เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ อัครราชศิลปินแห่งสยาม


ทั้งนี้เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ซึ่งดำรงพระฐานะ "อัครราชศิลปินแห่งสยาม"และ "องค์อุปถัมภ์ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง"

 

 

 

 

เฉลิมพระเกียรติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

อัครราชศิลปินแห่งสยาม

          เฉลิมพระอัครราช           ปิยชาติหทัยสยาม

พระจริยวัตรแสนงดงาม              พระเกียรติก้องกำจายไกล

         ทรงเอกอัครศิลป์            เลิศล้วนสิ้นศิลปะไทย

อนุรักษ์ส่งเสริมไว้                    เป็นมรดกสืบลูกหลาน

         ทรงเลิศดนตรีเสนาะ         เพลงไทยเพราะทรงขับขาน

ระนาด ซอ คลอเพียงกาล           จะหยุดนิ่งเพราะพริ้งฟัง

         วัฒนธรรมทุกแขนง          พระดั่งแสงประทีปยัง

ทุกถิ่นประเทศทั้ง                     เจริญรุ่งอเนกอนันต์

         อีกทั้งศาสตร์อักษร          กาพย์ โคลง กลอนทรงประพันธ์

พระราชนิพนธ์ทุกเล่มนั้น             ทรงคุณค่าภาษาไทย

         ทรงเชื่อมนานาชาติ          ด้วยทรงปราชญ์แผ่กว้างไกล

เขตแคว้นดินแดนใด                  ยอพระยศยิ่งสรรเสริญ

         จึ่งขอน้อมเทิดองค์          พระดำรงยิ่งจำเริญ

พรเลิศพร้อมพรั่งเทอญ              เป็นมิ่งขวัญสยามชน

         จักขอภักดีถวาย             น้อมใจกายสถิตกมล

ดำเนินรอยพระบาทดล              ประสิทธิ์ประโยชน์เพื่อปวงไทย

         ข้าบาทราชภัฏ               ยอสองหัตถ์ถวายชัย

ก้มกราบพระบาทไท้                 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

                    ข้าพระพุทธเจ้า นายกรเพชร  เพชรรุ่ง   

ประพันธ์ถวาย เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร "เทพรัตนราชสุดา  สถาบันล้านนาศึกษา"มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

   ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ 

.............. 

             นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นครับ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด "อาคารเทพรัตนราชสุดา สถาบันล้านนาศึกษา" ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ และทรงทราบฝ่าละอองพระบาท ทรงรับเชิญเสด็จ และพระราชทานนามอาคารตามพระนามของพระองค์           

            สถาบันล้านนาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่นั้นได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๑ โดยจัดตั้งเป็นศูนย์คติชนวิทยาล้านนา เพื่อให้เป็นศูนย์รวบรวมและศึกษาวัฒนธรรมล้านนาครอบคลุมทุกด้าน            

           ต่อมามีการพัฒนาขึ้นและเปลี่ยนแปลงชื่อตามภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ ได้จัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด และในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของกรมการฝึกหัดครู

           เมื่อครั้งที่ตระกูลชุติมาและนิมมานเหมินท์ สร้างเรือนกาแลชื่อว่า "เรือนอนุสารสุนทร" มอบให้เป็นหอจัดแสดงเครื่องดนตรีล้านนาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น มหาวิทยาลัยก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเรือนอนุสารสุนทรและทรงปลูกต้นพิกุลไว้ ณ บริเวณด้านหน้าเรือนอนุสารสุนทรด้วย

          ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ ได้เปลี่ยนชื่อศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเป็นสำนักศิลปวัฒนธรรมและปี พ.ศ.๒๕๔๘ เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและแบ่งส่วนราชการใหม่ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ  ศูนย์ดังกล่าวจึงได้รวมภารกิจ ๓ ด้านไว้ด้วยกันและได้ชื่อใหม่ว่า "สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม" 

        ปี พ.ศ.๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการใหม่ เพื่อดำเนินภารกิจการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนา โดยอาคารหลังนี้ก่ออิฐถือปูนมีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมล้านนา สูง ๔ ชั้น โดยใช้งบประมาณประมาณ ๓๓ ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์ก่อสร้างเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาด้วย จึงได้ขอพระราชทานนามอาคารและกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร ความดังทราบแล้วข้างต้น

        อาคารเทพรัตนราชสุดา สถาบันล้านนาศึกษา  จัดเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาสำคัญๆ ได้แก่ หอจดหมายเหตุ  ห้องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ห้องหมอเมือง ห้องภูมิปัญญาต่างๆ ของล้านนา ห้องพระพุทธศาสนา ห้องเกียรติคุณแสดงประวัติและผลงานผู้มีคุณูปการแก่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนและบริการวิชาการต่างๆ อีกด้วย  ในช่วงแรกนี้ได้จัดแสดงนิทรรศการจำลองวิถีชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ลัวะ ไทยอง ไทยวน ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ใครสนใจก็มาศึกษาได้ทุกวันครับ

       นับเป็นมหามงคลยิ่งแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ครับ อาคารเทพรัตนราชสุดา หลังนี้ได้เริ่มต้นสืบสาน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมล้านนาของตนต่อไปอย่างสง่างาม ทั้งนี้เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ซึ่งดำรงพระฐานะ "อัครราชศิลปินแห่งสยาม"และ "องค์อุปถัมภ์ในแวดวงศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง"                  

       

หมายเลขบันทึก: 160998เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2008 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท