ปอเนาะ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ตอนที่ 3)


เมื่อสังคมโลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และบทบาทเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยที่ยังรักษาเจตนารมณ์ และ อัตลักษณ์ของปอเนาะดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง นั่นคือ เจตนารมณ์ในการสืบทอดอิสลามสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มแข็ง

ปอเนาะในอนาคต 

                   ภาพของปอเนาะในอนาคตจะเป็นเช่นใด   ขึ้นอยู่กับว่าเขามีจินตนาการอย่างไร  จินตนาการโดยใช้อะไรเป็นฐาน  ค่าหัว  หรืออิสลามเป็นฐาน  ในบทความชิ้นนี้ผมขอจินตนาการโดยใช้ข้อมูลของปอเนาะในปัจจุบันประกอบการพิจารณาภายใต้แนวความคิด Islamization of Knowledge ( ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์  แปลว่า อิสลามานุวัฒน์  แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจผมใช้คำว่า การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม)  

                   ปอเนาะในอดีตประสบความสำเร็จในการปลูกฝังบุคลิกภาพของมุสลิมเป็นอย่างมาก   อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ  เช่น  เจตนารมณ์อันแน่วแน่ ความบริสุทธิ์ใจ   ความอดทน  ความมุมานะในการถ่ายทอดศาสนาอิสลามสู่คนยุคหลัง    เจตนารมณ์  ประกอบกับความพยายามเหล่านั้นถูกขับเคลื่อนโดยไร้กระแสที่เป็นอุปสรรค เช่น กระแสวัตถุนิยม (Materialism)  กระแสแบ่งแยกศาสนาออกจากวิถีการดำรงชีวิต (Secularism)  ซึ่งกระแสเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกฝังบุคลิกภาพแห่งอิสลามทั้งสิ้น      ประกอบกับปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไม่ปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก   ทำให้ปอเนาะได้เข้าสู่ยุคที่ประสบกับความล้มเหลวในการจัดการศึกษา   กล่าวคือ  ปอเนาะไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของอิสลาม  บุคลิกภาพของแห่งอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมได้เหมือนดั่งเช่นปอเนาะในอดีต   สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจวิเคราะห์ได้  ดังนี้

                   1.    ผู้บริหาร  บริหารโรงเรียนโดยยึดค่าหัวเป็นฐาน   ขาดแนวคิด (concept) ในการบริหารอย่างเป็นระบบ  และขาดทักษะการบริหาร

                  2.    ครู  ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครูมุสลิม   ดั่งเช่นจิตวิญญาณของครูปอเนาะในอดีต  ขาดทักษะการสอนอย่างครูมืออาชีพ

                 3.    หลักสูตร   ซึ่งมีทั้งหลักสูตรศาสนาและสามัญ   ทำให้นักเรียนต้องเรียนมากเกินความจำเป็น   หลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและสังคม   หลักสูตรมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนโดยผ่านเนื้อหาเป็นหลัก     ขาดการพัฒนานักเรียนโดยผ่านกิจกรรม    

                         เมื่อสังคมโลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์   ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และบทบาทเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก   โดยที่ยังรักษาเจตนารมณ์  และ อัตลักษณ์ของปอเนาะดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง   นั่นคือ  เจตนารมณ์ในการสืบทอดอิสลามสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มแข็ง     ซึ่งบทความนี้ขอนำเสนอลักษณะของปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในอนาคตที่ควรจะเป็น  ดังนี้

                 1. ปอเนาะควรเป็นองค์กรแห่งการแห่งการเรียนรู้ (Learning  Organization)  เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง   และเพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

                2. ปอเนาะควรเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Based Society )อย่างแท้จริง   เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้พึ่งพาองค์ความรู้ที่ถูกต้องในทุกแขนง   โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านศาสนา

               3. ผู้บริหารต้องมีแนวคิด (concept) ในการบริหารอย่างเป็นระบบ   โดยเฉพาะแนวคิดการบริหารที่ใช้อิสลามเป็นฐาน    มีทักษะการบริหาร   มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานวิชาการ  สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้  และต้องสามารถให้ให้คำแนะนำ (Coaching) แก่ครูได้

                4.  ครูปอเนาะต้องมีความรู้ความเข้าใจอิสลามเป็นพื้นฐาน   สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างครูมืออาชีพ   เข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน  ที่สำคัญครูปอเนาะต้องสามารถปลูกฝังอิสลามและสามารถสอนโดยการบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลามได้ในทุกวิชา

                  5. หลักสูตรของปอเนาะ   ควรเป็นหลักสูตรที่บูรณาการโครงสร้างทั้งสองหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเดียว   หลักสูตต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งโดยใช้เนื้อหาและกิจกรรม   อีกทั้งหลักสูตรต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย   และตอบตอบสนองความต้องการของสังคมอีกด้วย

               6. ปอเนาะต้องมีสื่อและนวัตกรรมที่หลากหลาย  เช่น อินเตอร์เน็ต  เว็บไซต์  อีเลินนิ่ง ฯลฯ

               7. ปอเนาะต้องมีปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ที่สมบูรณ์และเพียงพอ   เช่น อาคารเรียนที่ทันสมัยขั้น ห้องสมุดที่มีหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย   ห้องทดลองวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการทางภาษา  ห้องคอมพิวเตอร์   ห้องพัฒนาบุคลิกภาพ   และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ฯลฯ 

                แนวทางในการปรับเปลี่ยนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสู่อนาคต มีดังนี้

                1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  นั่นคือ  ผู้บริหาร  ครู  และนักเรียน  มากกว่าการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน  และควรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นภายใต้แนวคิด Islamization of Knowledge (การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม)

                2.  ควรวางระบบประกันคุณภาพการศึกษา  ทั้งการประกันคุณภาพภายในและประกันคุณภาพภายนอก

                3. พัฒนาหลักสูตรโดยการบูรณาการโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544  กับ หลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546   พร้อมกับจัดให้มีแผนการเรียนที่หลากหลายมากขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์  ดังนี้- ลดภาระการเรียนของนักเรียน- ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและสังคม- พัฒนาผู้เรียนโดยผ่านเนื้อหาวิชาการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

               4. พัฒนาสื่อและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด Islamization of Knowledge (การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปอเนาะในอนาคต   จะเป็นปอเนาะคุณภาพ  ปอเนาะที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ถ่ายทอดอิสลามให้แก่คนยุคหลังอย่างมีประสิทธิภาพ    เพื่อที่จะนำพาพวกเขาไปสู่การดำรงชีวิตยุคในโลกาภิวัตน์อย่างน่าภาคภูมิใจ   ได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ  อันนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺ   อินชาอัลลอฮฺ 

อ้างอิง 

มูหามัดรูยานี         บากา. ปอเนาะแหล่งเรียนรู้อิสลามชายแดนใต้. สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการ       ที่ 12, 2548

วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ : http://www.skyd.org/html/life-social/PONDOK.html

ณัฐนันท์      วิจิตรอักษร.ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ : http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/ article2005oct13p2.htm

หมายเลขบันทึก: 157630เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2008 20:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 00:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาลาม

ตอนนี้ทำงานวิจัยของ วช. เกี่ยวกับผู้สูงอายุในปอเนาะ

หากมีข้อมูลที่น่าสนใจช่วยส่งมาให้ด้วยนะ

เขยนาฅอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท