เศรษฐกิจชุมชน 4 กรณีศึกษา


ผมเล่าแล้วว่าวันที่19-20ก.ค.มีรายการสัมมนา"วิจัยท้องถิ่นกับการพัฒนาภาคใต้"ที่ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยผมทำหน้าที่สรุปความในห้องย่อยเรื่อง"เศรษฐกิจชุมชน"
วันนี้จะเอาที่สรุปมาเล่าให้ฟังครับ

4 กรณีศึกษา เป็นกลุ่มการเงินชุมชน 2 แห่ง และอาชีพหัตถกรรม 2 แห่ง
กลุ่มการเงิน 1 แห่งมาจากนโยบายของรัฐบาลคือ กองทุนหมู่บ้านที่บ้านราบอ ต.ปิตุมุดี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อีกแห่งหนึ่งเป็นการริเริ่มขึ้นเองของชาวบ้านโดยได้ความรู้และรูปแบบการดำเนินงานเรื่องธนาคารหมู่บ้านจากโครงการอีสานเขียว แล้วนำมาจัดตั้งขึ้นที่บ้านทุ่งคอกควาย ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช
สำหรับกลุ่มทอผ้าบ้านเนินธัมมัง อ.เชียรใหญ่ และบ้านไสถิน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ศิลปาชีพ ส่วนการผลิตหมวกครอบศรีษะ(กะปิเยาะห์)ได้รูปแบบมาจากการไปแสวงบุญที่เมกกะ ประเทศซาอุดิอารเบีย ทั้งสองผลิตภัณฑ์ได้รับการหนุนเสริมจากนโยบายOTOPของรัฐบาล

ทั้ง 4 กรณีมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มความหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการต่อยอดการดำเนินงานเรื่องการเงินไปทำกลุ่มอาชีพในกรณีของธนาคารหมู่บ้านบ้านทุ่งคอกควาย

3 กรณีศึกษาคือ กองทุนหมู่บ้าน ผ้าทอยกดอก และผ้ากะปิเยาะห์ นำเสนอกระบวนการวิจัยที่เข้าไปสร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการยกระดับการดำเนินงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยชุดประสบการณ์ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสนับสนุนโดยสกว.ที่ให้ชุมชนเป็นผู้ตั้งโจย์วิจัย ทบทวนประสบการณ์ ศึกษาสภาพชุมชน และตัวอย่างความสำเร็จจากภายนอก รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องท่ามกลางการปฏิบัติโดยการติดตามสนับสนุนของพี่เลี้ยงคือโหนดประสานงานของสกว.ท้องถิ่นและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในกรณีของกองทุนหมู่บ้านและผู้ผลิตกะปิเยาะห์ สำหรับผ้าทอยกดอกที่นครศรีธรรมราชนั้นเป็นชุดโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ดำเนินการโดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
กรณีของธนาคารหมู่บ้านทุ่งคอกควายเป็นการสนับสนุนเชิงพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานของกลุ่มการเงินไปทำกลุ่มอาชีพเพิ่มเติมคือ กลุ่มเลี้ยงหมู โรงสี และตลาดชุมชน โดยการสนับสนุนของโครงการเสริมสร้างชุมชนเป็นสุขที่ปักษ์ใต้(ดับบ้านดับเมือง)

ผลที่เกิดขึ้น

1)กองทุนหมู่บ้านราบอเล่าว่า มีบทเรียนความล้มเหลวเรื่องกองทุนหมุนเวียนสร้างส้วมของยูนิเซพ ตอนได้รับเงินล้านก็ไม่มีความรู้และไม่มั่นใจว่าจะทำให้เงินหมุนเวียนได้อย่างไร แต่หลังจากได้ร่วมในกระบวนการวิจัย ทำให้การดำเนินงานโปร่งใส สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ สมาชิกมีความเชื่อมั่นกลุ่ม และได้รับการจัดอันดับโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนเป็นที่ 1 ระดับตำบล และที่ 2 ระดับอำเภอ ได้รับเงินสนับสนุนสร้างอาคาร เป็นที่ทำการกลุ่มอาชีพและการสอนศาสนาจากอำเภอ ซึ่งเป็นความภูมิใจของกลุ่ม

2)กลุ่มผู้ผลิตกะปิเยาะห์ได้สำรวจข้อมูลผู้ผลิต เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย พัฒนาระบบจัดการทั้งด้านการผลิต และการตลาด เปิดร้านจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ จนสามารถยกระดับเป็นคู่ค้ากับต่างประเทศโดยตรง โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ มีเงินกำไรปันผลให้สมาชิกและจัดสรรเงินซะกาดช่วยเหลือผู้ด้วยโอกาส

3)กลุ่มผ้าทอยกดอกได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ พัฒนาผ้าย้อมสีธรรมชาติ สร้างเครือข่ายกลุ่มทอผ้าทั้งผ้าสีธรรมชาติและสีสังเคราะห์ เพิ่มรายได้ให้สมาชิกจากการออกร้านและสั่งซื้อจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

4)มีการขยายผลจากกิจกรรมด้านการเงิน ไปทำกองทุนวิสาหกิจระดับตำบล ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน

เมื่อฟังทั้ง 4 กรณีจบ ผมสนใจว่า กระบวนการวิจัยและพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือโดยชุมชนดำเนินการเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยการศึกษาข้อมูลสภาพชุมชน สถานภาพของกลุ่ม ทบทวนประสบการณ์ วางแผนพัฒนา ศึกษาดูงานกรณีตัวอย่าง ศึกษาตลาด ปรับปรุงระเบียบ การบริหารจัดการ ดำเนินการ สรุปผล ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยใช้การประชุมปรึกษาหารือกันเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งทำให้ชุมชนค้นพบศักยภาพ เกิดความเชื่อมั่น เกิดภูมิคุ้มกันและมีความสามารถที่จะพัฒนากลุ่มของตนให้เติบโตเข้มแข็งอย่างมั่นคง

คำถามคือ ชุดประสบการณ์ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะสามารถดำเนินการจนกลายเป็นวิถีปฏิบัติโดยปกติของกลุ่มได้อย่างไร รวมทั้งจะสร้างการรับรู้และการเรียนรู้ในรายละเอียดเพื่อขยายผลให้เกิดการผลิตซ้ำผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องอื่น ๆและที่อื่น ๆอย่างกว้างขวางได้อย่างไร?

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1593เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2005 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท