Japan Fair Trade Commission (JFTC) หรือคณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น


Japan Fair Trade Commission (JFTC) หรือคณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น

Japan Fair Trade Commission (JFTC) หรือคณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าศึกษางาน ณ Japan Fair Trade Commission (JFTC) หรือคณะกรรมการการค้ายุติธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับทุนจาก JICA

1.  องค์กร JFTC

1.1 คณะกรรมการการค้ายุติธรรมคณะกรรมการการค้ายุติธรรมเป็นคณะกรรมการปกครองซึ่งดำเนินงานด้วยระบบการพิจารณา
ตัดสินร่วมกัน โดยถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.. 2490  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายห้ามการผูกขาด

วัตถุประสงค์ของกฎหมายห้ามการผูกขาดส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและยุติธรรมโดยการป้องกันการผูกขาดโดยเอกชนหรือข้อจำกัดทางการค้าและวิธีการค้าที่ไม่เป็นธรรม ฯลฯ และโดยการกำจัดข้อผูกมัดที่ไม่เป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ

จากหลักการที่ว่ากฎหมายห้ามการผูกขาดเป็นกฎพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและอย่างมีเอกภาพภายใต้องค์กรที่ยุติธรรมและเป็นกลางโดยไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจทางการเมือง  คณะกรรมการการค้ายุติธรรมนี้จึงเป็นองค์กรอิสระที่ไม่มีองค์กรใดกำกับดูแลเหมือนอย่างเช่น องค์กรราชการทั่วไปอื่น ๆ

1.2  การจัดองค์กรของคณะกรรมการการค้ายุติธรรมคณะกรรมการการค้ายุติธรรมประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการรวมทั้งสิ้น 5 คน ประธานกรรมการและกรรมการจะต้องเป็นบุคคลที่ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในด้านการศึกษาทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ประธานกรรมการจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ยกเว้นกรณีที่มีเหตุผลทางกฎหมาย (เช่น ได้รับโทษตั้งแต่จำคุกขึ้นไป ฯลฯ) หรือกรณีที่ลาออกด้วยความสมัครใจ  ประธานกรรมการสามารถรับตำแหน่งกี่วาระก็ได้ (แต่กำหนดเกษียณอายุ 70 ปี)  องค์ประชุมของคณะกรรมการจะต้องมีประธานกรรมการและกรรมการอย่างน้อย 2 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  มติของที่ประชุมจะถือเสียงข้างมาก หากเสียงที่เห็นด้วยและเสียงที่คัดค้านมีจำนวนเท่ากันให้ประธานกรรมการเป็นผู้ตัดสิน  การแต่งตั้งกรรมการที่จะทำหน้าที่แทนประธานจะมีได้ในกรณีที่ประธานเกิดเหตุขัดข้อง  เช่น กรณีเจ็บป่วย เป็นต้น

1.3  อำนาจของคณะกรรมการการค้ายุติธรรมคณะกรรมการการค้ายุติธรรมมิได้มีอำนาจเฉพาะการดำเนินการตามปกติเท่านั้นแต่ยังมีอำนาจการดำเนินคดี (อำนาจตุลาการ) และอำนาจการออกกฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) อีกด้วย-          อำนาจการดำเนินคดี หมายถึงอำนาจในการสอบสวนและตัดสินพฤติกรรมที่ขัดต่อกฏหมายห้ามการผูกขาด

-          อำนาจการออกกฎหมาย หมายถึงอำนาจในการกำหนดระเบียบภายในและขั้นตอนในการดำเนินคดีต่าง ๆ

อนึ่ง สำหรับกรณีการใช้อำนาจตุลาการนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ไม่ตัดสิทธิผู้กระทำผิดในการอุทธรณ์ต่อศาลยุติธรรม

1.4  สำนักงานคณะกรรมการการค้ายุติธรรมคณะกรรมการการค้ายุติธรรม มีสำนักงานเพื่อให้สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ โดยกำหนดให้มีพนักงานไม่เกิน 552 คนสำนักงานกลางตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียวโดยมีสำนักงานจังหวัดที่เมืองซับโปโร เมืองเซ็นได เมืองนาโงย่า เมืองโอซากา และที่กิวชิว  สำหรับสำนักงานที่โอซากานั้นจะดูแลสำนักงานสาขาในเมืองฮิโรชิมาและเมืองทากามัทสุด้วยสำนักงานคณะกรรมการการค้ายุติธรรมประกอบด้วยกองเลขาธิการ กองเศรษฐกิจ และกองสอบสวน  ในกองเศรษฐกิจจะมีฝ่ายการค้า  และในกองสอบสวนจะมีฝ่ายสอบสวนพิเศษอยู่ด้วย

2 .  กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆเพื่อให้สอดคล้องและบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายการห้ามผูกขาดซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค และสนับสนุนการแข่งขันการค้าแบบเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งควบคุมและติดตามพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการริเริ่มทางธุรกิจต่าง ๆ อย่างเต็มรูปแบบ และยกระดับรายได้และการจ้างงาน  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดดุลยภาพการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม ในระบบการค้าและแข่งขันแบบเสรีและเป็นธรรมนี้ได้กำหนดพฤติกรรมต้องห้ามไว้ 3 ประการ คือ การห้ามสมรู้ร่วมคิดหรือฮั้วกันในทางธุรกิจรวมทั้งการการควบคุมราคาและผลิตภัณฑ์   การห้ามผูกขาดโดยเอกชนหรือการกีดกันทางการตลาดด้วยวิธีทางการตลาดต่าง ๆ  และวิธีการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้กำหนดไว้ใน The Premiums and Representations Act (Act No. 134 of 15 May 1962) หรือกฎหมายเกี่ยวกับการแสดงข้อความของแจกแถม  และ The Subcontract Act หรือกฎหมายการรับเหมาช่วง

-The Premiums and Representations Act: The Act against Unjustifiable Premiums and Misleading Representations (Act No. 134 of 15 May 1962)เนื่องจากการแสดงข้อความของแจกแถมสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีผลต่อการตัดสินใจในการซื้อสินค้าหรือรับบริการ จึงต้องมีการกำหนดการกระทำที่ต้องห้ามซึ่งได้แก่ การห้ามแจกแถมเกินสัดส่วนของราคาสินค้าและการโฆษณาใช้ข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลต่อคุณภาพสินค้าโดยผู้ประกอบธุรกิจจะเน้นการแจกแถมที่เกินสัดส่วนมากไปกว่าการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและราคาและความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค โดยให้มีการระบุมูลค่าของแถมไว้อย่างชัดเจน กรณีผู้ประกอบธุรกิจละเมิดจะลงโทษโดยคิดคำนวณจำนวนยอดขายและระยะเวลาที่ขายเป็นเกณฑ์

-The Subcontract Act: The Act against Delay in Payment of Subcontract Proceeds

เพื่อเป็นการป้องกันการจ่ายค่ารับเหมาช่วงล่าช้ารวมถึงการไม่ยอมรับสินค้าที่ให้ผลิตจากผู้รับเหมาช่วง และเพื่อให้การทำการค้าของผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการที่รับเหมาช่วงเป็นไปอย่างเป็นธรรม ตลอดจนคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ประกอบการรับเหมาช่วงด้วย  ทั้งนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาการคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (ผู้รับเหมาช่วง) อย่างยั่งยืน และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคโดยอ้อม 

ข้อสังเกตของผู้เขียน

1. นับแต่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายปฏิรูประบบราชการโดยให้ลดอัตรากำลังให้มีขนาดเล็กลงในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม แต่อัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการการค้ายุติธรรมไม่ได้ลดลงแต่ประการใด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตรากำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ

2. บทบาทและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการค้ายุติธรรมของญี่ปุ่นนั้นหากเทียบเคียงกับประเทศไทย ก็คือบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สคบ. นั่นเอง

3. คณะกรรมการการค้ายุติธรรมเป็นองค์กรอิสระไม่ถูกครอบงำโดยการเมือง ประกอบกับมีกลไกอื่น ๆ ทั้งนโยบายจากส่วนกลางและกลไกจากรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งบทบาทของผู้บริโภคซึ่งรัฐให้การสนับสนุน และมีการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนมีความเข้มแข็งในภาคประชาสังคม จึงทำให้บรรยากาศการคุ้มครองผู้บริโภคในญี่ปุ่นมีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทยในหลายมิติ

หมายเลขบันทึก: 155513เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2007 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท