คำขอบคุณจากใจแด่ “กระทงหลงทาง”


“กระทงหลงทาง” กลับมี “ท่าที” ยอมรับในประเด็นปัญหา และพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม และพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของจ.ชุมพร โดยเสนอข้อคิดเห็นหลากหลายแนวทาง
ท่าที” ในการมองปัญหาของ “กระทงหลงทาง”  เป็นเรื่องที่น่า “ชื่นชม” จริง ๆ ครับ ลองอ่านดูนะครับ
[Click เพื่อกำลังใจ]
  • ดีใจจังเลย..ที่ได้รับการยกให้เป็นตัวอย่างดีเด่นของรางวัลไม่สุดคะนึง
  • ตอนนี้คนทั่วประเทศก็ได้รู้จักหน่วยงานของเรา.. เพราะอาจารย์ช่วยรับรองคุณภาพ (0 คะแนน) ก็เป็นสิ่งที่ดี พวกเราจะได้ไม่เกร็ง หรือกลัว
ที่มา : วิธีล่ารางวัลสุดคะนึง http://gotoknow.org/archive/2005/07/10/09/56/02/e1005
  • ตื่นเต้นและดีใจที่อาจารย์กรุณาให้เกรด แสดงว่า อาจารย์คอยดูแล เราจะได้ทราบสมรรถนะของเราและจะช่วยกันยกระดับต่อไป
  • รู้สึกเป็นเกียรติ..และน้อมรับคำแนะนำ..ผมในฐานะผู้บริหารเป็นผู้ก่อให้เกิดส่งการบ้าน..จึงขอน้อมรับแต่เพียงผู้เดียว

ที่มา : Comment การเขียนเรื่อง KM ลงบล็อก http://gotoknow.org/archive/2005/07/13/14/50/38/e1130

  • ควรมีการแนะนำ พวกเราที่เป็นมือใหม่อย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางจังหวัดควรจัดเป็นเวทีประชาคมสักครึ่งวัน และขอความกรุณาผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านชี้แนะ เพราะไม่ค่อยกล้าเขียนแล้วค่ะ  กลัวผิดและทำให้จังหวัดชุมพรเสียชื่อด้วย
  • ผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัดชุมพรควรช่วยพวกเรา โดยเฉพาะจุดอ่อนที่ท่านมองเห็น  และช่วยเสริมจุดแข็งที่ทุกคนก็มีการตอบรับ
  • ทั้งที่บางองค์กรเราก็ยังไม่มี อินเตอร์เน็ทใช้ แต่พอไปรับการเรียนรู้ ได้รับการกระตุกต่อมคิด ก็อยากจะตอบรับให้อาจารย์และผู้เกี่ยวข้องทราบว่า...จริง ๆ แล้วข้าราชการรุ่นเก่าก็อยากจะมีส่วนร่วมทำให้จังหวัดชุมพรเป็นเมืองที่พร้อมรับการเรียนรู้... อยากพัฒนาตนเอง และองค์กรให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
  • พวกเราที่เป็นมือใหม่ เป็นไปได้ไหมคะ ที่เราควรมีพื้นที่ลองผิดลองถูก ที่ผู้รู้ช่วยตรวจสอบ...ก่อนจะขึ้น Web ดีไหมคะ
  • อยากเรียนถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่า บางทีความปรารถนาดี ให้ข้าราชการระดับล่างที่อยู่ไกลปืนเที่ยง ทำโครงการดี ๆ ใหม่ ๆ แล้วคิดว่าพวกเราควรจะเก่งและทำได้ถูกต้องตามปรัชญาแนวคิดทฤษฎีที่ถูกต้อง มันอาจจะไม่ใช่ บางครั้งก็เป็นแบบพวกเรา
  • หลายจังหวัดเขาก็อยากเรียนรู้เรื่องนี้  แต่ยังไม่มีใครแนะให้แบบจังหวัดชุมพร  ก็อดคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าภูมิใจที่จังหวัดของเรามีวิสัยทัศน์ และขอเรียนว่าพวกเราก็จะพยายามต่อไป

ที่มา : ผมเขียน Blog ทุกวัน http://www.gotoknow.org/archive/2005/07/21/01/39/43/e1514#comments

ท่าที ในการมองเหตุการณ์ลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อมองในมุม Internal Process ของการจัดการความรู้ในระบบราชการของจ.ชุมพร เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อกลุ่มผู้ปฏิบัติ จากเหตุและปัจจัยที่หลาย ๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมในการสร้าง วิพากษ์-วิจารณ์ โดยพยายามเสนอแง่คิดในเชิงสร้างสรรค์ ผ่านการสื่อสารแบบ Blog-to-Blog : B2B ด้วยข้อเขียนแบบตรงไปตรงมา ทำให้เกิดสภาวการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงต่อการพุ่งตรงเข้าไป “กระแทก” ฐานความคิดทีนำมาใช้ในการจัดการความรู้ภายในหน่วยงาน

กระทงหลงทางประเมินว่า ประสบการณ์ในการจัดการความรู้ของกลุ่มตัวเองไม่ชัดเจน แม่นยำเพียงพอทำให้ผลงานที่แสดงออกมาตามโจทย์ที่ได้รับ เมื่อนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะจึงได้รับคำตอบแบบตรงไปตรงมาว่า “หลงทาง” แต่แทนที่จะมีปฏิกิริยาปกป้อง โต้ตอบ ความคิดเห็นของผู้อื่นซึ่งมองในมุมที่แตกต่างกันไป “กระทงหลงทาง” กลับมี “ท่าที” ยอมรับในประเด็นปัญหา และพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่ม และพัฒนาระบบการจัดการความรู้ของจ.ชุมพร โดยเสนอข้อคิดเห็นหลากหลายแนวทาง ได้แก่

  • ให้มีเวทีประชาคม “การจัดการความรู้” สักครึ่งวัน
  • จัดระบบที่ปรึกษาโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาเสริมจุดแข็ง-กำจัดจุดอ่อน
  • จัดให้มีพื้นที่สำหรับ “ลองผิด-ลองถูก” ทบทวนตรวจสอบก่อนขึ้น Web
    ฯลฯ

ผมชื่นชมใน “ท่าที” แบบนี้จึงใช้เวลาเข้าไปค้นคว้าในห้องสมุดที่บ้าน พบสาระสำคัญจากหนังสือ “ทางสายกลางของการศึกษาไทย” โดยท่านพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นงานนิพนธ์ตั้งแต่ปี 2530 ในสมัยที่ท่านยังเป็นพระราชวรมุนี ท่านจำแนกวิธีคิดลักษณะนี้ว่าเป็น วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ โดยกระบวนการคิดที่ถูกต้อง ควรดำเนินไปให้ครบ 2 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่หนึ่ง รู้เท่าทันและยอมรับความจริง
เป็นขั้นวางใจ วางท่าที ต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นท่าทีแห่งปัญญา เช่น เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ก็ตั้งจิตสำนึกขึ้นในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองตามความอยากของเรา ที่อยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยของมัน เปลื้องตัวเป็นอิสระได้ ไม่เอาตัวไปให้ถูกกดถูกบีบ

ขั้นที่สอง แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย
เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย โดยสอดคล้องกับความเป็นจริง เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา คือรู้ว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่ใช่ขึ้นต่อความอยาก ความปรารถนาของเราหรือของใคร ๆ เมื่อเราต้องการให้มันเป็นอย่างไร ก็ต้องทำที่เหตุปัจจัยให้มันเป็นอย่างนั้น ต้องศึกษาให้รู้เข้าใจแล้วแก้ไขหรือจัดการที่เหตุปัจจัยนั้น ๆ ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ก็ดำรงตนอยู่เป็นอิสระ ทำการได้ดีที่สุด พร้อมทั้งไม่มีความทุกข์

ขอมอบ Blog ฉบับนี้เป็นเสมือน “คำขอบคุณจากใจ” แด่ “กระทงหลงทาง


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1572เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2005 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เท่ห์จัง...มีเพลงให้ฟังด้วย ทำได้ยังไงคะ บอกกันหน่อยนะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท