เชิดชูครูสมัยเรียนชั้นประถมศึกษา


ครูสมัยก่อนเน้นคุณธรรม

      ผู้เขียนเป็นเด็กชนบท(บ้านนอก) เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๔(ไม่มีประถมปลาย ต้องไปเรียนที่โรงเรียนประจำอำเภอ) โรงเรียนวัดหนองหัวโพ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี โดยได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นโรงเรียนและห้องเรียน ไม่มีการกั้นห้องระหว่างห้อง ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนต่อห้องประมาณ ๑๕-๒๐ คน มีครู ๒ คน สอนชั้น ป.๑-๒  ๑ คน (คุณครูบานเย็น ณรงค์เปลี่ยน วุฒิการศึกษา จบชั้น ป.๔) และชั้น ป.๓-๔ ๑ คน(คุรครูไวย์ ราชวงษ์ เป็นครูใหญ่ วุฒิการศึกษา พ.ม.) คุณครูทั้ง ๒ สามารถสอนนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ประสบความสำเร็จในชีวิต นักเรียนที่จบส่วนใหญ่จะไปศึกษาต่อด้านวิชาครู เนื่องด้วยผู้ปกครอง ได้สัมผัสความเป็นราชการคือ ครูเท่านั้นในชุมชนหรือหมู่บ้านจึงส่งลูกเรียนครู มีตำรวจและทหารบ้างแต่ไม่มาก เด็กที่จบจากโรงเรียนวัดหนองหัวโพ ในสมัยนั้นจะถูกวางเงื่อนไขเรื่องคุณธรรมนำหน้า และเน้นการอ่านเขียน เรียนเลขเป็นหลักในแต่ละวัน

   คุณธรรมที่วางเงื่อนไข เช่น ข้อตกลง กติกาที่ปฏิบัติร่วมกันทั้งห้องและทั้งโรงเรียน โดยเฉพาะคารวะธรรม การกราบ การไหว้ผู้มีพระคุณ คือ บิดา มารดา พระสงฆ์ เพียงแต่เดินสวนทางห่างประมาณ ๒๐-๕๐ เมตร ยังต้องยกมือไหว้ ถ้าพูดถึงปัจจุบันเด็กจะเดินชนนะครับอย่าว่า ๑-๒ เมตรเลย ความซื่อสัตย์มีความเป็นเลิศ การลักขโมยจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นโทษคือการตี ซึ่ง คุณครูตีเจ็บมาก ถ้าผิดเงื่อนไข กติกา(ปัจจุบันไม่มีไม้เรียวได้สัมผัสผิว สัมผัสกายแล้วครับ) คุณครูทั้งสองไม่ได้จบวุฒิการศึกษาสูง จบแค่ ป.๔ และ พ.ม. (ไม่เหมือนปัจจุบัน ครูจบปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) แต่สามารถสร้างสรรค์คุณธรรมและปัญญาได้เป็นอย่างดี นักเรียนที่จบป.๔ และไม่ได้เรียนต่อ เพราะความยากจน ชนบทห่างไกล ขาดโอกาส ไม่มีโรงเรียนที่จะเรียนต่อในหมู่บ้าน ถ้าจะเรียนต่ออย่างผู้เขียนต้องเดินทางด้วยเท้าและจักรยานไปยังอำเภอ ประมาณ ๕ กิโลเมตร ด้วยถนนดิน(ไม่ใช่ลูกรังหรือลาดยาง เมื่อฝนตกรถจักรยานขี่คน เพราะโคลนจะติดล้อรถไม่สามารถขี่ได้) แต่สามารถอ่านและเขียนอย่างแตกฉานจนกระทั่งปัจจุบันนี้ และสังคมหมู่บ้านหนองหัวโพมีแต่ความสงบสุขไม่มีปัญหาอาชญากรรม

        จึงขอบูชาและคารวะคุณครูไวย์ ราชวงษ์(คุณพ่อ)และคุณครูบานเย็น ณรงค์เปลี่ยน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลอย่างแท้จริง ที่ทำให้ผู้เขียนมีปัญญาในวันนี้ ซึ่งปัจจุบันคุณครูทั้งสองได้ละสังขาร แต่ยังเหลือแต่คุณความดีที่ได้ปลูกฝังไว้ที่ทุกคนเมื่อพบกันจะกล่าวถึงอยู่เสมอ

หมายเลขบันทึก: 158313เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ คุณ ยืนยง

การสอนแบบเก่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบันได้บ้างนะคะ การสอนแบบไทยกับการสอนตามตำราฝรั่งอาจแตกต่างกันก็ได้ แบบใดน่าจะเหมาะสมกับเด็กไทยมากกว่า แบบใดที่จะคงความเป็นชาติไทยได้มากกว่า ต้องพิจารณากันดีๆค่ะ 

แวะมาเยี่ยมทักทายค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

อ๋อ

สวัสดีค่ะ ท่าน ศน ยืนยง

ได้ผ่านเข้ามาเห็นข้อเขียน ครูสมัยก่อนเน้นคุณธรรม เมื่อได้เข้ามาเป็นข้าราชการครู จวบจนใกล้เกษียณอายุ ได้สัมผัสทั้งครูสมัยเก่าและสมัยใหม่ เท่าที่ได้พบเห็น ครูสมัยก่อน จะสอนนักเรียนทั้งด้านความรู้และด้านคุณธรรม ผิดกับครูสมัยใหม่ บางคนมีความรู้ระดับปริญาโท หรืออย่างน้อยก็ปริญญาตรี ก็เป็นห่วงว่า เขาจะเน้นในเรื่องของความรู้อย่างเดียว ซึ่งน่าเป็นห่วงมากว่าในอนาคต เยาวชนไทยจะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขได้อย่างไร จึงขอส่งเสริมให้นำการสอนแบบเก่ามาผสมผสานกับการสอนแบบใหม่

ขอบพระคุณค่ะ กับข้อเขียนที่ให้ข้อคิดดีดี

ปาน

ขอบคุณคุณครับคุณ ปาน ปัจจุบันต้องเลือกสิ่งที่ดีของแต่ละยุคมาปรับใช้ให้เหมาะสม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท