(3) ศิลปะการแสดงท้องถิ่นกับความโดดเด่นที่ถามหา


สร้างสรรค์ผลงานมาตลอดชีวิต ด้วยความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทำมานานตั้งแต่เริ่มใช้งานมัน อย่างนี้คือ “การพึ่งตนเองโดยแท้” ถ้ายังคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเช่นนั้นก็น่าที่จะ หยุดถามหาความสูญเสียกันเสียที อย่ามัวแต่ถามหาความโดดเด่นอยู่เลย

 

(3) โอกาสในการเรียนรู้

ศิลปะการแสดงท้องถิ่น

กับความจำเป็น

ความโดดเด่นที่ถามหา

        ความจำเป็นที่จะต้องฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกับครูเพลงชาวบ้านมิใช่ไปตามเก็บข้อมูลนำเอามาเขียน นำเอามาพิมพ์ลงในเล่ม เป็นคนละเส้นทางกันครับ หากไม่ต้องการให้ศิลปะการแสดงท้องถิ่นสูญหาย ต้องเก็บศิลปะการแสดงเอาไว้ในตัวคน ต้องมีคนต่อคน ตัวตายตัวแทนจึงจะคงอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปร้องเรียกหาให้เสียเวลา 

          ในตอนที่ 3 นี้ ผมขอนำเอาข้อคิดเห็นเชิงวิจารณ์ของผู้รู้ ที่ผมได้รับ นำมาเล่าเอาไว้เป็นให้ข้อสังเกตแก่ คนทำงานเพลงพื้นบ้าน ที่เขาผู้นั้นติดตามผลงานแล้ว มองไม่เห็นความโดดเด่นของผลงานเลย (น่าเก็บเอามาคิดมาก) แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะนั้นคือการมองกันคนละมุม ในมุมที่สว่างโล่งโปร่งใสท่านไม่มีวาสนาที่จะได้มองเห็นกลับมองเห็นเพียงมุมมืดหรือพยายามที่จะค้นหา ร่องรอยของความบกพร่องเพียงจุดเล็ก ๆ เอามาเป็นข้อเสนอเพื่อที่จะปิดตาย ไม่ให้มีทางรอด 

                 ความโดดเด่นของผลงานหรือผลผลิตศิลปะการแสดงท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน-ด้านเพลงอีแซวที่จัดตั้งเป็นวงเพลงรับงานแสดงได้จริงมาเป็นเวลายาวนาน กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีอะไรโดดเด่น  ไม่แปลกเพราะเพลงอีแซวเป็นเพลงร้องที่มีมานาน (ความจริงเป็นเพลงโต้-ตอบครับ) ไม่ต้องสร้างชุดฝึกขึ้นมาก็ร้องได้ (เป็นคำที่พูดแบบท่องจำเอามาบอกผู้ที่ด้อยความรู้กว่า)

          แต่ในที่นี้ เขานำเอาความรู้ที่มี นำมาสอนศิลปินนักแสดงที่เล่นเพลงมาเกือบ 50 ปี  ทั้งที่คนบอกอาจะไม่เคยลองทำหรือไม่เคยแม้แต่จะลองเริ่มต้น  ข้อความที่ว่า ไม่มีความโดดเด่น น่าที่จะได้นำเอามาวิจารณ์ให้เห็นอย่างชัดเจนและกว้างขวาง  ต้องชี้ชัดลงไปเลยว่า ต้องการให้โดดเด่นตรงไหน อะไรคือความโดดเด่นที่ท่านต้องการเล็งเห็น ขอยกกรณีตัวอย่างที่ทำได้จริง เช่น 

                

1. เด็กมีความสามารถร้องเป็น เล่นเพลงพื้นบ้านได้อย่างถูกต้อง ในการสอนให้ร้องเพลงพื้นบ้านให้ร้องได้อย่างน่าฟัง วันเดียวก็ทำได้แล้วครับ (ประสบการณ์ตรงทำมานานแล้ว) ครูอีกหลายท่านเขาก็ทำได้ ด้วยมีวิธีการที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละท่าน เรื่องนี้ยากนะครับ มิใช่ง่าย แต่ครูเพลงหลายท่านทำเป็นเรื่องปกติ จึงถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา  สำหรับท่านที่ไม่เคยลองทำเลย โปรดอย่าได้คิดว่าเป็นเรื่องง่าย เทคนิคหรือวิธีการที่เหนือชั้นกว่าเท่านั้น ที่จะพัฒนาเด็กไปถึงจุดหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ (ทำได้ในเวลาที่สั้น ถือว่าโดดเด่น ครับ)

             

2. เด็กมีความสามารถในการร้อง รำ ทำท่าทาง พูดโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะต้องฝึกอย่างมีขั้นตอน ต้องสร้างชุดฝึกครับ คนสมัยก่อนเขายังต้องไปเฝ้าสังเกตคนรุ่นพี่แสดงแล้วนำเอารูปแบบที่ได้เห็นมาฝึกก่อนที่จะได้ออกไปแสดงปะทะคารมกับรุ่นพี่ ๆ ครูที่สอนเพลงพื้นบ้านในระดับที่จะให้นักเรียนมีความชำนาญจะต้องทำแบบฝึกที่เป็นระบบทำการฝึกทักษะเพื่อ ที่จะให้นักเรียนพัฒนาไปทีละขั้น ๆ จนทำได้ครบเป้าหมาย ดังนั้นการคิดชุดฝึกขึ้นมาช่วยให้นักเรียนมีความสามารถมิใช่เรื่องง่ายดังที่ท่านผู้ที่ไม่เคยทำเลย นำเอามาคิด เพราะว่าการพัฒนาเด็กแต่ละคนกว่าที่จะผ่านไปได้ในแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลายาวนานมาก (ใครทำได้ เด่นครับ)

         

3. เด็กมีความสามารถแสดงออกในการเล่นเพลงพื้นบ้าน อย่างใดอย่างหนึ่งที่หน้าเวทีได้ ขั้นนี้ยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้ออกไปเล่นบนเวทีได้นั้น จะต้องสร้างระบบการทำงาน สร้างระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมจนเกิดการเลื่อนไหลอย่างต่อเนื่อง ระบบของการฝึกซ้อม (ตารางการฝึกซ้อมและการควบคุม) เข้ามามีส่วนในการสร้างนักแสดงมากครับ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ ต้องลงมือทำจริง ๆจึงจะรู้ซึ้งถึงความสำเร็จ (ถ้าทำได้ โดดเด่นมาก ครับ)

         

4. การที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนไปสู่การแสดงระดับมืออาชีพ มีคนมาจ้าง มีคนมาหาไปแสดง เป็นเรื่องธรรมดาหรือครับ (คิดได้อย่างไรแค่นั้นเอง)  บางวงทำแล้วไม่มีงานเล่นเลย นอกจากงานกิจกรรมในสถานศึกษา อย่างนี้ต้องให้ความช่วยเหลือกัน แต่วงเพลงบางวง มีงานแสดงมายาวนานและมีอย่างต่อเนื่องรุ่นแล้วรุ่นเล่า คนต่อคน รุ่นต่อรุ่นไม่มีขาดตอน นับเป็นร้อยเป็นพัน ๆ งาน อย่างนี้ธรรมดาได้อย่างไร (ยังมองว่าไม่โดดเด่น น่าจะคิดก่อนแล้วพูดเสียใหม่ว่า โดดเด่นมาก) ถ้าอย่างนั้นแล้ว จะต้องทำอย่างไร จึงจะไปให้ถึง ความโดดเด่นที่คุณต้องการเห็นกันแน่

            

5. เด็กมีความสามารถจนสื่อมวลชนสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์มากกว่า 10 ฉบับลงข่าวตีพิมพ์เต็มหน้ากระดาษ โดยไม่ต้องจ้างให้ลง  เว็บไซต์ดัง ๆ มาสัมภาษณ์นำเอาเรื่องราวของครูและเด็ก ๆ ไปเผยแพร่ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วิทยุท้องถิ่น ออกข่าวเสนอผลงานความก้าวหน้าให้ตลอดมา สถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11, ITV, TRUE และเคเบิลทีวี นำเสนอผลงานทั้งการถ่ายทอดสด บันทึกเทปไปออกอากาศในรายการต่าง ๆ มากกว่า 62 ครั้ง ยังไม่โดดเด่นอีกหรือแล้วจะต้องให้ไปแสดงตัวที่ไหนกันแน่ บนแผ่นดินไทยไปมาหลายแห่งแล้ว

         

6. เด็กที่ได้รับการถ่ายทอดจากครู สามารถรับงานแสดงด้วยตนเอง  ออกไปรับใช้สังคมหน้าเวทีด้วยการร้อง ด้นกลอนสด เล่นได้อย่างมีคติ สนุกสนานและต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบการแสดง (1-4 ชั่วโมง) ได้ค่าจ้างแรงงานตามความสามารถ มีรายได้ น่าภาคภูมิใจในตัวของลูกศิษย์มาก ที่เขาสามารถเดินออกไปยืนรอรับความเมตตาจากท่านผู้ชมผู้ฟังอยู่บนถนนสายบันเทิง ชนิดที่เก่งแค่ไหนก็ไม่มีโอกาสอย่างพวกเขา (เป็นความโดดเด่นมากที่สุด) ที่น้อยคนนักจะทำได้ 

                 ถ้าถึงขั้นนี้แล้ว ยังมองไม่เห็นจุดเด่นที่น่าให้การยอมรับ  ก็คงต้องพิสูจน์ความจริงของผู้ที่เป็นเจ้าของความคิดเห็นนี้บ้าง  ผู้ที่คิดได้เพียงเท่านี้มีความสามารถที่แท้จริงแค่ไหน อย่างไร มีความรู้ มีความสามารถในเรื่องเดียวกันนี้หรือไม่ หรือรู้กันคนละเรื่อง ชักไม่แน่ใจเสียแล้ว  การแสดงความเห็น เป็นสิ่งที่ดี จะได้นำเอามาเป็นข้อมูลในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่การแนะนำคนทำงานที่ทำจริง (เป็นของจริง) มีที่มาจากต้นกำเนิดจริง ๆ ทำมานานเกือบเท่ากับชีวิตที่เขาเกิดมากลับกลายเป็นของปลอมไปเสียได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วของจริงที่ไปถึงจุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จตามที่ท่านมุ่งหวังนั้น มันจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร จะต้องรอคอยกันต่อไปอีกนานแค่ไหน ทั้งนี้เพราะว่า  

ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนมี 3 ระดับ นะครับ ระดับที่

1 เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้บอกได้ อธิบายได้ (อ่านหนังสือก็เรียนรู้ได้)ระดับที่

2 เป็นการฝึกทักษะ ลงปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ ต้องมีวิธีการ คิดขึ้นมาเองครับระดับที่

3 สร้างเยาวชนจนเห็นผลงาน เห็นคุณค่ามีความคงทนถาวรในการเรียนรู้ ปฏิบัติ 

           

ผู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงาน ให้นักเรียนพัฒนาไปถึงการทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะต้องเกิดจากการพัฒนาภายในจิตใจมายาวนานเรียนรู้ที่เป็นวงจรอย่างมีระบบและเกาะติดอยู่กับสิ่งนั้นจริง ๆ มิเช่นนั้น ความรู้ที่คงทนถาวรจะไม่เกิดแก่ผู้เรียน  ผมเรียนรู้เพลงพื้นบ้านแบบมืออาชีพ มิใช่แค่เรียนรู้  ผมฝึกหัดทำขวัญนาคแบบรักศรัทธาฝังอยู่ในหัวใจ ผมทำงานศิลปะเพื่อชโลมใจ โดยไม่ต้องมีใครมาจ้าง มีเวลาว่างผมก็ทำ สร้างสรรค์ผลงานได้ตลอดชีวิต 

ผมใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยความสามารถในการเรียนรู้โปรแกรม รู้จักอุปกรณ์ทุกชิ้น ซ่อมบำรุงได้ด้วยตนเอง ทำมานานตั้งแต่เริ่มใช้งานมัน อย่างนี้คือ การพึ่งตนเองโดยแท้ ถ้ายังคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเช่นนั้นก็น่าที่จะหยุดถามหาความสูญเสียกันเสียที  อย่ามัวแต่ถามหาความโดดเด่นอยู่เลย

โดย ชำเลือง มณีวงษ์ 

- รางวัลชนะเลิศ  ประกวดเพลงอีแซวสุพรรณฯ    ปี 2525

- รางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

  - โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดิน รายการโทรทัศน์ ททบ. ช่อง 5  ปี 2549 <p style="margin: 0cm 0cm 0pt; text-indent: 36pt" class="MsoNormal"> </p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 154907เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท