นวัตกรรมอุดมศึกษา : วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน
วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จะมีสถานที่อยู่บนพื้นที่ 1,400 ไร่ที่ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ผู้ผลักดันแนวคิดคือปราชญ์แห่งภาคใต้ ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ โดยมีปรัชญาว่า
"สร้างกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญาชุมชน บูรณาการด้วยองค์ความรู้หลากหลาย เพื่อให้ทุกอนุภาคของวิทยาลัยเป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอันสำคัญ"
มีพันธกิจเป็นจุดประสานเชื่อมโยงเป็นพื้นที่ปฏิบัติการและกระบวนการส่งต่อในมิติต่อไปนี้
1. บูรณาการระหว่างนโยบายรัฐกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
2. บูรณาการระหว่างการผลิต "บัณฑิต" กับการสร้าง
"ความเป็นบัณฑิตย์"
3. บูรณาการระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับภูมิปัญญากระแสหลัก
4.
บูรณาการระหว่างมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สมสมัย
5. บูรณาการระหว่างบุคลากรและทรัพยากรภายในกับภายนอกวิทยาลัย
ติดต่อได้ที่ อ. สารูป ฤทธิชู ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน 074-693-976, 01-479-8202
ผมมีความเห็น (ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) ว่าสถาบันนี้ควรทำงานทั้งในรูปแบบที่ยึดติดพื้นที่ (1,400 ไร่ที่ ต.พนางตุง) และที่ไม่ยึดติดพื้นที่คือเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน และใช้หลักคิดว่าในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีชาวบ้านบางกลุ่มหรือบางคนมีวิธีปฏิบัติที่ดีเลิศ วิทยาลัยฝึกทักษะในการเข้าไปค้นหา (mapping) และนำมาจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบันทึก "ขุมความรู้" ไว้ แนวทางนี้เน้นที่ความรู้ปฏิบัติ
เรื่องที่จะดำเนินการก็เป็นไปตามแผนของวิทยาลัย คือเริ่มด้วยภูมิปัญญาศิลปการ, ภูมิปัญญาโภชนาการและเวชการ และภูมิปัญญาด้านสุขภาวะ (การจำเริญสติปัญญาและอารมณ์) โดยทางวิทยาลัยต้องตีความเป็นรูปธรรม ใช้ในการดำเนินการทำ mapping (คร่าว ๆ) และจัดกระบวนการ ลปรร.
ถ้าทางวิทยาลัยจะดำเนินการแนวนี้ในช่วงเริ่มต้นที่การพัฒนาพื้นที่ยังไม่เสร็จ ทาง สคส. ยินดีให้ความร่วมมือด้านเทคนิคกระบวนการครับ
วิจารณ์ พานิช
17 ก.พ.49