BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประทีป


ประทีป

คำนี้ในภาษาไทยแปลกันว่า สว่าง หรือบางครั้งก็อาจหมายถึง แหล่งกำหนดของแสงสว่างต่างๆ เช่น เทียน ตะเกียง ดวงไฟ เป็นต้น... และบางครั้งก็อาจใช้ประสมว่า แสงประทีป นั้นคือ แสงสว่าง หรือ แสงจากดวงไฟ ....

คำว่า ประทีป เขียนตามบาลีว่า ปทีป โดยมี ป. เป็นอุปสัคนำหน้า ทีป รากศัพท์  (ป + ทีป = ปทีป)

  • ป          = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก
  • ทีป      = แสดง, เห็น

 เมื่อนำรากศัพท์และอุปสัคมาผสมกัน คำว่า ปทีป (ประทีป) จึงอาจยักย้ายความหมายไปได้เยอะแยะ เช่น...

  • แสดง  +  ทั่ว
  • เห็น     +  ข้างหน้า
  • แสดง  +  ก่อน
  • เห็น     +  ออก
  • ....ฯลฯ...

ส่วนคำว่า ปทีป นี้ ในภาษาบาลี นอกจากจะแปลว่า แสงสว่าง หรือ ดวงไฟ ตามความหมายในภาษาไทยแล้ว บางครั้งก็แปลตรงตัวว่า เห็น หรือ แสดง .... แต่บางครั้งก็อาจแปลว่า ปัญญา ที่พึ่ง หรือ เกาะ ได้อีกด้วย...

อนึ่ง ปทีบ นี้ ในบาลี บางครั้งก็ใช้เพียง ทีป (ไม่มี ป. นำหน้า) แต่ความหมายก็ไม่แตกต่างกันนัก ซึ่งในหนังสือแปลบาลีเป็นไทยบางเล่มก็แปลยกศัพท์ว่า ทีโป อันว่าดวงประทีบ  เป็นต้น

.................

ผู้เขียนจะนำความเห็นในความหมายที่แปลว่า ดวงไฟ (แสงสว่าง) ปัญญา ที่พึ่ง และ เกาะ มาเล่าเป็นการประเทืองความคิดเล่นๆ ในบันทึกครั้งนี้...

ปทีป ในความหมายว่า ดวงไฟ หรือ แสงสว่าง นั้น ก็คือ สิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นนั่นเอง ดังอรรถวิเคราะห์ว่า...

  • ปทีเปติ เตนาติ ปทีโป
  • บุคคล ย่อมเห็น ด้วยสภาพนั้น ดังนั้น สภาพนั้น ชื่อว่า ปทีป (เป็นเครื่องเห็น)

นั่นคือ ถ้าไม่มีดวงไฟที่ก่อให้เกิดแสงสว่าง หรือไม่มีความสว่างแล้ว คนเราก็ไม่สามารถจะมองเห็นอะไรได้ (แม้ตาจะไม่บอดก็ตาม) ดังนั้น คำว่า ปทีป จึงหมายถึง ดวงไฟ หรือ แสงสว่าง....

...........

ปทีป ในความหมายว่า ปัญญา นี้ เป็นการเปรียบเทียบว่า แสงสว่าง ทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ฉันใด เมื่อคนเรามีปัญญาก็สามารถทำให้เรามองเห็นลู่ทางในการดำเนินชีวิตฉันนั้น นั่นคือ เปรียบเทียบว่า แสงสว่างคือปัญญา....

เมื่อถือเอาตามข้อเปรียบเทียบ ก็อาจแปล ปทีป ว่า ปัญญา ได้ โดยพิจารณาข้อความในประโยคนั้นๆ เป็นเกณฑ์.... 

อนึ่ง ความเห็นว่า แสงสว่างคือปัญญา นี้ ผู้เขียนรู้สึกว่าจะเป็นความเข้าใจร่วมกันของเหล่าชนทุกชาติศาสนาและทุกยุคสมัย

.............

ปทีบ ในความหมายว่า ที่พึ่ง นี้ อาจขยายความได้ ๒-๓นัย นัยแรกก็คือ เมื่อไม่มีแสงสว่าง เกิดความืดมิดขึ้นมา คนเราจะรู้สึกกลัว แต่เมื่อมีแสงสว่าง ความขลาดกลัวในเพราะความมืดก็จะค่อยๆ ผ่อนคลายและหายไป ดังนั้น ปทีบ (แสงสว่าง) จึงใช้ในความหมายว่า ที่พึ่ง ได้

และนัยนี้ อาจขยายอีกประเด็นได้ว่า ดวงไฟ อาจป้องกันสัตว์ร้ายได้ (ดังเช่นเมื่ออยู่กลางป่า) ดังนั้น การได้ดวงไฟก็เหมือนกับการได้ที่พึ่ง... ตามนัยนี้ ปทีบ (ดวงไฟ) จึงใช้ในความหมายว่า ที่พึ่ง ได้...

อีกนัยหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบต่อไปอีกชั้นหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบว่า ปัญญาคล้ายๆ กับแสงสว่างทำให้เรามองเห็นลู่ทางในการดำเนินชีวิตแล้ว ดังนั้น การได้ปัญญาก็เหมือนกันการได้ที่พึ่งในการดำเนินชีวิตได้ นั่นคือ ปทีป (ปัญญา) จึงใช้ในความหมายว่า ที่พึ่ง ได้ ....

...................

และ ปทีป ในความหมายว่า เกาะ นี้ ก็อาจขยายความได้หลายนัยเช่นเดียวกัน ทำนองว่า เมื่อเราล่องลอยอยู่กลางทะเล หรือมหาสมุทร ก็ย่อมจะไม่มีที่พึ่ง แต่เมื่อเจอเกาะกลางทะเล ก็อาจทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ปทีป (ที่พึง) จึงอาจหมายถึง เกาะ ก็ได้ สำหรับผู้ที่ล่องลอยไร้ที่พึ่งอยู่กลางทะเล... ทำนองนี้

อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามรูปศัพท์ อุปสัค แปลว่า ข้างหน้า ส่วน ทีป แปลว่า เห็น ดังนั้น ปทีป ก็อาจแปลว่า เห็นข้างหน้า ได้... นั่นคือ เมื่อเราเดินทางในมหาสมุทร อาจมองไม่เห็นอะไร แต่คราวใดที่เราเห็น เกาะ นั่นก็คือ ปทีป ซึ่งแปลว่า ถูกเห็นข้างหน้า ดังอรรถวิเคราะห์ว่า....

  • ปุรโต ทีปิยเตติ ปทีโป
  • แผ่นดินใด อันชาวเรือ ย่อมเห็น ข้างหน้า ดังนั้น แผ่นดินนั้น ชื่อว่า ปทีป (ถูกชาวเรือเห็นข้างหน้า)

...........

เมื่อแรกเรียนบาลี ผู้เขียนก็สงสัยว่า ทำไมบางศัพท์จึงแปลได้หลายนัย... ต่อมาได้เจอคำอธิบายและขยายความก็พอคลายสงสัยได้บ้าง... บางศัพท์ที่ยังไม่เจอคำอธิบายก็อาศัยจดจำความคิดเห็นจากครูบาอาจารย์หรือเพื่อนๆ.... และบางครั้งผูเ้ขียนก็อาศัยคิดเอาเองเล่นๆ...

อาจารย์สอนตรรกศาสตร์มักจะบอกว่า สมเหตุสมผล ก็พอฟังได้....  

 

หมายเลขบันทึก: 160077เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

ไม่ได้แวะมาอ่านพักหนึ่งค่ะ วันนี้ได้โอกาสยามเช้าวันอาทิตย์ ได้มาฟังธรรมเรื่อง ปทีป พอดี นับเป็นบุญค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ 

P

กมลวัลย์

 

ก็เข้าไปเยี่ยมบล็อกของอาจารย์อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ไม่สะดุดใจบางอย่าง จึงไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้.... 

สำหรับบันทึกนี้... เมื่อลองอ่านซ้ำ รู้สึกว่า อาตมาจะเล่าแบบรวบรัดไปหน่อย ไม่ค่อยชัดเจนนัก...ถ้าขยายเป็นความหมายละ ๑ บันทึก ก็อาจชัดเจนยิ่งขึ้น....

แต่ ถ้าถือว่า่ เขียนให้คนฉลาดอ่าน มิใช่เขียนให้คนโง่อ่าน (จำคำแก้ตัวของอาจารย์บางท่านมา....) นั่นคือ แต่ละความหมาย ผู้อ่านอาจขยายกรอบความหมายได้เอง.... ประมาณนั้น

 

เจริญพร

กราบนมัสการอีกครั้งค่ะ

ชักจะป้ำๆ เป๋อๆ เมื่อเช้าเปิดทีวีได้ฟังเทศน์ทางทีวี ก็คิดไปทันทีว่าวันนี้เป็นเช้าวันอาทิตย์ กลับมานึกดูอีกที ถึงรู้ว่าเป็นวันเสาร์ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้นึกถึงวัน เวลา ว่าเป็นวันที่เท่าไหร่ หรือวันอะไรเท่าใดนัก ไม่ค่อยเห็นความสำคัญ ไปทำงานตามที่กำหนดตามปกติ ไม่คิดว่าเป็นวันอะไรทั้งสิ้น แต่จริงๆ แล้วก็อาจจะเป็นได้ว่าคือไม่จำ หรือไม่ก็ขี้ลืมค่ะ  ^ ^

สำหรับตัวเองแล้ว บันทึกนี้ชัดเจนดีค่ะ อ่านแล้วเข้าใจความหมายพื้นฐานของ ปทีป ตามที่หลวงพี่อธิบายไว้ค่ะ 

กราบนมัสการ พระคุณเจ้า

ขอมาเก็บเกี่ยวภาษาบาลี แห่งพระธรรม เพื่อเป็นแสงประทีบส่องทาง นำพาชีวิตไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง และนำพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติเป็นที่พึ่งทางใจ เพื่อความสุขของชีวิตนิจนิรันดร์

จะแอบมาเก็บเกี่ยวพระธรรม นำทาง ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า..

P

 

กมลวัลย์

แสดงว่า อาจารย์เป็นคนฉลาด (..................) โดยส่วนตัวแล้ว...

  • เขียนหนังสือ ก็กังวลเสมอว่า ผู้อ่านจะไม่รู้เรื่อง.....
  • สอนหนังสือ ก็กังวลเสมอว่า ผู้เรียนจะไม่รู้เรื่อง....

แต่ เวลาแก้ตัวมักจะมีมุขแปลกๆ ที่จดจำจากครูมาใช้เสมอ เช่น อาตมาเขียนหนังสือไวตามใจนึก แต่อักษรจะหวัด อ่านค่อนข้างยาก เมื่อนักเรียนบ่นว่า อ่านไม่ค่อยออก สำนวนหนึ่งที่มักจะใช้คือ อ๋อ ! เขียนให้คนฉลาดอ่าน...

ครั้งหนึ่ง มีนักเรียนรูปหนึ่ง (สามเณร) ยกมือขึ้นพลางบอกว่า อาจารย์ ! ผมโง่ ครับ ! เมื่อถามว่า ทำไม ? นักเรียนก็บอกว่า เพราะผมอ่านไม่ออก !

เจริญพร 

P

บัวปริ่มน้ำ

 

อนุโมทนาในกุศลเจตนา....

ดูชื่อว่า บัวปริ่มน้า  ก็คงจะใกล้ๆ จะบานแล้ว ถ้าเทียบกับดอกบัว ๔ เหล่า ก็จัดอยู่ในประเภท วิปปจิตัญญ นั่นคือ รอแสงอาทิตย์อีก ๑-๓ วันก็จะบาน... ประมาณนั้น

เจริญพร

 

 

ขอบพระคุณ พระคุณเจ้า ค่ะ

อยากให้ขยายความให้ฟัง เพื่อเป็นวิทยาทาน ค่ะ คำว่า "บัวปริ่มน้ำ"

ตัวเองรู้สึก ฟังแล้วชอบ จึงใช้นามแฝงนี้ แต่โดยส่วนตัวยังไม่ค่อยเข้าใจนัก

ขอบพระคุณค่ะ

 P

บัวปริ่มน้ำ

 

มีผู้อธิบายไว้เยอะแล้ว ลองเลือกอ่านที่นี้ หัวข้อวิปปจิตัญญู

ส่วนเรื่องดอกบัว เคยเขียนเล่าไว้ ที่นี้ ปทุม 

เจริญพร

ขอบพระคุณ พระคุณเจ้า ค่ะ

 

ครับท่านอาจารย์เห็นด้วยเพราะบาลีแปลได้มากความหมายเข้าหลักที่ว่ารู้มากแปลได้เป็นร้อยแต่ถ้ารู้น้อยแปลได้นัยเดียว...บาลีก็เหมือนเครื่องมือนั่นแหละบางอย่างใช้ได้สารพัดประโยชน์อยู่ที่สถานะการณ์เวลาและโอกาส...บาลีก็เหมือนกันอยู่ที่รูปประโยคเหตุการณ...แต่บางศัพท์ก็ตายตัวพลิกแพลงไม่ได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท