ระเบียบวาระแห่งชีวิต 3 การศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต


ผมให้ความสำคัญในเรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) มากกว่า เพราะเข้ากับวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติของมนุษย์

 

ระเบียบวาระแห่งชีวิต 3

การศึกษาคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

  

                        วันนี้ล่วงเข้าวันที่ 6 ที่ต้องทบทวนชีวิตตนในหัวข้อ  การศึกษาเรียนรู้  ได้แก่ การเรียน การแสวงหาความรู้ การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อการพัฒนาชีวิต  เราได้ศึกษาเรียนรู้อะไร อย่างไร เหมาะควร หรือดีเพียงพอแค่ไหน   เพื่อประกาศเป็นวาระแห่งชีวิตที่เรียกว่า  แบบแผนการเรียนรู้

  

                       เมื่อพูดถึงการศึกษาหรือการเรียนรู้ ผมให้ความสำคัญในเรื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิต  (Lifelong Learning) และการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) มากกว่า  เพราะเข้ากับวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติของมนุษย์ 

                      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำรัสที่แสดงถึงการเรียนรู้ของมนุษย์ตามแนวปรัชญาการศึกษาตลอดชีวิตไว้  เนื่องในโอกาสวันไหว้ครู ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2526 ว่า

                   " วิชาการต่าง ๆ ในสังคมทุกวันนี้ มิได้อยู่นิ่งกับที่ แต่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลาคนที่เรียน จบสูง ๆถ้าอยากจะอยู่อย่างก้าวหน้า ควรทำการค้นคว้าศึกษาเล่าเรียนต่อไป แม้จะมิใช่ การศึกษาเล่าเรียนในระบบ เช่น อาจเข้ารับการอบรมสัมมนา ฟังการอภิปราย หรือชมนิทรรศการว่ามีอะไรใหม่ ๆ การฟังข่าวสารจากวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ ก็จำเป็น ทำให้เรารู้ว่าวิทยาการ ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัว เรามันไม่อยู่กับที่ เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา "

            
                        นายกล้า สมตระกูล อดีตรองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้อธิบายแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาตลอดชีวิตไว้ว่า

             การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หมายถึง การรับรู้ความรู้ ทักษะ และเจตคติ ตั้งแต่เกิดจนตายจากบุคคลหรือสถาบันใดๆ โดยสามารถ จะเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนต่างๆ อย่างมีระบบหรือไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งนี้สามารถทำให้บุคคลนั้นเกิดการพัฒนา ตนเอง


               การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) หมายถึง การจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัด การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non - Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง และปรับตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก

                      จากแนวคิดดังกล่าวก็คงพอที่จะทบทวนตนเองได้ว่า การเรียนรู้และการศึกษาของเราไม่ได้ติดยึดอยู่ที่การศึกษาในระบบ ต้องเรียนถึงปริญญาโท-เอก จบปริญญาเอกแล้วจะหมายถึงเป็นคนฉลาด การศึกษาไม่ได้จบสิ้นอยู่ที่นี่ แต่เราต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพื่อการพัฒนาตนเองตลอดเวลา  ปริญญา คือใบผ่านที่ยอมรับในความรู้ตามทฤษฎี หลักการและการคิดค่าเงินเดือนที่สังคมตีตราให้เท่านั้น แต่ไม่ได้รับรองว่าบุคคลนั้นมีความรู้ ความสามารถที่แท้จริง คนที่ไม่ได้จบปริญญาก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต การงานอาชีพได้ ก็ฝากแนวคิดดังกล่าวนี้แก่บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่กำลังเคี่ยวเข็ญลูกหลานให้เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างเอาเป็นเอาตายด้วย ไม่ได้เข้าจุฬา ธรรมศาสตร์แล้วต้องอับอายขายหน้าวงศ์ตระกูล ใจสลาย หรือเสื่อมเสียแต่อย่างใด

                    มหาวิทยาลัยที่แท้จริง คือ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต หมายความว่า แหล่งเรียนรู้ที่ทำให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุขคือแหล่งเรียนรู้ข้างนอก เป็นสังคมภายนอกที่มีสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้มากมายเกินกว่าความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย

                    ในปีใหม่นี้ หากเราต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ต้องให้ความสำคัญในการแสวงหาความรู้จากโลกภายนอกให้มาก ด้วยการอ่านหนังสือ ค้นคว้า วิจัย จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศ ทางอินเทอร์เน็ต หรือแหล่งเรียนรู้จากชุมชน แต่ถ้าเราต้องการได้ความรู้ที่ตีตราเป็นค่าปริญญาบัตร ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่หลงคิดว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิต เรียนได้ก็เรียน เรียนไม่ได้ก็ไม่ใช่จะหมดหนทาง การเข้ามาเรียนในระบบเป็นเพียงการเพิ่มเติมความรู้ความคิดเท่านั้น แต่ไม่ใช่คำตอบที่สุดของการเรียนรู้ชีวิต  หรือเพื่อการทำงาน

                   วาระแห่งชีวิตที่ประกาศเป็นแบบแผนการเรียนรู้ของเราจึงน่าจะหมายถึง  การเรียนรู้จากสังคม ชุมชน โลกภายนอกแล้วนำมาประยุกต์เพื่อการพัฒนาตนเอง  เช่น การอ่านการเขียนเว็บบล็อกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันก็เพื่อพัฒนาความรู้ แนวคิด ทรรศนะ ของตนให้ถูกต้อง  เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากคนอื่น และคนอื่นๆ ก็เรียนรู้จากเรา เพราะฉะนั้น ในปีใหม่ก็จำเป็นต้องเร่งค้นคว้า เรียนรู้จากคนอื่นๆ ให้มาก ไม่ใช่เฉพาะในโลกอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่จากคนรอบข้าง คนอื่นๆ ในสังคม 

                ที่สำคัญ เราได้เรียนรู้อะไรจากตนเองหรือยังเท่านั้น ถ้ายังเราควรทบทวนตนเองเพื่อเรียนรู้ความรู้ ความคิด ความต้องการของเราเองเสียก่อน เราจึงจะสามารถเรียนรู้ผู้อื่นได้ถูกต้อง 

               "อ่านตนก่อนอ่านคนอื่น" 

               "แก้ไขตนก่อนแก้ไขคนอื่น"

               "โทษตนก่อนโทษคนอื่น"

               "รักตนก่อนรักคนอื่น"

 

            ท่านว่าจริงไหมครับ?     

หมายเลขบันทึก: 155951เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2007 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงครับ

การใช้เวลาทบทวนตนเองเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ เพราะเรามักมองคนอื่น เราไม่มองตัวเราก่อนว่าเราเป็นเช่นไร เวลาชี้นิ้วใส่คนอื่น๑ นิ้ว มันชี้กลับมาที่ตัวเราถึง ๔ นิ้ว(อย่างน้อยก็สามนิ้วแหละ อิอิ) การทบทวนวาระชีวิตแต่ละขั้นที่อาจารย์ดำเนินอยู่นี้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการศึกษาตลอดชีวิต เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผมตลอดมา และดีใจที่อาจารย์หยิบเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อเพราะจะได้กระตุ้นเตือนให้ผู้ใหญ่อย่างเราทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กรุ่นหลังเห็นครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท