จากแนวคิดสู่การพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร(1)


เนื่องจากอยู่ในช่วงทบทวนวิธีคิด ทบทวนงานที่ได้ทำมาแล้วเมื่อปี2550

สรุปผลการปฏิบัติงานจากแนวคิดสู่การพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร

   ในห้วงระยะเวลานานหลายสัปดาห์ ที่ห่างเหินจากการบันทึกความรู้ลงใน Blog เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกและเครือข่ายชาว G2K   เนื่องจากอยู่ในช่วงการทบทวนวิธีคิด  ทบทวนงานที่ได้ทำมาเมื่อปี 2550   ซึ่งได้ผ่านพ้นไปแล้ว ว่า ตัวเราทำงานอะไรไปแล้วบ้าง   มีสิ่งไหนที่เราทำไปแล้วได้บรรลุเป้าหมาย  และยังมีสิ่งไหนบ้างที่เราทำไปแล้วแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร   และสิ่งไหนที่ได้รับเป็นองค์ความรู้ใหม่   ซึ่งในปัจจุบันถ้าเริ่มนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 เป็นต้นไป เราจะวางแนวทางการทำงานของเราอย่างไรในเชิงอนาคต หรือพูดง่ายๆก็คือ คิดทำงานในเชิงอนาคตนั่นเองครับ   ซึ่งเป็นการท้าทายการทำงานของเรา โดยเราได้ตั้งเป้าหมายงานที่เราอยากจะทำและเราอยากจะเห็นความเป็นไปได้ ในการพัฒนาบุคลากร พัฒนางาน และการพัฒนาองค์กร ตลอดจนการพัฒนาสังคม  แต่มันอาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามนั่นคือศักยภาพของเรา  ที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กร และสังคม ซึ่งมีงานไหนบ้างที่เราต้องศึกษาเพื่อการพัฒนาต่อยอดอีกระดับหนึ่งนั้นก็พอจะมองเห็นเป้าหมายการทำงานของเราในมิติใหม่นั่นเองครับ

  

           ต้องยอมรับว่าในรอบปี 2550  การพัฒนางานในระดับองค์กร และระดับชุมชน   จากประสบการณ์ในการได้สัมผัสและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรในภาคประชาสังคม   ภาครัฐ  เกษตรกร  และชุมชน  ยังมีความเข้าใจในมุมมองของการทำงานที่แตกต่างกัน แต่ก็มีอยู่บางส่วนที่มีมุมมองที่คล้ายๆกัน  จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พอที่จะสรุปให้เห็นเป็นขั้นของการพัฒนาดังนี้

   

             1.การปรับแนวคิดของบุคลากร  น่าจะเป็นข้อยืนยันว่าการปรับแนวคิด หรือการปรับวิธีคิด เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาคน ทุกคนจะมีกรอบแนวคิดของตนเอง บางท่านก็นำปัญหาและอุปสรรคของตนเองมาเป็นกรอบแนวคิดนำของตนเอง ไม่ว่าจะพูดในเวทีไหนก็ตามจะนำปัญหา อุปสรรคมานำเสนอตลอด บางท่านที่มีการพัฒนากรอบแนวคิดของตนเองมาแล้ว  ซึ่งพูดในเชิงบวกหรือที่เรียกว่าเชิงสร้างสรรค์ โดยจะหลีกเลี่ยงการพูดเชิงขัดแย้งตลอด โดยจะนำเอาวิธีคิดที่เรียกว่าHowto   คือทำอย่างไรเป็นตัวนำ ในสภาวะปัจจุปันจะเหมาะสมที่นำวิธีคิดแบบนี้มาใช้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือการที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกันนั่นเอง  หากยังมีบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กรยังไม่ปรับวิธคิดไปในทางเชิงบวกมากขึ้นซึ่งยังยึดติดวิธีคิดแบบเดิมๆและยังไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นก็จะทำการพัฒนางาน และองค์กรคงเป็นไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ณ.ปัจจุบันยังมีความจำเป็นที่ต้องช่วยกันพัฒนา ให้เกิดการเรียนรู้แก่ทีมงานหรือบุคลากรในองค์กรให้มากขึ้นและต่อเนื่อง จึงจะสามารถพัฒนาวิธีคิดของบุคลากรได้   แต่ข้อสำคัญเราต้องเริ่มต้นพัฒนาที่ตัวเราให้ได้ก่อนนะครับ

   

               2. การเรียนรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อกำหนดเป้าหมายงานที่จะทำ    การที่เราจะกำหนดเป้าหมายงานที่จะทำใดๆก็แล้วแต่   ต้องยึดอยู่บนฐานของข้อมูล  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ  และอยู่ที่บริบทของชุมชนนั้นๆ หากเราได้เข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชมชุน คนที่อยู่ในชุมชน เขาจะทราบข้อเท็จจริงรู้ทรัพยากร รู้จุดอ่อนจุดแข็ง ข้อจำกัด และโอกาส ที่ค่อนข้างจะเป็นจริง ยิ่งการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร การพัฒนาพืชปลอดภัย การพัฒนาอาหารที่ปลอดภัย หรือการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ก็ตาม   หากบุคลากร ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ลงไปเรียนรู้กับผู้ผลิตที่อยู่ในชุมชนแล้ว จะขาดข้อมูลที่สะท้อนถึงความเป็นจริง  หากมีการศึกษาเป็นกรณี หรือมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ก็จะสามารถนำผลของการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล  เพื่อนำไปใช้ประกอบการกำหนดเป้าหมายงานที่จะทำ สามารถบอกพื้นที่ผลิตอยู่ที่ไหน  ผู้ผลิตในชุมชนมีใครบ้าง และที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพมีหรือไม่เป็นต้น   ตลอดจนมีทักษะในการใช้เครื่องมือเชิงคุณภาพเป็น    หากพูดง่ายๆก็คือจะต้องมีประสบการณ์ในการลงพื้นที่ และเคยสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาแล้วระดับหนึ่งรู้และเข้าใจกับการสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นั่นหมายถึงวิทยากรกระบวนการ(Facilitater)

   

                   3.การสร้างทีมงานและการพัฒนาบุคลากร   เป็นหัวใจที่สำคัญว่าการที่เราจะเริ่มต้น ขับเคลื่อนงานที่จะทำ อยู่ที่ทีมงาน แต่ทีมงานต้องมาจากความสมัครใจ มิได้มาจากการเสนอชื่อหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน สุดท้ายก็จะมีประธานกับเลาขานุการเท่านั้น แต่ที่สำคัญจะต้องมาจากการลงAction  ในพื้นที่และชุมชนจริงเป็นต้น มีความสัมพันธ์ และติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ พูดคุยกันอยู่บ่อยๆ ถึงจะพัฒนาไปสู่ Team work  ได้ และมีส่วนร่วมในขั้นของการพัฒนาและลงAction มาด้วยกันตั้งแต่ขั้นที่1มาแล้ว หรืออาจจะมีทีมงานบางท่านไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ขั้นแรกมาด้วยกัน  หากใจเปิดก็จะสามารถปรับวิธีคิดไปเป็นเชิงบวกได้เช่นกัน แต่อาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน  เพราะฉะนั้น การลงปฏิบัติงานในพื้นที่ร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิต ชุมชน ภาคีเครือข่าย ในเวทีจริง เกิดการพูดคุยกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดความสัมพันธ์กัน และมีการสื่อสารถึงกันย่อมพัฒนาไปสู่ทีมงาน การลงพื้นที่ปฏิบัตินั้น อาจจะรวมที่ทีมปฏิบัติในพื้นที่และนอกพื้นที่ เป็นต้น

  

         นอกจากจะฝึกพัฒนาวิธคิดเป็นเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์แล้ว  จะต้องมีการพัฒนาไปสู่ความคิดเชิงระบบ มองถึงความเชื่อมโยงของข้อมูลอย่างเป็นระบบ      สามารถวิเคราะห์ สถานการณ์ประกอบด้วย  InPut   Process   Output  และ Outcome    บทเรียนที่ผ่านมาเป็นตัวที่สะท้อนบอกความเป็นจริง การที่เราจะพัฒนาทีมงานให้เข้าใจถึง หัวใจนักปราชญ์ คือ  ฟังเป็น  คิดเป็น    ถาม/กระตุ้นเป็น  สุดท้ายก็คือ เขียนและบันทึกเป็นหรือที่เรียกสั้นๆว่า สุ จิ ปุ ลิ  นั่นเองครับ

  

              การเปิดใจเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าการนำการวิจัยและพัฒนา    การนำการจัดการความรู้ เข้ามาสวมในงานที่ปฏิบัติ เราลงมือปฏิบัติจริง เราได้เรียนรู้  จึงเป็นผลที่ไปเสริมหนุนในการปรับวิธีคิด และเสริมหนุนในการสร้างและพัฒนาทีมงานให้มองโลกไปในทางบวกได้  นี่เป็นข้อยืนยัน

   

                  4.  การสร้างและพัฒนาระบบการทำงาน     ในขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง ก็คือการสร้างกระบวนการทำงานในระดับองค์กร หากบุคลากรในองค์ยังไม่เข้าในกระบวนการทำงานว่าจะเริ่มต้นทำงานทำอะไรก่อนหลัง แสดงว่าไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่1-3 ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะมองไม่เห็นว่าจะเริ่มต้นทำงานกันอย่างไร ซึ่งจะรอแต่การสั่งการตาม Topdown ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเดิมขององค์ภาครัฐในอดีตนั่นเอง ซึ่งไม่ส่งเสริมให้องค์หรือบุคลากรในองค์กรได้เกิดการเรียนรู้และคิดงานเอง โดยมุ่งแต่จะยึดกฎระเบียบเป็นตัวนำ และไม่พยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานแบบBottom up   แต่ในองค์กรของเราก็มีการพัฒนาและสร้างระบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรขององค์กร ซึ่งบุคลากรทุกระดับได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมและได้มีการทดลองในการปฏิบัติมาแล้ว ไม่ว่าเราจะไปร่วมเวทีไหน ก็จะไม่หลุดตัวระบบที่เราได้ยึดถือปฏิบัติกันมายาวนานพอสมควร แต่ก็มีพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่และชุมชน  ที่จะต้องมีการพัฒนาตัวระบบไปอีกขั้นหนึ่ง

                 ในการปฏิบัติงานในระบบที่ผ่านมาพบว่าก็มีอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนระบบมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แต่ทีมงานก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราได้รับการพัฒนามาตามขั้นที่1-4 แล้ว จึงทำให้มีกำลังใจ หรือมีพลังในการทำงาน และพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร เพื่อองค์กร เพื่อเกษตรกร เพื่อชุมชนเกษตร และสังคม ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งซึ่งจะได้กล่าวถึงในการพัฒนาระบบในตอนต่อไป(โปรดติดตามอ่านตอน2นะครับ) 

หมายเลขบันทึก: 160226เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2008 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท