ระเบียบวาระแห่งชีวิต ๒


ในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ก็คงต้องสำรวจตรวจสอบและทบทวนตัวเองดู แล้วประกาศเป็นวาระแห่งชีวิตไว้ในระดับที่ปฏิบัติได้

 

 

 

ระเบียบวาระแห่งชีวิต ๒

 

                ช่วง ๔ วันที่ผ่านมา คือตั้งแต่วันที่ ๒๒ - ๒๕ ธันวาคม  ผมได้ทบทวนชีวิตของตน ๔ หัวข้อ คือ ชีวิตครอบครัว  ญาติพี่น้อง  มิตรสหาย  และชีวิตการทำงาน ตามแผนที่วางไว้และทำวาระแห่งชีวิตไว้  ผมก็อยากนำมาเล่าไว้ให้อ่านกันเล่นๆ

               ชีวิตครอบครัว     ครอบครัวคือหัวใจของสังคม  เพราะครอบครัวคือหน่วยย่อยที่กาะเกี่ยวกันเป็นสังคม  การเกาะเกี่ยวเริ่มต้นจากสมาชิกไม่กี่คนที่สัมพันธ์กันทางสายโลหิต  คือ พ่อ แม่ ลูก ซึ่งสมานกันด้วยความรัก  เพราะฉะนั้น เมื่อเราทบทวนชีวิตครอบครัวก็ต้องเริ่มจากความรัก อันเป็นความรักที่บริสุทธิ์  มีความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ

              หลายครั้งเราปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวโดยละเลยซึ่งความรัก  ทำให้สมาชิกหมางเมิน เสมือนไม่ใช่คนในครอบครัว

              หลายครั้งเราปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวโดยคิดว่าเป็นความรัก แต่แท้จริงเป็นความรักตนเอง (ที่เห็นแก่ตัว)

              ด้วยเหตุนี้ ความแตกแยก ความร้าวฉาน การทำร้ายสมาชิกครอบครัวด้วยกาย  ด้วยวาจา และทำร้ายจิตใจ  จึงมีให้เห็นในครอบครัวเสมอ  

              ในปีใหม่นี้จึงควรวาง แบบแผนครอบครัว  โดยยึดถือความรักที่มีเหตุผล คำนึงความสัมพันธ์ในสายโลหิตให้มาก มีความปรารถนาดี และมีประชาธิปไตยในครอบครัว ให้โอกาส  ให้อภัย ในข้อบกพร่องของสมาชิก และให้กำลังใจด้วยความรักที่บริสุทธิ์   

            ญาติพี่น้อง   วงศาคณาญาติ คือหน่วยสังคมที่เกาะเกี่ยวครอบครัวไว้อีกชั้นหนึ่ง เราไม่สามารถปฏิเสธความสัมพันธ์ทางสายโลหิตของญาติพี่น้องได้  บิดา มารดา  คือพระพรหมของเราที่มีพระคุณสุดพรรณนา  การปฏิบัติตนต่อผู้มีพระคุณยิ่งมหาศาลทั้งสองท่านนี้ คือการแสดงความกตัญญู กตเวทิตา อย่างยิ่ง ถึงขั้นที่สุดของชีวิตก็ไม่อาจทดแทนพระคุณท่านได้หมด เพราะฉะนั้น  การแสดงออกต่อท่านจึงต้องมาจาก ความรัก  และ   หน้าที่ ที่พึงปฏิบัติ  ไม่ล่วงเกินท่านด้วยกาย  ด้วยวาจา และทำร้ายจิตใจท่าน

           ส่วนพี่น้องในครอบครัวนั้น  เป็นสายเลือดเดียวกันที่ต้องคำนึงว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ"  การปฏิบัติต่อกันจึงต้องใช้ ความรัก  เช่นเดียวกัน การดำรงวงศ์ตระกูลให้ดีงามก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ดีต่อกัน   การช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกันก็เป็นการปฏิบัติที่ดีงาม   

          ในปีใหม่นี้ ก็ควรวาง แบบแผนวงศาคณาญาติ ไว้โดยยึดถือความรัก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อดำรงวงศาของตนไว้

          มิตรสหาย     ในสังคมขาดเพื่อนไม่ได้  เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมอย่างโดดเดี่ยว เราจะต้องมีคนมาสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย  เพื่อนคือคนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเราให้ประสบผลสำเร็จในหลายๆ เรื่อง  เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมสังคมโลก แต่ละฐานะย่อมมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมหนึ่ง ที่พึงปฏิบัติก็คือ ความจริงใจ และความปรารถนาดีต่อเขา  เช่น การรับฟังคำชี้แนะ คำสอน การพึ่งพาอาศัย การช่วยเหลือกันและกัน การไม่ล่วงละเมิด ล่วงเกิน ทำร้ายเพือน  ทำให้สังคมมีสันติสุข

          แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อนที่ดีก็มี เพื่อนที่ไม่ดีก็มาก  "คนรักเท่าผืนหนัง   คนชังเท่าผืนเสื่อ"  เป็นคติที่ต้องพิจารณา  การคบเพื่อนที่ดี ย่อมนำเราไปสู่ความเจริญงอกงาม  ดั่งคำพระในมงคลสูตรว่า  อเสวนา จ พาลานํ   ปณฺฑิตานญฺจ   เสวนา ไม่คบคนพาล  คบบัณฑิต  นี้เป็นมงคลแก่ชีวิต    ดังนั้น  การปฏิบัติตนต่อเพื่อนไม่ว่าจะเป็นคนพาล หรือคดี ต้องมีแนวปฏิบัติต่างกัน

          ในปีใหม่นี้ก็ต้องวาง แบบแผนการคบมิตรสหาย  ไว้เพื่อให้ชีวิตเราเป็นมงคลเหมือนกัน  เช่น  วางเฉยเมื่อจำเป็นต้องสัมพันธ์กับคนพาล  ไม่ควรแสดงออกว่าเราคือศัตรูมุ่งร้ายต่อเขา และช่วยเหลือเขายามเขาเดือดร้อนโดยไม่เพิกเฉย แม้ดูเหมือนทำได้ยาก แต่ถ้าตั้งใจทำโดยลดอัตตาก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก  นอกจากนี้เราต้องแสดงออกซึ่งความปรารถนาดี มีเมตตากรุณา ต่อเพื่อนที่ดีให้มากขึ้น

           สำหรับ  ชีวิตการทำงานนั้น  ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติตน  เพราะไม่ง่ายนักที่เราจะต้องปฏิบัติตนต่อเพื่อนร่วมงานในหลายสถานะ  ทั้งต่อผู้บังคับบัญชา  ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีเป้าหมายองค์กรเดียวกัน  ยกเว้นเป็นงานที่อิสระไม่ขึ้นกับใคร นอกจากตนเอง แต่ก็ยังจำเป็นที่ต้องสัมพันธ์กับคนอื่นเช่นลูกค้าเป็นต้น  

          ที่ว่ายากนั้น ก็เพราะ งานคือชีวิตของเรา  การดำรงตนในสังคมได้อย่างเป็นสุข คือการทำงานเลี้ยงชีพด้วย สัมมาอาชีพ  ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เบียดเบียนสังคมประเทศชาติ

         แบบแผนการทำงาน ตามธรรมะปฏิบัติที่ยึดถือกันมา ได้แก่  อิทธิบาท ๔ หรือ ธรรมแห่งความสำเร็จ (ฉันทะ-ความพอใจรักใคร่   วิริยะ-ความพากเพียร  จิตตะ - ความหมั่นจดจ่อในสิ่งที่ทำ  วิมังสา - การทบทวนแก้ไขให้ดีขึ้น)    ฆราวาสธรรม ๔  หรือ ธรรมแห่งการครองเรือน  (สัจจะ - ความซื่อตรงจริงใจ พูดจริงทำจริง   ทมะ-ความข่มใจ ควบคุมตนเองด้วยปัญญา  ขันติ - ความอดทน อดกลั้น  จาคะ - การบริจาค รู้จักแบ่งปัน) หรืออย่างที่ท่านพระธรรมปิฎกได้บรรยายชี้แนะให้ถึงประโยชน์สาม  ธรรมจักร >> งานเพื่อความสุข และแก่นสารของชีวิต (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)         

              ในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ ก็คงต้องสำรวจตรวจสอบและทบทวนตัวเองดู แล้วประกาศเป็นวาระแห่งชีวิตไว้ในระดับที่ปฏิบัติได้ ดังที่ผมเคยทำไว้ใน ระเบียบวาระแห่งชีวิต : แบบแผนชีวิตตน   ไม่ต้องมากแต่ต้องเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง  ชีวิตในปีใหม่น่าจะสดใส ดีขึ้นครับ

              

หมายเลขบันทึก: 155805เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2007 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

P

นายกรเพชร

 

บันทึกนี้คล้ายคลึงกับที่อาตมาเคยคิด กล่าวคือ อาตมาเกี่ยวข้องอยู่ ๓ กลุ่ม ได้แก่

  • วัด และศาสนา
  • ญาติ
  • เพื่อน

๓ กลุ่มนี้ บางครั้งก็ช่วยเรา และบางครั้งก็สร้างความยุ่งยากมาให้ ซึ่งก็เป็นธรรมดา... แต่ทั้งสามกลุ่มนี้ มีเรื่องมากมายที่เราไม่สามารถกำหนดหรือแก้ไขได้ ก็จำเป็นให้เป็นไปตามเหตุปัจจัย....

อนึ่ง เข้ามาเยี่ยมเพราะเห็นว่าบาลีในมงคลสูตรที่ถูกต้อง เป็นอย่างนี้ คือ

  • อเสวนา จ พาลานํ   ปณฺฑิตานญฺจ   เสวนา
  • การไม่ส้องเสพคนพาลทั้งหลาย และการคบหาเหล่าบัณฑิต...
  เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้าP

        กระผมได้แก้ไขตามที่ท่านบอกเรียบร้อยแล้วครับ  ขออภัยจริงๆ ครับ  สติไม่ค่อยจะมีครับ บางทีความประมาท ขาดสติ ทำให้เราผิดพลาดได้ง่ายอย่างนี้แลครับ  ต้องกราบขอบพระคุณท่านอย่างสูงที่ติติงมาครับ  ผมจะขอนำไปพิจารณาเพื่อควบคุมสติให้มั่นคงต่อไปครับ

       นมัสการมาด้วยความเคารพยิ่งครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท