สบาย ๆ สมาธิ


การมีเวลาสักเล็กน้อยในหนึ่งวัน
ในสถานที่ที่สบาย ในกาลเวลาที่สบาย ๆ มีโอกาสนั่งผ่อนคลายในสมาธิ

นั่งในท่าที่สบาย ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น
จะนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำงาน หรือจะนั่งอยู่กับพื้น นั่งพับเพียบหรือแบบขัดสมาธิ
 

ตั้งกายตรง ตรงแบบสบาย ๆ ไม่ฝืน ไม่เกร็ง
ลมหายใจเข้าจะสบาย ลมหายใจออกจะสบาย
หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสามถึงสี่ครั้งเพื่อตั้งธาตุลม
หายใจเข้าออกสบาย ๆ ลองตรวจดูว่ามีส่วนไหนของร่างกายเกร็งอยู่ กดทับอยู่
นำลมหายใจที่สบาย ๆ นั้นไปผ่อนคลายร่างกาที่เกร็ง เส้นเอ็นที่ยังตึง
ค่อย ๆ ตรวจดู ค่อย ๆ ผ่อนคลายไปทีละเส้น ทีละเส้น
ปลดความตึงไปทีละข้อ ทีละข้อ
ตรวจดูแล้วหาย หายใจแล้วผ่อนคลาย
ใช้ลมผ่อนคลายอาการเกร็งของร่างกาย
ผ่อนคลายแบบสบาย ๆ ด้วย “กายานุสปัสสนาสติปัฏฐาน”

เมื่อร่างกายเริ่มผ่อนคลาย ร่างกายเริ่มสบาย
ลมหายใจเข้าสบาย ลมหายใจออกสบาย
กำหนดรู้ลมหายใจเข้าภาวนา “พุทธ”
กำหนดรู้ลมหายใจออกภาวนา “โธ”
พุทธ โธ
สบาย ๆ
หายใจสบายปกติ
หายใจปกติสบาย
กำหนดรู้แบบสบาย ๆ ด้วย “พุทธานุสสติกรรมฐาน”

ลมหายใจเริ่มละเอียดมากขึ้น
ลมหายใจเริ่มแผ่วเบาลง
ร่างกายสบาย ลมหายใจสบาย
พุทธ โธ เริ่มหายไป
เพียงรู้เมื่อลมหายใจเข้าแตะปลายจมูก
เพียงรู้เมื่อลมหายใจออกแตะปลายจมูก
ความคิดจะเกิดอะไรก็ปล่อยให้มันเกิดไป
ไม่ปรุง ไม่เพิ่ม ไม่เสริม ไม่แต่ง ไม่เติม เพียงตามดู ตามรู้
เพียงดู เพียงรู้ไปเรื่อย ๆ ว่ามันเกิดอย่างไร ดับอย่างไร
เพียงดู เพียงรู้แบบสบาย ๆ ด้วย “อานาปานสติกรรมฐาน”

ลมหายใจเข้าสบาย ลมหายใจออกสบาย
ศีลสบาย สมาธิสบาย ปัญญาสบาย
มีสติเพียงรู้ทุกข์ มีสติเพียงรู้สุข
มีปัญญาเท่าทันทุกข์ มีปัญญาเท่าทันสุข
ทุกข์ก็สบาย สุขก็สบาย
อยู่เฉยสบาย วิ่งวุ่นก็สบาย เหนื่อยหนักก็สบาย
เพียงมีลมหายใจสบาย อยู่ที่ใด เวลาไหนก็สบาย
ลมหายใจที่สบาย ทำให้ใจดี
มีใจดี ใจย่อมสบาย...

หมายเลขบันทึก: 155611เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2007 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เชื่อแล้วครับ

ว่าจิตที่สงบ

ย่อมทำให้แม่น้ำอันกว้างใหญ่

สงบนิ่งและไร้ระลอกคลื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท