เจริญ ดินุ : รากเหง้าของข้าพเจ้าคือปกาเกอะญอ


แต่ก่อนเวลาเข้าเมือง ผมรวมทั้งเพื่อนๆ ผมทุกคนรู้สึกอายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าผมเป็นปกาเกอะญอ เราจะสวมใส่ชุดแบบสมัยใหม่และทำอะไรให้กลมกลืนไปกับคนเมือง แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่อาย ผมรู้ว่าผมเป็นใคร บรรพบุรุษผม รากเหง้าผมคือปกาเกอะญอ พวกเรามีความรู้ มีภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน เราจึงดำรงเผ่าพันธุ์ของเรามาได้ถึงทุกวันนี้

 

วันเสาร์กลางเดือนตุลา ๕๐ ผมไปร่วมกับคณะอาจารย์ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้จากหลายศูนย์เรียนรู้ในเขตเชียงใหม่ เพื่อฟังนักศึกษานำเสนองานวิชาการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนั้นมีนักศึกษาร่วมร้อยคนมาร่วมจากหลายอำเภอ เช่น อ.เมือง อ.ดอยสะเก็ด อ.อมก๋อย อ.แม่ออน และ อ.แม่วาง มาพร้อมกันที่วัดร่องขุ่น อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อันเป็นที่ตั้งศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตอำเภอดอยสะเก็ด 

 

การนำเสนอดำเนินไปทั้งวัน กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ตั้งแต่เช้าจนบ่ายแก่ๆ ถึงคิวของกลุ่มนักศึกษาจากศูนย์เรียนรู้ อ.แม่วาง ออกมานำเสนอ

 

ตัวแทนของนักศึกษากลุ่มนี้คนหนึ่งสวมเสื้อแจ็กเก็ตฟิลด์ตัวใหญ่ พร้อมถือเครื่องดนตรีรูปร่างแปลกๆ คล้ายๆ Harp แบบโบราณที่ผมเคยเห็นในภาพของชาวอียิปต์โบราณออกมาด้วย

Jareon1.jpg


ก่อนที่จะเริ่มนำเสนอเขาถอดเสื้อแจ็กเก็ตออก เผยให้เห็นเสื้อแบบชนชาติของเขา ซึ่งผมดูก็รู้ทันทีว่าเป็นปกาเกอะญอ

เขาบอกที่ประชุมสัมมนาว่าชื่อเจริญ ดินุ จะนำเสนอเรื่องเครื่องดนตรีเตหน่าผมจึงได้ทราบว่าเครื่องดนตรีที่เขาถือออกมาเรียกว่า เตหน่า

ก่อนที่จะเล่าเรื่องเครื่องดนตรีเตหน่า เขาขอเล่นให้ฟังเพลงหนึ่งก่อน เพลงที่เขาเล่นและร้องเป็นภาษาปกาเกอะญอเพลงนั้น ผมฟังแล้วรู้สึกคุ้นมาก นึกไปนึกมาก็นึกออกว่าคือเพลงคนกับควายของวงคาราวานนั่นเอง แต่เป็นเวอร์ชั่นภาษาปกาเกอะญอ 

เล่นจบไปเพลงหนึ่งแล้ว เขาก็เล่าให้พวกเราฟังว่า เขารักเครื่องดนตรีนี้มาก ไปที่หมู่บ้านไหนได้ยินเสียงเตหน่าก็รู้ทันทีว่าเป็นหมู่บ้านของชนชาติเดียวกัน ผู้เป็นเจ้าของเตหน่าแต่ละตัวจะสร้างเครื่องดนตรีชนิดนี้ขึ้นมาเองจากไม้และสายเบรกรถจักรยานยนต์และจักรยานถีบ

ในการนำเสนอนักศึกษาแต่ละกลุ่มต้องนำเสนอคุณค่าของความรู้ที่ตนได้พบมาจากการศึกษาด้วย ผมจำได้ว่าวันนั้น เจริญเป็นผู้นำเสนอเรื่องคุณค่าด้านจิตวิญญาณออกมาจากเครื่องดนตรีเตหน่าที่เขาถืออยู่ในมือ และจากแววตาที่เขามองผู้ฟังได้ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง

 

นักศึกษาที่มาจากศูนย์เรียนรู้ อ.แม่วาง มีนักศึกษาที่เป็นชนชาติปกาเกอะญอหรือที่คนเมืองเรียกพวกเขาว่ากะเหรี่ยงอยู่หลายคน แต่ผมมักหลีกเลี่ยงที่จะพูดคำว่ากะเหรี่ยงไม่ว่าที่ใดโอกาสใด เพราะเคยมีคนบอกผมเมื่อสัก ๓๐ ปีมาแล้วว่า คำว่ากะเหรี่ยงหรือ “Karen” ในภาษาฝรั่งนี้ ชาวปกาเกอะญอเขาไม่ชอบเพราะเป็นคำที่อมความหมายของความดูหมิ่นถิ่นแคลนพวกเขาว่าเป็นคนป่า นับแต่นั้นมาผมจึงไม่เรียกพวกเขาว่ากะเหรี่ยงอีกเลย

 

ปลายเดือนพฤศจิกายน อากาศทางเหนือเริ่มหนาว ผมไปถ่ายทำวิดีโอสารคดีปริญญาชีวิตที่น่านและเชียงใหม่ คราวนี้เรามีโอกาสได้ขึ้นไปเยี่ยมและถ่ายทำเรื่องราวของเจริญที่บ้านหนองเต่า ต.แม่พริก อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

Jareon3.jpg

 

จากการพูดคุยกันกับพ่อ แม่ และพี่ชายของเจริญ ทำให้ได้ทราบว่า เจริญเพิ่งมาเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมหลังจากเข้าเป็นนักศึกษาในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

 

พี่ชายเล่าว่าเขาเป็นคนสอนเจริญทำเครื่องดนตรีเดหน่าและสอนวิธีเล่นให้เอง ก่อนนี้เจริญจะเล่นแต่กีตาร์ เดี๋ยวนี้เขากลับมารักทุกอย่างที่เป็นปกาเกอะญอ

 

เจริญทำงานเป็นพนักงานบริการผู้ป่วยที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแม่วาง โดยพักอยู่ที่หอพักระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ และจะกลับหนองเต่าในวันหยุด เขาเอาเตหน่าติดตัวไปแม่วางและเอากลับมาด้วยทุกครั้งที่กลับหนองเต่า 

เจริญบอกว่าผมอยู่ที่ไหน เตหน่าอยู่ที่นั่น บางคืนผมก็นอนกอดเตหน่าซึ่งผมวิเคราะห์เอาเองในใจว่า เขาใช้เตหน่าเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งที่คอยเตือนให้เขาระลึกถึงตัวตนของเขาที่เป็นปกาเกอะญอ 

 

แต่ก่อนเวลาเข้าเมือง ผมรวมทั้งเพื่อนๆ ผมทุกคนรู้สึกอายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าผมเป็นปกาเกอะญอ เราจะสวมใส่ชุดแบบสมัยใหม่และทำอะไรให้กลมกลืนไปกับคนเมือง แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่อาย ผมรู้ว่าผมเป็นใคร บรรพบุรุษผม รากเหง้าผมคือปกาเกอะญอ พวกเรามีความรู้ มีภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน เราจึงดำรงเผ่าพันธุ์ของเรามาได้ถึงทุกวันนี้ 

 

ผมจะลืมรากเหง้าตัวเองได้อย่างไร ในเมื่อรกของผมและของพี่น้องทุกคนก็ฝังรวมกันอยู่ที่ใต้บันใดบ้านนี้เจริญพูดขึ้นขณะพาพวกเราเดินขึ้นบันใดบ้านพ่อแม่ 

 

ฟังแล้วผมจึงได้เข้าใจว่า เจริญสวมชุดปกาเกอะญอไปเรียนในวันนั้น(และวันอื่นๆ) อย่างตั้งใจ

ตั้งใจยืดอกประกาศตัวเลยว่าข้าพเจ้าเป็นปกาเกอะญอและกล้าประสานตากับใครก็ตามอย่างไม่รู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ของตัวเองจะน้อยไปกว่าใครที่ไหน 

ผมเล่าเรื่องหนุ่มปกาเกอะยอคนนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นผลที่เกิดขึ้นต่อชีวิตของนักศึกษาที่เข้าในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปในระดับจิตสำนึกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล

 

เป็นตัวอย่างของคนที่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เห็นคุณค่าของตัวเอง เกิดความมั่นใจในตัวเอง ในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์คนหนี่งของตัวเองและเผ่าพันธุ์

 

ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ อ.เสรี พงศ์พิศ ที่พูดกับนักศึกษาอยู่เสมอว่า เรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตแล้วจะต้องสามารถอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินและเรียนแล้วต้องได้ทั้งปัญญาและปริญญา

และสำหรับหลายๆ คน พวกเขาได้ปริญญาชีวิตไปแล้ว ก่อนที่จะได้ปริญญาบัตรในอีกปีกว่าๆ

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

๒๕ ธ.ค.๕๐

 

หมายเหตุ - อ.เสรี พงศ์พิศ เคยเขียนถึงคำถามของนักศึกษาที่เป็นปกาเกอะญอ ในชื่อเรื่องว่า การฟัง การอ่าน และความสุข คำถามของปะกากะญอ ในเว็บไซต์ของท่าน (www.phongphit.com) คลิกอ่านได้ที่ http://www.phongphit.com/index.php?option=com_content&task=view&id=262&Itemid=2

 

หมายเลขบันทึก: 155913เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
สุรศักดิ์ แจ่มเจริญ
ผมอ่านแล้วได้ความรู้ใหม่ที่ท่าน อ.สุรเชษฐ์ได้นำเสนอไว้ในบล็อคนี้ ขอขอบพระคุณมากครับ 19 มกราคม 2551 นี้ ผมจะไปสอนนักศึกษาปี 2 ที่บ้านร่องขุ่น ไม่แน่ใจว่าคุณเจริญเรียนอยู่ปี 1 หรือ 2 ครับ

คุณเจริญเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ ครับ อ.สุรศักดิ์

สุรศักดิ์ แจ่มเจริญ

ขอบพระคุณท่าน อ.สุรเชษฐ์มากครับ

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์(พี่) เชษฐ สำหรับบทความดีๆ อ่านสนุก ได้ความรู้ใหม่ๆ สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสไปเดินทางบ่อยนัก ..อ่านแล้วตัวเองรู้สึกสุขใจจากการอ่านจริงๆ คะ 

ขอชื่นชมคุณเจริญ ดินุ อีกครั้งจากใจจริงคะ สำหรับ"การเป็นตัวอย่างของคนที่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เห็นคุณค่าของตัวเอง" 

อ่านเรื่องคุณเจริญก็นึกถึง คำของ Socrates ที่กล่าวไว้ว่า ................."He is the richest who is content with the least, for content is the wealth of nature ผู้ที่มีความพอใจต่อสิ่งเล็กน้อยที่ตนมีอยู่ คือผู้ที่ร่ำรวยที่สุด เพราะนั่นคือทรัพย์ของธรรมชาติ"

 

  แวะมาสวัสดีปีใหม่ค่ะ   ขอให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ   เชิญรับPostcard: กระดาษแผ่นเล็กๆที่บอกเล่าเรื่องราวจากหัวใจ ได้เลยนะคะ

สวัสดีปีใหม่ P naree suwan

เข้าไปดูโปสการ์ดแล้วครับ ขอบคุณมากสำหรับความรู้ รูปปลาแซมอนน่าทึ่งจังเลยครับ

โชคดีปีใหม่  ขอให้มีความสุขมากๆครับ

ดีใจมากครับ ที่ได้เห็นนายเจริญ เพราะเจริญอยู่บ้านหนองเต่า บ้านเกิดผมเอง ส่วนผมมาอยู่ที่ออสเตรเลียแล้วหล่ะ แต่ผมเองก็ไม่เคยลืมเตหน่าครับ เตหน่าที่ออสเตรเลีย เมืองเมลเบอมร์สงสัยมีตัวเดียวครับ มีปู่คนหนึ่งย้ายมาอยู่ที่ออสเตรเลีย พร้อมนำเตหน่าติดตัวมาด้วย พอจะขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิตม.ไม่ให้นำเครื่องดนตรีชิ้นนี้ขึ้นเครื่อง ปู่บอกกับตม.ว่าถ้าไม่ให้นำเตหน่าชิ้นนี้ขึ้นเครื่องผมจะไม่ไปออสเตรเลีย ตม.เลยยอมให้ขึ้น มาวันนี้ที่ออสเตนเลียปู่แก่มาก บอกกับผมว่าปู่เล่นไม่ไหวแล้วเลยมอบให้ผมเล่นครับ ที่ออสเตรเลียมีกะเหรี่ยงมากแต่ไม่เห็นมีไครเล่นเตหน่าเป็นเลย ที่ออสเตรเลียถ้าไครเล่นดนตรีชิ้นนี้เป็น บอกได้เลยครับ เท่มากๆ ฝรั่งชอบมากครับไม่เคยเห็นเครื่องดนตรีชิ้นนี้มาก่อนครับ ผมดีใจที่เยาวชนบ้านผมเล่นเตหน่าเป็นกันหลายคนแล้วครับ สู้ๆ เป็นกำลังใจให้ครับ

ขอบคุณคุณชญานนท์ที่เขียนความเห็นในบล็อกผม

ผมจะส่งต่อข้อคิดเห็นนี้ไปถึงคุณเจริญนะครับ

อ้อ...ฝากความนับถือในจิตวิญญาณของปู่คุณชญานนท์ด้วยครับเรื่องที่ยืนยันว่าถ้าไม่ให้เอาเตหน่าขึ้นเครื่อง ตัวผู้โดยสารนี้ก็จะไม่ขึ้นเครื่่องเช่นกัน

ขอบคุณพี่ สุรเชษฐ มากครับ ผมติดตามงานเขียนของพี่ อ่านแล้วรู้สึก happy มากครับ

เก่อเส่ทู (เจริญ ดินุ)

ครับ ผมต้องขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ ดร.เสรี พงศ์พิศและท่านอาจารย์ สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ อย่างสูงครับที่ท่านอาจารย์ ได้เห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆที่เป็นเครื่องดนตรีของชน ปากาเก่อญอ เครื่องดนตรีนี้ คือ เตหน่า บางครั้งบางคราวเราอาจมองข้ามสิ่งที่เรามีอยู่ในตัวสิ่งที่ใกล้ตัวทั้งที่มีคุณค่า มีความหมาย แต่เรามองไม่เห็น ดังนั้นผมอยากเชิญชวนพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆทุกคนทั้งที่เป็น ปากาเก่อญอ และรวมทั้งพี่น้องชนเผ่าอื่นๆว่า เอกลัษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีอยากจะให้เก็บรักษาและ สืบทอดเจตนรมณ์ของบรรพบุรุษเพื่อให้คงอยู่คู่ชนเผ่าต่อไปและถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน รู่นต่อรู่น เพราะสิ่งเหล่านี้ มีคุณค่า มีความหมาย มีจิตวิญญาณ เราอาจมองด้วยตาอาจไม่เห็น กาลเวลา โลก อาจไม่อยู่กับที่ แต่เราสามารถอยู่ได้2โลกคือ โลกของชนเผ่า และโลก ณ.ปัจจุบัน

นายเจริญดูเป็นผู้ใหญ่เยอะเลยนะพี่ ใช่ทุกเผ่ามีค่าของตัวมันเอง เราแตกต่างแต่เราไม่แตกแยก ขอให้โลกนี้มีแต่ความสงบสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท