การให้ทานไม่ใช่โยนของเสีย


“ท่านให้ของแก่คนอื่นเหมือนดังว่าโยนของเสียทิ้งลงท้องร่อง แม้ข้าพเจ้าจะจนแต่ก็มิได้คิดว่าร่างกายของข้าพเจ้าเป็นท้องร่องให้ท่านหรือใคร ๆ ทิ้งของเสียลง”

                โบราณว่า  ต้นไม้ไม่หล่นไกล  ต้นเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ทุกยุคทุกสมัย

ขงจื้อ  หรือที่ฝรั่งเรียกว่า  คอนฟิวเซียส  เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากได้ท่องเที่ยวไปสั่งสอนผู้ครองนครต่าง ๆ  ให้ถืออยู่ในธรรม  ปกครองประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุข

            ขงจื้อมีบุตรชายอยู่คนหนึ่งชื่อ เล  ขงจื้อหมายมั่นปั้นมือจะให้บุตรชายสืบทอดเจตนารมณ์ของตนในการเผยแพร่หลักคำสอนที่จะสร้างสันติสุขแก่ประชาชนชาวจีน

                แต่เลก็อายุสั้นถึงแก่กรรมไปเสียก่อน  ขณะที่ขงจื้ออายุได้  ๗๐  ปี  แต่ความหวังของขงจื้อไม่ถึงกับเป็นหมันทีเดียว  เพราะเลได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ  เค  ก่อนที่จะเสียชีวิตไม่นาน

                ขงจื้อจึงทุ่มเทถ่ายทอดสรรพวิทยาให้แก่หลานรักโดยไม่อำพราง  จนเคได้ชื่อว่าเป็นผู้คงแก่เรียนที่จะสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของปู่ของตน

                เมื่อสิ้นขงจื้อเคก็เริ่มงานรวบรวมคำสอนของปู่เนื่องจากเป็นคนยากจนจึงรับสอนหนังสือเด็กเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวไปด้วย

                ศิษย์บางคนเห็นเคแต่งตัวปอน ๆ  อดมื้อกินมื้อกล่าวกับเคอย่างไร้เดียงสาว่า

 

                ครูครับทำไมครูไม่ใส่เสื้อผ้าดี ๆ  กินอาหารดี ๆ  เหมือนกับครูคนอื่น              

                เค  มักตอบว่า

                ท่านอาจารย์(หมายถึงปู่)พูดไว้ว่านักศึกษาสัจธรรมคนใดอับอายที่จะสวมเสื้อผ้าปอน ๆ  และกินอาหารราคาถูก ๆ  เป็นบุคคลที่ไม่ควรเสวนาด้วย

                คราวหนึ่งเศรษฐีคนหนึ่งฝากเสื้อผ้า  และอาหารมาให้เค  พร้อมสั่งมาว่า  เมื่อข้าพเจ้าบริจาคสิ่งใดข้าพเจ้าก็ให้สิ่งนั้นเหมือนกับโยนทิ้ง

                ความมุ่งหมายของเศรษฐีก็คือจะให้เขาเห็นว่าให้ด้วยความเต็มใจ  ไม่เสียดายของ  ขอให้เขารับของนั้นดว้ยความสบายใจเถิด

                คนทีนำของไปให้นำของกลับมารายงานว่าครูหนุ่มไม่ยอมรับ

                เขาให้เหตุผลอย่างไรที่ไม่ยอมรับ  เศรษฐีถาม

                ไม่เห็นพูดอะไรนี่ครับ  บอกแต่เพียงว่าเอากลับไปเถอะ

                เศรษฐีจึงไปถามครูหนุ่มว่า  ตนให้ของด้วยปรารถนาจะอนุเคราะห์ผู้ที่ทำประโยชน์แก่สังคมมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ  ทำไมจึงปฏิเสธความหวังดีของตนเสีย

                เค  ตอบว่า

                ท่านให้ของแก่คนอื่นเหมือนดังว่าโยนของเสียทิ้งลงท้องร่อง  แม้ข้าพเจ้าจะจนแต่ก็มิได้คิดว่าร่างกายของข้าพเจ้าเป็นท้องร่องให้ท่านหรือใคร ๆ  ทิ้งของเสียลง

                คำพูดของหลานขงจื้อเท่ากับเป็นการสอน  ปรัชญาแห่งการให้  แก่นักสังคมสงเคราห์หรือเศรษฐีใจบุญทั้งหลายทราบว่าการบริจาคทานที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร  ควรกระทำด้วยอาการอย่างไร

                                             จาก   อ.เสฐียรพงษ์  วรรณปก  (ข่าวสด๔ธ.ค.๕๐)

หมายเลขบันทึก: 155687เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรื่องสนุกดีครับ  ได้ข้อคิดดีๆทั้งนั้นเลย

 

 สวัสดีคุณ

 P1. Nakaru

ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะครับ 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ ลูกชาย

มีความสุข สมปรารถนาทุกประการนะคะ

 

สวัสดีปีใหม่ย้อนหลังครับแม่อ้อย

ก็ไม่ค่อยสบายเท่าไหร่อะคับต้องวิเคราะห์รางงานหลายเรื่องเลย  ทำงัยได้ก็ไกล้จะจบแล้วนี่ครับ

รักษาสุขภาพด้วยแล้วกันนะครับช่วงนี้อากาศเย็นจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท