรรม รวมทั้งมีความรัดกุมและ รวดเร็วด้วย


2)หลักคุณธรรม (Morality)
 
หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้อง ดีงาม การส่งเสริม ให้บุคลากรพัฒนาตนเอง ไปพร้อมกัน เพื่อให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบ วินัย ประกอบอาชีพสุจริต เป็นนิสัย ประจำชาติ

3) หลักความโปร่งใส (Accountability)
            หลักความโปร่งใส หมายถึง ความโปร่งใส พอเทียบได้ว่ามีความหมาย ตรงข้าม หรือเกือบตรงข้าม กับการทุจริต คอร์รัปชั่น โดยที่เรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น ให้มี ความหมายในเชิงลบ และความน่าสะพรึงกลัวแฝงอยู่ ความโปร่งใสเป็นคำศัพท์ที่ให้แง่มุมในเชิงบวก และให้ความสนใจในเชิงสงบสุข ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้สะดวกและเข้าใจง่าย และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องอย่างชัดเจนในการนี้ เพื่อเป็น สิริมงคลแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใส ขออัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งในองค์พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ได้แก่ ผู้ที่มีความสุจริต และบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ


4) หลักการมีส่วนร่วม (Participation)
           หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การให้โอกาสให้บุคลากรหรือผู้มี ส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการ บริหารจัดการเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และหรือ คณะทำงานโดยให้ข้อมูล ความคิดเห็น แนะนำ ปรึกษา ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ


5) หลักความรับผิดชอบ (Responsibility )
            หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิและหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาการบริหารจัดการ การกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา และเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมทั้งความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากกระทำของตนเอง


6) หลักความคุ้มค่า (Cost – effectiveness or Economy)
             หลักความคุ้มค่า หมายถึง การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้บุคลากรมีความประหยัด ใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างคุ้มค่า และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน นักบริหารที่ดี ควรมีภาวการณ์เป็นผู้ที่สามารถจัดการการเปลี่ยนแปลง และความขัดแย้ง Conflict management ในองค์กรได้โดยก่อให้เกิดการยอมรับอย่างสร้างสรรค์ ไม่ให้เกิดความรู้สึกที่สูญเสียเป็นการแก้ปัญหาแบบชนะ-ชนะ (Win - Win Solution) ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ องค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา (Learning Organization) อยู่อย่างต่อเนื่อง

  อ่านเจอข้อความดีๆเลยนึกถึงชาวgotoknow เลยมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
คำสำคัญ (Tags): #บอกต่อ
หมายเลขบันทึก: 162142เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2008 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท