ผลการวิเคราะห์SWOTในการทำยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่น


วิสัยทัศน์จังหวัดขอนแก่น SWOT จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค

สวัสดีคะ  เรื่องนี้จะนำเสนอผลการวิเคราะห์SWOTในการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัดขอนแก่นเมื่อ3ปีที่แล้ว เพื่อให้หลายคนที่กำลังเป็นที่ปรึกษาการจัดทำแผนชุมชน ได้พอมองเห็นแนวทางในการวิเคราะห์ค่ะ...

     ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับ SWOT กันหน่อยนะคะ

S คือ Strengths 

      หมายถึง จุดแข็ง ภายในของชุมชนเรา (ทุกด้านทั้งกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคม)

W คือ Weeknesses

       หมายถึงจุดอ่อน ที่มีในชุมชนเรา (ทุกด้านทั้งกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคม)

O คือ Opportunities

      หมายถึง โอกาสที่เป็นปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามาเอื้อประโยชน์หรือเสริมต่อการดำเนินงานของชุมชนเรา

T คือ Threats

       หมายถึง อุปสรรคที่เป็นปัจจัยภายนอกที่จะเข้ามากระทบต่อชุมชนเรา

    ในส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้จัดทำวิสัยทัศน์ คือ"ขอนแก่นเมืองน่าอยู่  เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายการค้า  การลงทุน การบริการ และการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค  สู่สากล"

   วิสัยทัศน์นี้ มาจากการวิเคราะห์ SWOT คือ

จุดแข็ง (S)

     1. ศูนย์กลางการคมนาคมในประเทศและอนุภูมิภาคอินโดจีน
     2. มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา
     3. มีโรงแรมที่ทันสมัยและได้มาตรฐานพร้อมศูนย์ประชุมขนาดใหญ่
     4. มีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมให้บริการด้านสาธารณสุขที่เป็นเลิศ
      5. เป็นที่ตั้งของส่วนราชการทั้งระดับส่วนกลาง  เขต  ภาคและส่วนภูมิภาค รวมถึงสถาบันการเงิน องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สามารถให้บริการคำแนะนำและสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ
     6. มีแหล่งพลังงานที่พร้อมในการสนับสนุนการพัฒนา คือโรงไฟฟ้า พลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง
     7. มีบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่พร้อมให้บริการและสนับสนุนเครือข่ายการสื่อสาร

จุดอ่อน(W)

    1. ดินเค็ม  ในพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ หรือร้อยละ 29.4 ของพื้นที่จังหวัด ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     2. ภัยแล้ง  ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีปัญหาพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 4 ระดับ คือ
         2.1) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง เนื้อที่ประมาณ 1,846,409 ไร่ หรือร้อยละ 27.8 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ด้านทิศใต้ของที่ตั้งตัวจังหวัด
         2.2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง  เนื้อที่ประมาณ3,554,170 ไร่ หรือร้อยละ 53.5 ของพื้นที่จังหวัด  ส่วนใหญ่กระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัด
         2.3) พื้นที่เสี่ยงภัยน้อย เนื้อที่ประมาณ 149,626 ไร่ หรือร้อยละ 2.3 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด
         2.4) พื้นที่เสี่ยงภัยน้อยที่สุด เนื้อที่ประมาณ 1,070,329 ไร่ หรือร้อยละ 16.1 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทาน และใกล้แหล่งน้ำ

โอกาส(O)
    1. เป็นประตูเปิดสู่อินโดจีนและจีนตอนใต้  ตามโครงการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East – West Economicorridor)
     2. เป็นเมืองศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคตามนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
     3. นโยบายรัฐบาลส่งเสริมให้จังหวัดเป็น 1 ใน  3 ของจังหวัด  ในการพัฒนาให้เป็นนครเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  นอกเหนือจากจังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่
     4. นโยบายรัฐบาลในการกำหนดสินค้า และบริการสู่สากล  นโยบายการประสานความร่วมมือ ระหว่างประเทศด้านการค้า  การลงทุน การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น  เยอรมัน  เวียดนาม  ไต้หวัน และเดนมาร์ก

ภัยคุกคาม(T)

    1.ประสบภัยธรรมชาติเป็นประจำทุกปี  เช่น น้ำท่วม  ฝนแล้ง
    2. การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน มีต้นทุนที่ถูกกว่า
    3. มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมากขึ้น  ด้วยนโยบายเขตเศรษฐกิจเสรี

    นี้คือ ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ซึ่งในการจัดทำนั้นใช้นักวิชาการระดับจังหวัดจากทุกหน่วยงานรวมถึงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยกันวิเคราะห์  ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะได้ข้อสรุป...

     ในความคิดส่วนตัว ดิฉันคิดว่า ..การใช้SWOT..วิเคราะห์หาอัตตลักษณ์ของชุมชน ..มันยากนะ   โดยเฉพาะมุ่งหวังให้คนในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่สูงนัก..เป็นผู้วิเคราะห์เอง  เขาจะรู้เรื่องของโอกาส และภัยคุกคาม ได้มากน้อยแค่ไหน ......

หมายเลขบันทึก: 156171เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท