Knowledge Sharing แลกเปลี่ยนเพื่อสร้างสรรค์ไม่ใช่ทำลาย


"สำคัญไปกว่านั้น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บางครั้งอาจทำให้ผู้บริหารระดับสูง ระดับต้น และระดับกลางพบ "ดาว" โดยบังเอิญ"

 

ปัจจุบันต้องยอมรับกันว่าเรื่องของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือ Knowledge Sharing ในองค์กร เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ยิ่งเฉพาะ ผู้บริหารระดับสูง กับพนักงานระดับล่าง

ผู้บริหารระดับสูงกับผู้บริหารระดับต้น ถึงระดับกลาง ระเรื่อยไปจนถึงหัวหน้างาน เพราะอย่างที่ทราบผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดทิศทาง และนโยบายของบริษัท

ดังนั้น การที่ผู้บริหารระดับสูงมีโอกาสถ่ายทอดทิศทาง และนโยบายไปถึงพนักงานระดับล่าง ไม่เพียงแต่จะทำให้พนักงานระดับล่างได้รับการสื่อสารในทางตรง

หากยังทำให้เขารู้สึกดีด้วยว่า ผู้บริหารระดับสูงต่างเห็นเขา และเธอเหล่านั้น เป็นพนักงานคนหนึ่งขององค์กรเหมือนกัน ทั้งนั้นเพราะช่วงผ่านมา ผู้บริหารระดับสูง มักพูดเรื่องเหล่านี้ โดยผ่านผู้บริหารระดับต้น ถึงระดับกลาง

ในทางกลับกัน ผู้บริหารระดับต้น ถึงระดับกลาง ก็จะพูดเรื่องเหล่านี้ไปยังหัวหน้างาน

ซึ่งถ้าหัวหน้างานบางคนถ่ายทอดเป็นสารทั้งหมดที่เกิดจากความคิด วิสัยทัศน์ และแนวทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทก็จะถูกถ่ายทอดไปยังพนักงานระดับล่างๆ

ที่ทำให้เขาและเธอ ต่างเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าหัวหน้างาน เกิดถ่ายทอดไม่เป็นขึ้นมาล่ะ หรือไม่ถ่ายทอดเลย อะไรจะเกิดขึ้น

คำตอบคือเขาเหล่านั้น จะทำงานไปวันๆ โดยไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตัวเขา และบริษัทบ้าง ซึ่งถ้าเป็นในยามปกติ คงไม่เป็นไร

แต่ถ้าอยู่ในยามไม่ปกติขึ้นมาล่ะ การไม่สื่อสารภายในอย่างชัดเจนเช่นนี้ อาจทำให้เกิดผลในทางที่เสียหายได้ ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้หลายองค์กร จึงพยายามที่จะทำให้การสื่อสารนั้นเป็น 2 ทาง หรือ 3 ทาง

คือสามารถทำให้เกิดปฎิกิริยาตอบโต้บ้าง

ระหว่างพนักงาน กับหัวหน้างาน ระหว่างหัวหน้างาน กับผู้บริหารระดับต้น ถึงระดับกลาง หรือระหว่างผู้บริหารระดับต้น ถึงระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง

รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง กับพนักงานระดับล่างด้วย

ผู้บริหารระดับสูงเชื่อว่า หากเขาได้มีโอกาส knowledge sharing กับพนักงานระดับล่าง ไม่เพียงเขาจะได้ประโยชน์สองต่อ สามต่อ หากยังทำให้ศาสตร์การบริหารเกิดประสิทธิภาพด้วย

เพราะพนักงานระดับล่าง ไม่เพียงจะสะท้อนความจริงจากการทำงานที่เกิดขึ้น หากเขาและเธอเหล่านั้น ยังสะท้อนถึงความคิด ความฝันต่อการทำงานขององค์กรด้วย

ที่สำคัญ พนักงานระดับล่างบางคน ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนช่างคิด ช่างฝัน และการกล้าที่จะปฎิบัติ เพราะโดยอาชีพของเขาจะต้องเจอะเจอผู้คน สังคมในวงกว้าง และจะต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันอยู่เสมอ

เพียงแต่ที่ผ่านมา เขาไม่มีโอกาสพบปะ พูดคุย กับผู้บริหารระดับสูง จนทำให้เกิดช่องว่างในการบริหารอีกอย่าง หัวหน้างานบางคนอาจไม่สนับสนุน และไม่คิดสนับสนุน เพราะเกรงว่า ถ้าสนับสนุนแล้ว เขาอาจตกกระป๋องก็เป็นไปได้

จนที่สุด เมื่อเกิดเวที knowledge sharing ขึ้น เขาและเธอเหล่านั้น จึงมีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงมากขึ้น ว่าระหว่างทิศทาง และนโยบายในทางปฏิบัตินั้น บางทีอาจไม่สัมฤทธิผล

บางทีอาจทำไม่ได้ แต่ก็ยังฝืนที่จะทำกันต่อไป

ผู้บริหารระดับสูงที่ใจกว้าง มักจะชอบพนักงานระดับล่างแบบนี้ เพราะเขารู้ดีว่าสิ่งที่พนักงานระดับล่างสะท้อน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริง

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และแก้ไขได้ เพียงแต่อาจติดปัญหาบางอย่างเท่านั้นเอง

สำคัญไปกว่านั้น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บางครั้งอาจทำให้ผู้บริหารระดับสูง ระดับต้น และระดับกลางพบ "ดาว" โดยบังเอิญ

ว่าคนคนนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่ตำแหน่งตรงนี้ แต่คนคนนี้เหมาะที่จะไปทำตรงอื่นน่าจะดีกว่า ซึ่ง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากเวที knowledge sharing ทั้งสิ้น

เพียงแต่ผู้บริหารจะนำ "ดาว" เหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำงานในองค์กรอย่างไร ถ้านำไปปรับใช้อย่างมีการพัฒนา และเสริมสร้างประสิทธิภาพ ก็เชื่อแน่ว่า "ดาว" เหล่านี้ ก็จะเป็น "ดาวเด่น" ขององค์กรต่อไป

แต่ถ้ามองอย่างอคติ และคิดว่าเขาและเธอเหล่านี้ ไม่ควรที่จะสะท้อนปัญหาบางอย่างอะไรออกมา "ดาว" เหล่านี้ ก็อาจจะเป็น "ดาวดับ" ได้

ฉะนั้น พนักงานระดับล่าง จงคิดให้ดีว่าจะเลือกเป็น "ดาวเด่น" หรือ "ดาวดับ" เพราะการแสดงความคิดเห็นต่างๆ หรือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เราต้องมองในวงกว้างด้วยว่า เรื่องนี้สมควรพูด

เรื่องนี้สมควรแลกเปลี่ยน หรือเรื่องนี้ไม่ควรแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย เพราะเรื่องเหล่านี้มีทั้งคุณ และโทษ ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกวิธีไหน แต่สุดท้ายเรื่องของ knowledge sharing ก็เป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี

คุณว่าจริงไหม ?

หมายเลขบันทึก: 156245เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 17:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

-แวะมาเก็บแนวความคิด ได้ประเด็นที่ต้องการ

ขอเสนอมุมมองแตกต่างนะค่ะ

- ระบบการบริหารจัดการเป็นแนวดิ่ง คือ สั่งการระดับบนลงล่างโดยอาศัย ผู้บริหารไล่ตามลำดับสายงาน น่าจะมีการประสานระหว่างทีมข้ามสายงานดูบ้าง จะได้ ลปรร. ระหว่างทีมหรือหน่วยงานบ้างเผื่อได้แนวคิดดี ๆ เพิ่มหรือช่วยประสานงานกัน

- การที่ผู้บริหารลงมาลุย เป็นการดีค่ะ เพราะเป็นการกระตุ้นให้ผู้อยู่ระดับล่างได้เห็นว่า ผู้บริหารให้ความสำคัญกับตน ก็ "ได้ใจ" ผู้ทำงานดีมากเลยค่ะ

- การที่จะเป็น "ดาวเด่น" หรือ "ดาวดับ" นั่น ไม่น่าจะมี เพราะหากเราเน้นกระบวนการ KM ก็ไม่น่าจะใจแคบกับแนวความคิดใหม่ ๆ เราต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว พร้อมรับน้ำใหม่ ๆ ที่จะเต็มเข้ามาใหม่ทุกเมื่อ หากเราหยุดหรือระงับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อการปรับปรุง ก็เปรียบเสมือน "เราไม่เคยส่องกระจกดูตัวเองสักที" เพราะการบริหารทางยุทธศาสตร์ หากไม่มีการคิดที่แตกต่าง โดดเด่น นอกกรอบ ก็จะไม่เกิดนวตกรรม อีกเลย เพราะแค่นี่ผู้บริหารก็ไม่ยอมรับตัวตนของเขาเสียแล้ว องค์กรนั้นอาจจะหยุดเป็น "องค์กรแห่งการเรียนรู้" เสียแล้ว

-แค่เป็นมุมมองนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท