ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

อาหารใส่บาตร


In Gourmet & Cuisine, September 2007

     เรื่องนี้หยิบยกมาเขียนเพราะดูรายการคดีเด็ดทางทีวีค่ะ 

     รายการนี้นำประสบการณ์ในชีวิตจริงของบุคคลต่างๆ มาเสนอ โดยสร้างเป็นละครสั้นๆ...

     ปรากฏว่าตอนหนึ่งเป็นเรื่องของคนที่นำแตงโมทั้งลูกมาใส่บาตร และอีกตอนเป็นคนที่ตักบาตรด้วยข้าวต้มร้อนๆ !?!

     ลองนึกภาพเอาเองนะคะว่าจะทุกลักทุเลขนาดไหนทั้งพระทั้งฆราวาส นี่คือ การทำบุญโดยสร้างทุกข์ให้แก่พระภิกษุที่รับบิณบาตอย่างมาก เพราะอาหารชนิดแรกมีน้ำหนักมากและขนาดใหญ่จนคับบาตร ส่วนอีกชนิดก็ทำร้ายร่างกายพระภิกษุโดยตรง เนื่องจากต้องอุ้มบาตรร้อนๆ ก็บาตรพระทำจากโลหะและไม่มีฉนวนกันความร้อนแต่อย่างใดเลยนี่คะ

     การตักบาตรเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถือว่าเป็นการสร้างกุศลให้ตนเอง และแผ่ส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ยุคนี้วิวัฒนาการทางภาษาใช้เรียกว่า ใส่บาตรได้ เพราะอาหารที่จัดมาถวายในสมัยนี้อยู่ในถุงหรือบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยไม่ต้อง ตักด้วยทัพพีเหมือนสมัยก่อน

     พระภิกษุที่ออกบิณฑบาตต้อง "รับทาน" ที่คนให้ทั้งหมดค่ะ เลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้ จะบอกว่าต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็ไม่ได้ ฉะนั้นแตงโมทั้งลูกหรือข้าวต้มร้อนๆ ก็ต้องรับสิคะ

     ความจริงมีเหมือนกันที่พระภิกษุไม่สามารถรับได้ อาทิ อาหารที่พระภิกษุรู้ว่าคนนำมาถวายได้มาด้วยวิธีการทุจริต เนื้อสัตว์ต้องห้ามบางชนิด ผลไม้ที่ยังมีเมล็ดติดอยู่ และวัตถุดิบต่างๆที่ใช้ในการทำอาหาร

     สมัยนี้เรื่องผลไม้มีเมล็ดกับวัตถุดิบในการปรุงอาหารก็อนุโลมให้รับได้ เพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุคนี้ เพราะเร่งรีบจนไม่มีเวลามานั่งคว้านเมล็ดออก และหลายวัดมีโรงครัวที่จัดฆราวาสมาทำอาหารเลี้ยงพระ

     อาหารที่นำมาใส่บาตรนั้น คนส่วนใหญ่ถือว่าจะต้องเป็นของที่ดีที่สุด บางคนมีความเชื่อส่วนตัวว่า ข้าวที่ถวายพระนั้นต้องเป็นข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ร้อนๆ ยิ่งข้าวร้อนเท่าไหร่บุญกุศลจะยิ่งแรงมากขึ้นเท่านั้น ?!?

     ความเชื่อแบบนี้ก็คงจะดีอยู่หรอกค่ะ ถ้าเป็นการทำอาหารเลี้ยงพระ ไม่ใช่การใส่ข้าวร้อนๆ ลงในบาตร จะว่าไปแล้วอาหารอะไรที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ก็ไม่ควรใส่บาตรทั้งนั้น

     ยุคนี้มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใส จัดอาหารเป็นชุดๆ ไว้ให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการใส่บาตร ซึ่งก็คงจะไม่ได้ของที่ดีที่สุดอย่างที่หวัง แถมยังอาจเจอบางรายที่นำอาหารค้างคืนหรือหมดอายุมาขายด้วย จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

     การทำบุญตักบาตรให้ได้บุญแท้จริงอยู่ที่ใจผู้ถวาย คือรักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง และจิตใจยินดีเบิกบานในสิ่งที่ได้ทำไป

     ก่อนใส่บาตรสิ่งที่คนเรามักทำกันคือ การอธิษฐานแล้วจึงถวายอาหารบิณฑบาต ถ้ามีดอกไม้ธูปเทียนก็ถวายหลังสุด โดยวางไว้บนฝาบาตรเมื่อพระท่านปิดบาตรแล้ว

     ใครอธิษฐานว่าอย่างไรก็แล้วแต่คนค่ะ ถ้ายึดถือคำสอนของพระพุทธองค์ก็ต้องอธิษฐานเพื่อนิพพาน ใครตั้งใจจะแบ่งบุญไปให้คนที่ตายไปแล้วชนิดส่งตรงให้นั้น พระท่านว่ามีแต่เปรตวิสัยเท่านั้นที่รับได้

     ถ้าเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือเทวดา จะได้บุญก็ต้องเป็นบุญที่เกิดจากการรับรู้และมีจิตยินดีในการทำดีของเรา ฉะนั้นเวลาอธิษฐานก็ต้องบอกให้รับทราบไว้ หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จก็บอกคนรอบข้างด้วย เป้าหมายคือเพื่อให้ร่วมอนุโมทนาด้วยกัน

     ครั้งต่อไปที่มีโอกาสทำบุญตักบาตร ช่วยพิจารณาเลือกอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และเหมาะสมกับพระภิกษุสามเณรด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 159951เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2008 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ตอนเด็กๆๆเป็นเด็กวัด
  • เจอเกลือในบาตรพระ
  • ใส่มากับข้าวสวย
  • ฮือๆๆๆ
  • ดีกว่าเจอเหรียญบาทหน่อยครับ
  • พระต้องเอามาแยกข้าวก่อนฉัน
  • สงสารพระ
  • จะได้บุญหรือบาปก็ไม่ทราบ
  • ป้าเจี๊ยบสบายดีไหมครับ คิดถึงๆๆ

สวัสดีค่ะป้าเจี๊ยบ

การตั้งใจดี เป็นเรื่องดีนะคะ แต่ความเหมาะสม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เห็นด้วยมากๆ ที่ไม่ทำให้พระท่านลำบากค่ะ

คิดถึงนะคะ ไม่ค่อยแวะไปเลยค่ะ

ดิฉันเคยไปยืนดูแม่ค้าขายของใส่บาตรพระที่ตลาดบางแค มีพระภิกษุยืนอยู่ข้าง ๆ แม่ค้า คนใจบุญซื้อของแม่ค้าใส่บาตร พอขายหมดก็นำอาหารที่ขายไปแล้ว และคนใจบุญใส่บาตรแล้วจากพระภิกษุรูปเดิมมาขายใหม่ เห็นแล้ว....เฮ้อ....ดิฉันอดไม่ได้หลุดปากไปว่า อย่างนี้เลยเหรอ!!!

จะใช่พระจริงหรือเปล่า? แต่สำหรับคนที่ต้องการทำบุญ/ทำทานจริงๆ ก็คงไม่เป็นไร เพราะใจต้องการ "ให้"

ธุป้าเจี๊ยบค่ะ..

ต้อมเป็นคนที่ค่อนข้างไกลวัดพอสมควรเมื่อโตขึ้น สมัยยังเด็กก็ใส่บาตรทุกวัน แถวบ้านใส่ข้าวเหนียวในบาตรพระ และจะแยกกับข้าวกับปลาหรือประเภทผักผลไม้ให้เด็กวัดที่เดินลากรถเข็นตามพระ

โตเป็นสาว..ก็ไม่ค่อยได้ใส่บาตร แต่ปีหนึ่งๆ ก็ขอไปใส่บาตรในปริวาสกรรม ที่มีพระสงฆ์จำนวนเยอะๆ มาเข้ากรรม แล้วตอนเช้าจะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรอาหารแห้ง เช้าหนึ่งๆ จะมีพระสักสองร้อย-สี่ร้อยรูป ให้เราได้ใส่บาตรหมุนเวียนกันไป ต้อมก็เลยถือว่า(ถือเอาเอง)ใส่บาตรครั้งเดียวเหมือนคุ้มไปทั้งปี(365 วัน)

ตอนนี้..4 ปีมาแล้วที่ต้อมไม่เคยได้ทำบุญตักบาตรเลย รู้สึกห่อเหี่ยวเหมือนกันค่ะ แต่ปลอบใจว่าก็ทำทานบ้างนี่นา

หนูเห็นด้วยค่ะ เพราะหนูเป็นคนชอบใส่บาตรตอนเช้า และจะอุทิศส่วนบุญไปให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท