ไอคิโดในฐานะกระบวนการสริมสร้างสุขภาวะเด็กชายขอบ (marginal child )


ไอคิโดจึงเป็นการพัฒนาสุขภาวะของเด็กได้ ไม่น้อยไปกว่ากระบวนการใดๆ

เวลานี้ เวลาหันไปคุยกับคนที่ทำงานพัฒนาเด็กไม่ว่าจะประชุมกันที่ไหน ก็จะพบคำว่า สุขภาวะ เสมอๆ แต่ก็เป็นคำที่น่าสนใจ และผมคิดว่าคำๆนี้มีส่วนที่สอดคล้องกับประสบการณ์การฝึกไอคิโดให้กับเด็กๆที่แม่ฮ่องสอนอย่างลึกซึ้ง จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กัน 

บทความนี้ออกจะติดกลิ่นไอวิชาการและการพัฒนาชุมชนไปบ้าง แต่ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นสีสันที่ทำให้เรามองเห็นไอคิโดใกล้ชิดกับงานบริการชุมชนมากขึ้นนะครับ

 กล่าวถึงคำว่า สุขภาวะภาษาอังกฤษใช้คำว่า well – being คำนี้ดูจะเป็นศัพท์ใหม่ แต่ก็เป็นศัพท์ที่ติดอยู่ในกระแสที่คนในวงการพัฒนาชุมชน หรือแม้กระทั่งแวดวงวิชาการจำเป็นต้องรู้ และผมคิดว่าประชาชนทั่วไปที่สนใจสุขภาพและสุขภาวะก็ควรต้องรู้ ซึ่งผมจะพยายามเชื่อมกับประสบการณ์ของตัวเองในการเป็นครูอาสาสมัครสอนไอคิโดที่แม่ฮ่องสอนนะครับ 

ที่มาของคำนี้ เข้าใจว่าคงริเริ่มมาจากทางฝ่ายสาธารณสุข โดยมองว่าจะใช้มาแทนที่คำว่า สุขภาพเพราะคำว่าสุขภาพชวนให้นึกถึงแต่โรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพดีจึงหมายถึง การอยู่โดยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม อันนี้เป็นความหมายที่ยึดตามองค์การอนามัยโลกมานานแล้ว  

ในประเทศไทย เมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็พยายามเพิ่มเติมความหมายสุขภาพให้กินความกว้างขวางขึ้นให้รวมเอาด้านปัญญา ( Spiritual well-being) และด้านภาพองค์รวม และเปลี่ยนจุดเน้นจากการซ่อมสุขภาพ มาเป็นการสร้างเสริมสุขภาพก่อนที่จะเกิดโรคด้วย จึงพยายามบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่เป็น สุขภาวะโดยมีนัยยะที่กินความครอบคลุมสุขภาพในความหมายเดิม เพื่อไม่ให้คนไปติดยึดกับความหมายของ สุขภาพแบบเก่า[1] 

ที่เล่ามานี่ก็เพราะ จริงๆแล้ว ผมก็ใช้ไอคิโดนี่แหละครับเป็นเครื่องมือที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งในงานพัฒนาเด็กที่แม่ฮ่องสอนมาตลอดสองปี ไอคิโดจึงเป็นวิถีแห่งสุขภาวะหรือสุขภาพองค์รวมแบบหนึ่งที่น้อยคนจะรู้จัก นอกจากจะมองว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวแบบทั่วไป          

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเอ่ยถึงเด็กชายขอบ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจคำนี้เช่นกัน คำว่าชายขอบ หมายถึงอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลาง อยู่ไกลในที่นี้หมายถึงเข้าไม่ถึงหรือขาดโอกาสที่จะเข้าถึงศูนย์กลาง เด็กชายขอบก็คือ เด็กที่ขาดโอกาสหรือมีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงทรัพยากร โอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาในแง่ต่างๆ เด็กที่อยู่บนดอยทุรกันดาร หรือเด็กที่อยู่ในเมืองหลวงที่มีความเจริญแต่อยู่ในชุมชนแออัด หรือเด็กไร้สัญชาติ เด็กค้าประเวณี เด็กขอทาน  เหล่านี้ล้วนเป็นเด็กชายขอบทั้งสิ้น              

สังเกตว่า ภาวะความเป็นเด็กชายขอบนี่ไม่เกี่ยวว่าจะอยู่ที่ไหนนะครับ แต่ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาอยู่อย่างไรมากกว่า คือมีชีวิตอยู่แล้ว มีคุณภาพชีวิตแค่ไหน มีสุขภาวะ (well-being) แค่ไหน บางทีอยู่บ้านหรูหราใหญ่โต แต่พ่อแม่ชอบใช้ความรุนแรงกับลูก เด็กที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวอันนี้ก็เป็นเด็กชายขอบได้เหมือนกัน            

ถ้าเราดูให้ดี มองคนอื่นมิใช่ด้วยสายตา แต่มองลึกไปด้วยหัวใจ จะพบว่ามีเด็กชายขอบก็อยู่รอบตัวเราไปหมดนะครับ จริงอยู่ เราสามารถมองเด็กพวกนี้เป็นเด็กที่มีปัญหา แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราเชื่อมั่นในการพัฒนาคน และศรัทธาในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราก็จะพบว่าเด็กเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพแฝงเร้นอยู่ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และถ้าเราจะช่วยให้เขาค้นพบศักยภาพในตัวเขาเอง เราก็อาจจะค่อยๆค้นพบตัวเราเองด้วย อีกทั้งเราและเขาเองอาจจะเข้าถึงสิ่งต่างๆอีกมากมายที่เราไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน          

ความรักและเข้าใจต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น เป็นองค์ประกอบของปัญญา ซึ่งเป็นวิถีสำคัญที่นำไปสู่การสร้างสุขภาวะ             

ไม่รู้จักสภาวะของตนเอง ไม่เรียนรู้ที่จะมองตนอย่างเชื่อมโยงกับผู้อื่น จะเป็นผู้มีปัญญาได้อย่างไร และหนทางสู่สุขภาวะก็ย่อมตีบตัน             แล้วเราจะช่วยให้เขารักและเข้าใจต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น เพื่อเข้าถึงสุขภาวะด้วยตัวเขาเองได้อย่างไร

หลายคนใช้วิธีการต่างกันออกไป แต่สำหรับผมคำตอบหนึ่งอยู่ที่ไอคิโด            

เด็กที่ผมได้มีโอกาสไปฝึกสอนไอคิโดให้ที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน แทบทุกคนเป็นเด็กชายขอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหลายๆทาง    

            แม้มารยาทบนเบาะยังอ่อน เมื่อเทียบกับโดโจหรือสถานฝึกทั่วไป เพราะที่นี่เราจะให้เด็กคุยกันได้บ้าง ไม่งั้นเด็กจะตึงเครียดซึ่งไม่ส่งผลดีกับการฝึกเอาซะเลย ก็ให้คุยกันได้บ้างในระหว่างการอบอุ่นร่างกาย

            นอกจากนี้ ความรับผิดชอบของเด็กที่มาฝึกไม่เพียงแต่การปูเบาะเก็บเบาะ แต่ยังต้องไปติดตามให้เพื่อนมาซ้อม ไปดูอุปสรรคที่ทำให้เขาขาดซ้อมด้วย ขาดเหลืออะไรต้องรักกัน ต้องช่วยกัน อันนี้เป็นวัฒนธรรมการฝึกที่ผมพยายามบ่มเพาะให้พวกเขาดูแลกัน เป็นกลุ่มทางสังคมเล็กๆที่ค่อยๆก่อตัวขึ้น 

 

            การสร้างกลุ่มทางสังคม และวัฒนธรรมกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ก็จำต้องมีสัญลักษณ์เพิ่มเข้ามา ก็เลยมีโลโก้ของกลุ่ม แต่ที่นี่เราไม่สามารถจัดให้มีการสอบเลื่อนสายได้ ก็เลยต้องจัดเครื่องจูงใจให้กับเด็กๆ เป็นกติกาที่ผมวางร่วมกันกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชุดฝึกซึ่งได้รับบริจาคจากผู้มีน้ำใจ รวมทั้งเสื้อแจ็คเก็ต และประกาศนียบัตรเป็นรางวัลให้กับผู้ที่สะสมชั่วโมงซ้อมได้ในระดับต่างๆ

            เหล่านี้เป็นรางวัลที่เด็กๆกว่าจะได้ พวกเขาก็ต้องพากเพียรมาฝึกให้ได้ชั่วโมงสะสมครบตามที่ตั้งไว้ ตั้งแต่สามสิบชั่วโมงขึ้นไป จนถึงหนึ่งร้อยชั่วโมง ก็จะมีรางวัลในระดับต่างๆ แต่พวกเขาต้องไปบำเพ็ญประโยชน์อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดงานวันเกิดให้กับสมาชิกเด็กๆที่เกิดในเดือนต่างๆอีก (เน้นแบบพอเพียง แบบรวมกันจัด เดือนละครั้ง) น่าดีใจที่ปัจจุบันมีเด็กฝึกสะสมเลยเจ็ดสิบชั่วโมงไปแล้วสองคน    <p style="margin: 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">            ผมมีหลักการสอนว่า พยายามสอนไอคิโดให้เขากับภูมิหลังและประสบการณ์ของพวกเขาให้มากที่สุด จากการฝึกที่เป็นรูปธรรมแล้วค่อยๆสอดแทรกแนวคิดจริยธรรมที่เป็นนามธรรมเข้าไป แล้วประเมินพฤติกรรมของเด็กเป็นระยะๆ</p>  <p style="margin: 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">            ที่สำคัญ กระบวนการเหล่านี้ต้องผ่านการทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นหนักเบาตามสถานการณ์ได้</p>  <p style="margin: 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal">            เด็กที่เคยมาฝึกรุ่นปีที่แล้วห่างหายไป แต่ยังคงทักทายถามไถ่กันอยู่ ส่วนเด็กใหม่ในปีนี้ หลายคนมาแรง ขยันซ้อมอย่างสม่ำเสมอ และปรับพฤติกรรมเชิงบวกขึ้นหลายประการ ไม่ว่าความเป็นวินัย การมีเหตุมีผล การตอบโต้โดยไม่ใช้ความรุนแรง การรู้จักเอาใจใส่ผู้ร่วมฝึก การรู้จักปล่อยวางจากอารมณ์แล้วใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา จนถึงความมั่นคงในอารมณ์ เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่เด็กๆได้ฉายภาพสะท้อนออกมาในระหว่างการฝึกชัดขึ้น….ชัดขึ้น</p><p style="margin: 0pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p><p>               มีอยู่วันหนึ่ง ผมถามเด็กหญิงลูกศิษย์วัยสิบเอ็ดขวบว่า นี่ ตอนนี้เธอพอจะใช้ไอคิโดทุ่มเพื่อนในชั้นเรียนให้บาดเจ็บได้แล้ว ถ้ามีเพื่อนชายมาจะรังแกเธอ เธอจะทำยังไง?”</p><p></p><p align="center"> ก็เดินหนีสิคะครู </p><p>ผมยิ้ม และชื่นชมใน ความกล้าหาญ ของเธอ และนึกขอบคุณที่ทำให้ผมเกิดการเรียนรู้ขึ้นอีกบทหนึ่ง </p><p> …..จนเป็นที่มาของบทความชิ้นนี้ </p><p>จากนิยามของคำว่า สุขภาวะที่กินความกว้างขวางขึ้นให้รวมเอาด้านปัญญา ( Spiritual well-being) และด้านองค์รวม และเปลี่ยนจุดเน้นจากการซ่อมสุขภาพ มาเป็นการสร้างเสริมสุขภาพก่อนที่จะเกิดโรค หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวบุคคลมิให้เกิดความรุนแรงต่อร่างกายและจิตใจทั้งตนเองและผู้อื่น </p><p>จากประสบการณ์ดังกล่าว ผมจึงคิดว่า ไอคิโดจึงเป็นการพัฒนาสุขภาวะของเด็กได้ ไม่น้อยไปกว่ากระบวนการใดๆ  </p><p style="margin: 0pt; text-indent: 36pt; text-align: justify" class="MsoNormal">ก็เลยนำมุมมองของคนทำงานพัฒนาท้องถิ่นมาเล่าสู่พี่น้องผองเพื่อน เผื่อนำไปเป็นแนวทางสร้างสุขภาวะแก่เด็กๆและคนทั่วไปได้ไม่มากก็น้อย</p><p style="margin: 0pt; text-indent: 36pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p><p style="margin: 0pt; text-indent: 36pt; text-align: justify" class="MsoNormal"></p><p align="center"> เรียนไอคิโดแล้ว ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดนะครับ </p><div>
</div><div><hr width="33%" size="1"></div><div id="ftn1"> [1] ดูเพิ่มเติมใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต) 2549 สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2549 หน้า 4-9. </div>

หมายเลขบันทึก: 155957เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

เพิ่งได้ยิน "ไอคิโด" เป็นครั้งแรกครับ ฟังแนวทางการฝึก ผลลัพธ์ที่ได้ เหมือนกับกำลังฝึกซามูไรเลยนะครับ เข้าใจว่ามีรากฐานมาจากที่เดียวกัน "บูชิ" แปลว่านักรบ "ไอคิ" แปลว่าอะไรครับ

พี่เป็นคนแม่ฮ่องสอนเลยหรือเปล่าครับ .. ดีใจแทนเด็กๆ นะครับ ที่มีพี่ชายใจดี เสียสละตัวเองเพื่อพวกเขา หวังว่าน้องๆ ของผมจะมีสุขภาวะที่ดี และไอคิโดจะช่วยเติมเต็มความเป็นคนของพวกเขาให้สมบูรณ์ ตามจุดประสงค์ของอาจารย์ผู้สั่งสอน :-)

ขอบคุณครับ 

 

สวัสดีครับน้องต้นกล้า

  • "ไอคิโด" มาจากภาษาญี่ปุ่นสามคำ" ไอ" แปลว่า ความรักความกลมกลืนปรองดองกัน  "คิ" แปลว่า พลังจากภายใน จิตวิญญาณ
  • ส่วน "โด"  แปลว่าวิถีทาง
  • โดยรวมแล้ว ไอคิโด แปลตามตัวว่า เป็นวิถีทางในการใช้พลังจากเบื้องลึกภายในมนุษย์เพื่อสร้างความรักความปรองดอง
  • ถ้าจะถามว่า เป็นศิลปการป้องกันตัวไหม ก็เป็นครับ เพราะด้วยความหมายนี้เป็นความหมายนี้สื่อสารให้สังคมเข้าใจง่าย
  • แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ไอคิโด เป็นวิถีทาง เป็นศาสตร์และศิลปในการสร้างสันติมากกว่า ไม่ได้นำไปใช้รุกราน หรือแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกับใครเขาครับ
  • ผมเป็นชาวเชียงใหม่โดยกำเนิดครับ จะว่าไปผมโชคดีมากกว่าเด็กที่แม่ฮ่องสอนมากนะครับ ที่ได้มีโอกาสดีๆในชีวิตมากมาย ทุกวันนี้ผมก็มีชีวิตที่ดีกว่าเขาเยอะแยะครับ กำลังพยายามขัดเกลาตัวเอง และผมยังต้องฝึกตนอีกมากกว่ามากครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท