เรารักอยุธยา สิ่งพิมพ์แจกฟรี ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้


"การทำการตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งบางทีโจทย์และคำตอบอาจจะไม่ได้มีแค่สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าเท่านั้น การคิดนอกกรอบและมองให้ออกว่าแวลูหรือคุณค่าที่แท้จริงจากธุรกิจและกิจกรรมนั้นๆ คืออะไรและอยู่ตรงไหน"

บทสัมภาษณ์ความคิดเห็นเรื่อง สิ่งพิมพ์แจกฟรี "เรารักอยุธยา"

คอลัมน์ กรณีศึกษา SMEs

เรารักอยุธยา หรือ We love Ayutthaya เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่จัดทำขึ้นมาในรูปแบบแจกฟรีให้กับประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีกำหนดออกสู่มือของคนอยุธยาเป็นประจำทุกๆ 15 วัน ซึ่งบริหารงานโดย กาจทิศา เปรมวิมล กรรมการอำนวยการ บริษัท เปรมแอด แอนด์ อีเวนท์ จำกัด


กาจทิศา เปรมวิมล

เรื่องราวในหนังสือจะเป็นข่าวสารความเคลื่อนไหว ความรู้ทั่วไป อาทิ เกี่ยวกับการทำงาน ความงาม รถยนต์ ฯลฯ สำหรับคนทุกกลุ่มทุกวัยเปิดตัวมาได้ 2 เดือน และฉบับปัจจุบันนับได้ว่าเป็นฉบับที่ 4 โดยกลุ่มผู้อ่านก็คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดแห่งนี้ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในจังหวัด

โดยในทุก 15 วันจะมีการนำหนังสือไปแจกจ่ายตามจุดสำคัญต่างๆ ภายในอำเภอเมืองอยุธยา ส่วนที่มาของรายได้ที่วางแผนไว้ คือ การขายพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ให้กับธุรกิจ บริการ ห้างร้านต่างๆ ที่อยู่ในอยุธยา และวางแผนในลำดับต่อไปว่าเมื่อหนังสือเริ่มอยู่ตัวขยายเข้าสู่การให้บริการจัดกิจกรรมให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐในจังหวัด

ภายหลังจากได้เข้ามาสู่ธุรกิจ กาจทิศาและทีมงาน ได้พบกับสิ่งที่ท้าทายกระบวนความคิดหลายอย่าง ประการแรกคือ ลูกค้ายังยึดติดกับสื่อในรูปแบบเดิมๆ อย่างวิทยุชุมชน ป้ายโฆษณา หรือติดป้ายตามรถวิ่งและกระจายเสียงจากรถโฆษณาเคลื่อนที่

ประการที่ 2 ลูกค้าเป้าหมายไม่น้อยทีเดียว ที่มองไม่ออกว่าทำไมต้องมีการลงโฆษณาเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับตัวเอง เพราะทุกวันนี้ก็ขายสินค้าและบริการได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว

ประการที่ 3 ลูกค้าไม่เข้าใจแนวคิดและรูปแบบของหนังสือแจกฟรี จึงมองกันว่าจ่ายเงินลงโฆษณาไปแล้วจะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร

ซึ่งการแก้ปัญหาของทีมงาน คือ สื่อสารกับลูกค้าให้มากที่สุด มีการลงโฆษณาฟรีให้กับลูกค้าในครั้งแรกเพื่อวัดผล และพยายามเพิ่มจุดกระจายหนังสือให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งขณะนี้มีจุดกระจายหนังสือเพิ่มเป็นร้อยกว่าจุดแล้ว และจะพยายามเพิ่มไปยัง อำเภออื่นๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ การตอกย้ำตราสินค้า "เรารักอยุธยา" ให้คนรู้จักมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายโฆษณาหนังสือตามจุดต่างๆ และติดป้ายโฆษณาหนังสือไปกับรถตุ๊กตุ๊กที่วิ่งอยู่ทั่วอำเภอเมืองอยุธยา แต่ก็มีปัญหารถตุ๊กตุ๊กคันที่เราใช้โฆษณา พอผ่านไป 2-3 วันก็ไปติดป้ายโฆษณาให้กับสินค้าของคนอื่นแล้ว เป็นต้น

ดังนั้น ในความเป็นธุรกิจที่เจ้าของไม่มีประสบการณ์มาก่อน และต้องทำแบบ learning by doing กับตลาดที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ จึงเป็นโจทย์ให้กาจทิศาต้องขบคิด ในหลายด้าน แต่ในเรื่องเดียวกันอ.บุริม โอทกานนท์ ประธานสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ

หนังสือพิมพ์ "เรารักอยุธยา"

 อ.บุริม โอทกานนท์ ประธานสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ ได้วิเคราะห์กรณีศึกษา อุปสรรคความท้าทายของกาจทิศาในมุมของนักการตลาดว่า ประสบการณ์ในการทำหนังสือเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้จากการทำงานในสนามจริง อาจจะเป็นปัญหาในระยะแรกแต่ประสบการณ์จากการทำงานและการพบปะผู้คนมากๆ จะเข้ามาช่วยสอนเอง แต่โจทย์สำคัญที่กาจทิศาหรือผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำธุรกิจและมีปัญหาคล้ายๆ กันนี้ ต้องผ่านให้ได้และต้องตีโจทย์ให้แตกมี 2 ประเด็น คือ ตัวหนังสือเองที่ต้องทำให้คนอ่าน และลูกค้าของหนังสือมองเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีแวลูอะไรกับชีวิตและธุรกิจของเขาบ้าง จะสร้างแวลูของหนังสือได้อย่างไร คนที่ทำธุรกิจหนังสือแบบนี้ต้องตอบได้ว่า หนังสือที่ทำออกมานี้วางแจกที่ไหน และกลุ่มที่อ่านในสถานที่นั้นๆ เป็นใคร ซึ่งตรงนี้จะทำให้รู้ได้ว่ากลุ่มธุรกิจและบริการที่สอดคล้องกันนั้นคืออะไร

เช่นหนังสือไปวางอยู่ที่สถานศึกษา คนที่อ่านก็คือครู อาจารย์ ผู้ปกครอง หรือนักศึกษา ทีนี้ก็มาดูว่าธุรกิจและบริหารอะไรที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองอาจจะมองหาสถานที่เรียนพิเศษให้กับลูกหลาน สถานเสริมสวยใกล้ๆ โรงเรียนสำหรับผู้ปกครองที่มารอรับบุตรหลาน เป็นต้น หรือหากไปวางตามตลาด เนื้อหาก็ต้องเตะตาแม่ค้า อะไรบ้างที่แม่ค้าสนใจ ตารางกิจกรรมการจัดงานตามสถานที่ต่างๆ

การมองภาพกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนดังที่กล่าวไปนั้นจะเข้ามาช่วยออกแบบว่าเนื้อหาภายในหนังสือควรจะไปในทิศทางใด และลูกค้าเป็นใคร สามารถชี้ให้ลูกค้ามองเห็นประโยชน์จากการเข้ามาทำโฆษณาได้

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของโมเดลการหารายได้ ซึ่งโดยทั่วไปรายได้หลักของการทำหนังสือแจกฟรีคือการขายโฆษณา แต่นอกเหนือจากการหารายได้จากค่าโฆษณาแล้ว หากมองออกไปนอกกรอบ จะเห็นว่าแวลูที่แท้จริงของธุรกิจหนังสือในลักษณะนี้คือเรื่องของสายสัมพันธ์หรือคอนเน็กชั่นนั่นเอง การทำหนังสือแจกฟรี ลงเนื้อหาประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงาน ห้างร้านต่างๆ ฟรี ทำให้ได้รู้จักคนมากมาย และรู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน รูปแบบทางธุรกิจ จากการที่มีสายสัมพันธ์และรู้จักกับภาคธุรกิจมากมายสามารถทำให้เรารักอยุธยา

นอกจากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว ยังสามารถ ทำ call center สอบถามทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอยุธยา แนะนำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ฯลฯ หรือการเป็น call center ก็สามารถทำได้

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว "การทำการตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งบางทีโจทย์และคำตอบอาจจะไม่ได้มีแค่สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าเท่านั้น การคิดนอกกรอบและมองให้ออกว่าแวลูหรือคุณค่าที่แท้จริงจากธุรกิจและกิจกรรมนั้นๆ คืออะไรและอยู่ตรงไหน" อ.บุริมกล่าวปิดท้าย

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3969 (3169)

Web Ref.: http://matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02biz05240151&day=2008-01-24&sectionid=0214

--------------------------------------------------------------------------------

กาจทิศา เปรมวิมล เป็นศิษย์เก่าระดับปริญญาโทของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการตลาดรุ่น 8

--------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 161894เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2008 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
แล้วคนกรุง สามารภหาอ่านได้ไหมค่ะ รับได้ที่ไหนค่ะ ขอบคุณค่ะ

ดีจังค่ะ วิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่

ลองดูเรื่องอยุธยาที่นี่ เผื่อจะเป็นประโยชน์

กรุงเทพฯ คงลำบากหน่อยครับ เพราะเข้าวางเฉพาะในเขตเมืองอยุธยา ถ้าแวะผ่านไปลอง แวะถามดูได้ครับ

หนังสือเรารักอยุธยาตั้งอยู่ที่ไหนครับอยากร่วมงานด้วยต้องทำยังไงครับผมก้คนอยุธยา

ยังไงก็ขอความกรุณาติดต่อ ที่อิเมลล์ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท