สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ ราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่อง : ที่คนไทยควรเรียนรู้ (๒)


บันทึกนี้สืบเนื่องมาจากบันทึกที่แล้ว คือเป็นการรวบรวมราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่องในกรณีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ เพื่อเป็นความรู้และบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

 

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  สิ้นพระชนม์

ราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่อง : ที่คนไทยควรเรียนรู้ (๒)

           บันทึกนี้สืบเนื่องมาจากบันทึกที่แล้ว คือเป็นการรวบรวมราชาศัพท์และศัพท์อันเกี่ยวเนื่องในกรณีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์  เพื่อเป็นความรู้และบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

๑๒. พระเมรุ  : หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่ใช้สำหรับเผาศพ   กรณีเป็นพระศพจะใช้พระเมรุ แต่ถ้าเป็นพระบรมศพในพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า พระโอรส(รัชทายาท) เป็นต้น จะใช้ "พระเมรุมาศ" (พระเมรุทอง) 

                พระเมรุ  มาจากคำว่า "พระสุเมรุ" เป็นชื่อภูเขาในเรื่องไตรภูมิ  มีคำอธิบายว่า

               เขาพระสุเมรุ หรือเขาพระเมรุนั้นเป็นเขาที่ตั้งอยู่ใจกลางจักรวาล ตั้งอยู่บนเขาตรีกูฏที่มีลักษณะเป็นก้อนเส้า ๓ ลูกคล้ายกับตั้งบนเตาไฟแต่มีความมั่นคงแน่นหนามาก ในระหว่างเขาตรีกูฏ ๓ ลูกกว้างยาว ๑ หมื่นโยชน์ เป็นที่อยู่ของอสูรทั้งปวง  โดยรอบเขาพระสุเมรุจะแวดล้อมด้วยเขา "สัตตบริภัณฑฺ" หรือเขาล้อมทั้ง ๗ เป็นคำเรียกหมู่ภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมรอบภูเขาพระสุเมรุ คือ ภูเขายุคนธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวิก ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธร ภูเขาวินตก และภูเขาอัสสกัณณ์

                 การสร้างพระเมรุก็ถือคติให้คล้ายกับเขาพระสุเมรุ ดังนั้นลักษณะของพระเมรุก็จะทำเป็นลักษณะศาลาเรือนยอดเป็นชั้นๆ อาจจะครบ ๗ ชั้นเท่ากับสัตตบริภัณฑ์ หรือจะกี่ชั้นสุดแต่ความเหมาะสม แต่สำหรับพระเมรุพระศพ พระบรมศพจะต้องมีความวิจิตรสวยงาม ประดับตกแต่งให้สมพระเกียรติพระอริยศักดิ์ ฐานานุศักดิ์

                 สำหรับพระเมรุที่จะใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น ขณะนี้กรมศิลปากรเตรียมระดมช่างสิบหมู่จัดสร้างโดยใช้แบบใหม่ทั้งหมดเพื่อให้สมพระเกียรติ เพียงแต่รอพระราชวินิจฉัยโปรดเกล้าฯ ลงมาเท่านั้น 

๑๓.ทุ่งพระเมรุ  :  หมายถึง ท้องทุ่งเป็นลานโล่งอยู่ใกล้กับกำแพงพระบรมมหาราชวัง   เมื่อแรกสร้างกรุงเทพฯ บริเวณนี้เป็นที่ทำนาของประชาชน และยังใช้เป็นที่ตั้งพระเมรุเผาศพของเจ้านาย จึงเรียกกันติดปากกันว่า “ทุ่งพระเมรุ” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่านามนี้ไม่เป็นมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกใหม่ว่า “ท้องสนามหลวง” และยกเลิกการทำนาในบริเวณนี้ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  โปรดฯ ให้ขยายพื้นที่สนามหลวงจนมีพื้นที่กว้างดังเช่นปัจจุบัน  และปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวง จำนวน 365 ต้นด้วบ  สนามหลวงปัจจุบันมีเนื้อที่ 78 ไร่ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน พระราชวงศ์ และเจ้านายชั้นสูง ซึ่งรวมถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในครั้งนี้ด้วย

๑๔. บำเพ็ญพระราชกุศล  :  หมายถึง  ทำบุญ  ถ้ามีการเลี้ยงพระ จะมีคำว่า "ถวายภัตตาหาร"  เช่น  "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ในพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง"    

๑๕. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  :   เป็นพระที่นั่งองค์ประธานในเขตพระราชฐานชั้นกลางทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้เป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวที่มีอยู่และได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 
 

        พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๒  เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระองค์ได้ใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงด้วย อย่างเช่น เมื่อรัชกาลที่ ๑ เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาตั้งไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า และ สมเด็จพระอัครมเหสีไว้บนพระที่นั่งองค์นี้

      ในปัจจุบัน พระที่นั่งองค์นี้ได้เคยใช้ประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และครั้งนี้ก็ได้ประดิษฐานพระศพในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

     

      เรื่องราชาศัพท์และศัพท์ยังมีให้เรียนรู้ต่อไปอีกมากครับ  เนื่องจากพระราชพิธีพระศพยังไม่เสร็จสิ้น  เราต้องติดตามเรียนรู้ต่อไปครับ เพราะเรื่องนี้สำคัญยิ่งต่อทุกคน

 

            

หมายเลขบันทึก: 157725เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2008 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ อ.กรเพชร

แวะมาขอบคุณอาจารย์ที่นำความรู้ดีๆ มาให้อ่านกันค่ะ ^ ^ 

  • เป็นประโยชน์มากเลยครับ
  • เมื่อวานนี้เห็นคำหนึ่งบนแผ่นประกาศตัวใหญ่ว่า เสร็จ ณ สวรรค์คาลัย
  • ยังไงอยู่นะครับท่านอาจารย์ :-)

สวัสดีครับP

           ช่วงนี้มีหลายคนใช้คำราชาศัพท์และศัพท์ผิดพลาดมาก แม้ไม่เสียหายร้ายแรงอะไร แต่ถ้าใช้ให้ถูกต้องจะสมพระเกียรติ พระอริยศักดิ์ พระองค์ อันเป็นการแสดงความรักความอาลัยที่เหมาะสมมากกว่า และเรื่องเหล่านี้เราเรียนรู้กันได้ครับ ขณะนี้ดูเหมือนสำนักพระราชวังได้จัดตั้งศูนย์ประสานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับราชาศัพท์แก่นักข่าว ประชาชน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้อง ครับ 

สวัสดีครับP

               เสร็จ ณ สวรรค์คาลัย   คำนี้เขียนผิดพลาดแน่นอนครับ เพราะไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวังในการใช้จึงออกมาเช่นนี้ครับ ก็ต้องช่วยกันบอก เตือน ไว้ครับ เพื่อให้สมพระเกียรติ ของพระองค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท