บนถนนแห่งความหวัง กำลังใจ แด่เธอผู้เป็นที่รัก ตอนที่ 2 สับสน เค้งคว้าง


เป็นเรื่องที่ทรมานจิตใจ หากสิ่งที่เราสงสัย ยังไม่มีคำตอบที่แท้จริง

             สามชีวิตได้นั่งรถไฟมุ่งหน้ามากรุงเทพฯ เมื่อมาถึงกรุงเทพฯคุณพ่อคุณแม่ก็มารับ เมื่อพ่อแม่ลูกเจอกันคงไม่ต้องบอกใช่ไหมคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่จะดีใจแค่ไหนที่ได้เจอลูกสุดที่รัก หลังจากที่กอดหอมทักทายกันจนชื่นใจแล้ว จึงได้พากันไปที่พัก

            พอถึงเช้าวันใหม่ คุณแม่ คุณตา คุณยาย ได้เตรียมตัวเพื่อพาน้องบาสไปพบคุณหมอ เพื่อที่จะได้รู้ว่าน้องเป็นอะไรถึงยังไม่พูดสักที

            คุณแม่ คุณตา คุณยาย และน้องบาสได้พากันไปโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง คุณแม่ก็ไปทำบัตร และบอกพยาบาลถึงอาการที่คุณแม่พาน้องมาพบคุณหมอ พยาบาลจึงได้ส่งน้องไปที่แผนกหู คอ จมูก ส่วนคุณตาคุณยายก็นั่งรอ น้องบาสก็นั่งส่งเสียงพูดไม่เป็นภาษาอยู่ข้างๆคุณตา เมื่อถึงคิวน้องบาสไปตรวจ คุณหมอพบว่าน้องเป็นต่อมทอลซิลอักเสบ จึงได้จัดยาและนัดมาพบใหม่อีก 1 สัปดาห์ (ด้วยความที่คุณแม่ยังไม่ได้บอกคุณหมอว่าสิ่งที่คุณแม่พาน้องมาหาคืออะไร และเผอิญน้องบาสมีไข้ ไอ) หลังจากตรวจกับคุณหมอเสร็จ คุณแม่น้องบาสก็ยังไม่รู้คำตอบว่าเพราะอะไรน้องบาสถึงยังไม่พูด ก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ ตอนนี้ก็ได้แต่เพียงรักษาอาการมีไข้ เจ็บคอของน้องให้หายก่อน อาทิตย์หน้ามาพบคุณหมอจะได้ถามสักที

             พอถึงวันนัดคุณแม่ก็พาน้องบาสมาพบคุณหมอ คุณหมอได้ทำการตรวจร่างกายแล้วบอกว่าน้องดีขึ้น คุณแม่ก็เบาใจและได้มีโอกาสปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการพูด ว่าเพราะอะไรน้องถึงยังไม่พูด คุณหมอจึงได้ทำการตรวจการได้ยิน โครงสร้างของปากและลำคอ พบว่าปกติ คุณหมอจึงได้ส่งน้องไปพบนักแก้ไขการพูด ซึ่งก็ต้องนัดก่อน มาถึงวันนี้คุณแม่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าเพราะอะไรสุดที่รักของคุณแม่ถึงยังไม่พูด

            เมื่อถึงวันนัดพบนักแก้ไขการพูด คุณแม่พาน้องไปพบ นักแก้ไขการพูดก็ได้ทำการสังเกตน้อง สัมภาษณ์พูดคุยกับคุณแม่ คุณตาคุณยาย จึงได้แนะนำให้พาน้องมาฝึกกิจกรรมบำบัดก่อน เพราะน้องยังไม่นิ่ง ไม่สบตา ทำตามคำสั่งง่ายๆไม่ได้ เช่น นั่ง สวัสดี ขอ ไม่รับรู้ชื่อตนเอง สี อวัยวะ และยังอยู่ในโลกส่วนตัวไม่สนใจสิ่งแวดล้อม นักแก้ไขการพูดจึงได้ทำจดหมายส่งต่อให้คุณแม่พาน้องมารับการบำบัดรักษาทางกิจกรรมบำบัด และได้ทำการนัดน้องอีก 3 เดือน

            คุณแม่ คุณตา คุณยาย และน้องบาสได้นั่งรถแท็กซี่พากันมาที่คลินิกกิจกรรมบำบัด เมื่อมาถึงผู้บำบัดให้คุณแม่กรอกประวัติ และพาน้องบาสมาอีกห้องหนึ่งเพื่อสังเกตพฤติกรรมของน้อง หลังจากทำการสังเกตและทดสอบทางกิจกรรมบำบัดร่วมกับทำการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ได้พบปัญหาทางกิจกรรมบำบัดดังนี้

           1. น้องมีภาวะหลีกหนีต่อผิวสัมผัส (เลือกรับประทาน ทานแต่ข้าวเปล่า นมเปรี้ยว ไม่ทานอย่างอื่น ไม่ชอบให้จับ กอด หรือสัมผัสโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า)

           2. น้องหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมบนพื้นที่ที่ไม่มั่นคง (ชอบนั่งอยู่กับที่ วิ่ง ปีนป่าย กระโดด ยังไม่ได้)

           3. หยิบจับไม่มั่นคง

          4. มีปัญหาอารมณ์ (ไม่ได้ดั่งใจ ไม่อยากทำ นอนดิ้นร้องไห้ โวยวาย ทำท่าเหมือนจะกัด แต่ไม่กัด)

          5. อยู่ในโลกส่วนตัว ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม

          6. การทำตามคำสั่ง

          7. การรับรู้และความเข้าใจ

           หลังจากทำการตรวจประเมินทางกิจกรรมบำบัดเสร็จแล้ว ผู้บำบัดได้ทำการพูดสรุปถึงปัญหาและแนวทางการรักษาทางกิจกรรมบำบัดให้คุณแม่ฟัง และนัดน้องมาฝึกกับผู้บำบัดในครั้งต่อไป

           คุณแม่ก็ได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ แต่คุณแม่ก็มีถามผู้บำบัดเหมือนกันว่าน้องเป็นอะไร ทำไมถึงยังไม่พูด ผู้บำบัดก็ถามคุณแม่กลับไปว่าแล้วที่น้องไปหาคุณหมอมา คุณหมอบอกคุณแม่ว่าอย่างไร คุณแม่ก็บอกว่า น้องเป็นต่อมทอลซิลอักเสบ แต่ในใจผู้บำบัดพอทราบแล้วคะว่าน้องเป็นอะไร (แต่ที่ไม่บอกไป เพราะการวินิจฉัยโรคเป็นหน้าที่ของคุณหมอซึ่งมีความเชี่ยวชาญมากกว่า และในการทำงานเป็นทีมแต่ละวิชาชีพต้องเคารพซึ่งกันและกัน) ผู้บำบัดจึงได้แนะนำคุณแม่กลับไปว่าคราวหน้าที่คุณแม่ไปพบนักแก้ไขการพูด ให้ทำการปรึกษากับนักแก้ไขการพูดเพื่อให้นักแก้ไขการพูดทำการส่งต่อน้องไปพบคุณหมอ เพื่อคุณหมอจะได้ทำการวินิจฉัยโรค

          แต่ทุกท่านรู้ไหมคะว่ากว่าคุณแม่จะรู้ว่าน้องเป็นอะไรใช้เวลาไปเกือบ 6 เดือน ซึ่งคุณแม่ก็ค่อยๆซึมซับรับรู้ด้วยตนเองและจากการพูดคุยกับผู้รู้ ในที่สุดคุณแม่ก็รู้ว่าลูกของคุณแม่เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่ที่น่าสนใจคือคุณแม่รู้แล้ว แต่คุณแม่ก็ไม่ได้เสียใจหรือโทษตนเอง แต่กลับทำทุกอย่างเหมือนที่เคยทำ ให้การฝึกน้องสม่ำเสมอ และเอาโปรแกรมกลับไปฝึกต่อที่บ้าน และคุณแม่ก็โชคดี ที่คุณแม่มีเพื่อนร่วมงาน และเจ้านายที่ดี ช่วยกันฝึกและอนุญาตให้คุณแม่พาน้องมาฝึก

         ทุกท่านคงพอจะทราบความเป็นมาของน้องบาสแล้วนะคะ ต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาโดยที่ผู้เขียนจะทำการวิเคราะห์กิจกรรมที่ใช้ในการฝึกน้องมาแบ่งปันประสบการณ์ให้กับทุกท่านได้อ่าน เพื่อที่จะได้นำวิธีหรือเทคนิคบางอย่างทางกิจกรรมบำบัดที่ตัวดิฉันได้นำมาฝึกน้องไปปรับใช้กับลูกหลานของท่าน หากผู้ใดต้องการขอคำแนะนำปรึกษา ติดต่อมาทางบล๊อก ยินดีให้ความช่วยเหลือคะ

คำสำคัญ (Tags): #เด็กออทิสติก
หมายเลขบันทึก: 158816เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท