ชุมพรก้าวไกลในวิถีเทคโนโลยีชีวภาพ


จาก เรื่องใหญ่ ๆ ในใจผู้ว่าฯ ที่นายมานิต วัฒนเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร หยิบยกขึ้นมากระตุ้นต่อมไตในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 9 เรื่อง คือ

  1. สนามบินชุมพรทำอย่างไรจึงจะเปิดใช้ได้ ? มอบให้ ขนส่งจังหวัด เป็นเลขาฯ
  2. โครงการประเภท อนุสาวรีย์ สร้างแล้วปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีอยู่ที่ไหนอะไรบ้าง ? (เลขา / คลัง จว.)
  3. การพัฒนาหนองใหญ่ จะทำอย่างไร ? (เลขา / ชลประทาน จว.)
  4. ชุมพรเกมส์ จะช่วยกันได้อย่างไร ?
  5. สหวิริยาจะมาลงทุนเป็นหมื่นล้านตั้งโรงงานถลุงเหล็กที่ อ.ปะทิว ชาวชุมพรคิดอย่างไร ?
  6. งานโลกทะเล จะช่วยกันอย่างไร?
  7. บริษัท เชฟรอน มาขุดเจาะสำรวจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในทะเลชุมพร สังคมชุมพรได้ประโยชน์อะไร ?
  8. โรงไฟฟ้าชีวมวล (Bio-Mass) เยอรมันสนใจมาลงทุนที่ชุมพร ต้องการการติดตาม สนับสนุน
  9. Biotechnology ต่อยอดมูลค่าฐานทรัพยากรธรรมชาติและผลผลิตทางการเกษตร จะพัฒนากันไปอย่างไร ? (เลขา / เลขาฯ หอการค้า)

เพราะเรื่องที่ 9 โดยแท้ทำให้ผมต้องมานั่งศึกษาทั้งข้อมูลกองโตจากหนังสือหลายเล่ม และเนื้อหาอีกมากมายจากอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ชื่อว่า เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกสั้น ๆ ว่า ไบโอเทค)

มูลเหตุของ ความคิดใหม่ แบบนี้มีที่มาจากการได้นั่งประชุมร่วมกันของท่านผู้ว่าฯ และพวกเราชาวหอการค้าจังหวัดชุมพรที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เฮียจั่น นายศิริกูล ธารีรัตนวิบูลย์ จากบริษัทสามารถโฟรเซ่นฟูดส์ ได้เล่าประสบการณ์ทางธุรกิจหลายเรื่องที่ทำแล้วเกิดมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดการผลิตสินค้าเกษตรของ จ.ชุมพร อาทิ เมื่อ 2-3 ปีก่อน ได้ซื้อมังคุดในช่วงที่ราคาถูกกิโลละ 8 บาท แช่แข็งเอาไว้ แล้วเอาข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ วันดีคืนดีธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามา Search เจอเลยติดต่อขอซื้อทั้งหมด แต่ขอให้ช่วยแปรรูปโดยตัดจุกออก ผ่าครึ่ง เอาเนื้อในเปลือกมาต้มจะรวมเนื้อขาวที่เรากินกันเข้าไปด้วยก็ได้ แล้วบด (Blend) ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ส่งขายเป็นน้ำมังคุดเข้มข้น เฉลี่ยแล้วได้ราคาเท่ากับขายผลสดในราคากิโลละ 27 บาท ที่ยกมานี่แค่แซมเปิลเท่านั้น เรายังพูดคุยกันอีกหลายเรื่องตามประสาคนช่างซัก ช่างถาม ของผู้ว่าฯ

ฟังไป คิดไป พูดคุยแลกเปลี่ยนกันไป ในที่สุดก็กลายมาเป็น เรื่องใหญ่ ๆ ในใจผู้ว่าฯ ลำดับที่ 9 มอบหมายให้ผมทำหน้าที่เลขาฯ ศึกษาเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน แล้วลอง ออกแบบ ดูสิว่าจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ? จึงจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน-ชาวสวน ชุมชน-ท้องถิ่น นักธุรกิจ SMEs และสังคมชุมพรในภาพรวมทั้งหมด

เอาละซิ...นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยนะท่าน เพราะเจ้า ไบโอเทค ได้ชื่อว่าเป็น เทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ในอนาคตมากที่สุด จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามเจ้า ไบโอเทค กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ระดับเซลจนถึงระดับโลก ครอบคลุมทุกด้านทั้งทางการแพทย์ การเกษตร การทหาร ธุรกิจ อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าแทบไม่มีเรื่องใดที่ไม่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ข้อความเหล่านี้ผมได้มาจากหนังสือเล่มแรกที่ตะลุยอ่านชื่อ Biotechnology เทคโนโลยีชีวภาพสำหรับโลกยุคใหม่ จัดพิมพ์โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญคิดกันออกมาว่า ไบโอเทค จะกลายเป็น คลื่นลูกที่ 4 ต่อจากคลื่นเทคโนโลยี 3 ลูกแรกที่ปฏิวัติพัฒนาการของโลกให้เปลี่ยนแปลงไป คือ คลื่นลูกที่ 1 การปฏิวัติเกษตรกรรม, คลื่นลูกที่ 2 การปฏิวัติอุตสาหกรรม และคลื่นลูกที่ 3 การปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ

วันนี้ ข้อมูลความจริงเริ่มแสดงตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยามยามมุ่งไปข้างหน้าของหลายประเทศ ที่สหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้เข้าประเทศสูงที่สุด ก็คือ สินค้าจากกระบวนการผลิตที่ใช้ไบโอเทค โดยเฉพาะยารักษาโรค เวียดนามวันนี้ตั้งงบประมาณและแผนงานโครงการพัฒนาไบโอเทค สูงกว่า ประเทศไทยที่รักของเราไปเรียบร้อยแล้ว มีบางคนบอกผมว่า ลาวก็ตั้งงบประมาณไบโอเทค สูงกว่า ไทย แต่ผมยังทำใจให้เชื่อ...ไม่ได้ ขอเวลาศึกษาข้อมูลให้ชัดกว่านี้อีกสักหน่อย

ช่วงกลางเดือนธันวาคม ผมก็เอา PowerPoint ฉบับร่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปพูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ ท่าน...ปิ๊ง!!!...ในทันที และอนุญาตให้ผมนำเสนออีกครั้งหนึ่งในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดฯ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 เรากำหนด วิสัยทัศน์ย่อย ในเรื่องนี้ออกมาตั้งเป็นตุ๊กตาไว้ก่อนว่า ...ชุมพรก้าวไกลในวิถีเทคโนโลยีชีวภาพ

จะเดินหน้าว่ากันอย่างไรนั้น เรื่องนี้หนังชีวิตต้องดูกันยาว ๆ  ติดตามได้ตอนต่อไป ...ครับ.

คำสำคัญ (Tags): #ไบโอเทค
หมายเลขบันทึก: 157280เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2008 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นำชัย ชีววิวรรธน์

ได้ทราบรายละเอียดจาก e-mial ของคุณไอศูรย์ที่ท่านผู้อำนวยการไบโอเทคส่งต่อมาให้ และข้อมูลที่มาอีกส่วนหนึ่งจากในหน้าบล็อกแล้ว ต้องบอกว่าดีใจแทนคนชุมพร ที่มีคนใกล้ตัว "ทำการบ้าน" มาอย่างดีในเรื่องการพัฒนาชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ และหากมีสิ่งใดที่พอช่วยเหลือได้ (ข้อมูล ฯลฯ)เชิญติดต่อได้เลยครับตาม e-mail: [email protected] หรือที่ 02 564 6700 ต่อ 3387

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท