(2) ศิลปะการแสดงท้องถิ่นกับความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้


หากไม่ต้องการให้ศิลปะการแสดงท้องถิ่นสูญหาย ต้องเก็บศิลปะการแสดงเอาไว้ในตัวคน ต้องมี คนต่อคน ตัวตายตัวแทน จึงจะคงอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปร้องเรียกหาให้เสียเวลา

 

(2) โอกาสในการเรียนรู้

ศิลปะการแสดงท้องถิ่น

กับความจำเป็น

ความโดดเด่นที่ถามหา

          เมื่อนั้นแหละครับ จะถึงเวลาที่เราคนไทยทั้งหลาย จะได้ภาคภูมิใจกับเด็ก ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เขามีความพร้อมที่จะแสดงความสามารถในการเล่นเพลงโบราณให้คนรุ่นใหม่ได้ดูอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะทำได้ หากขืนรอช้าต่อไป คงได้ยินเพียงคำว่า น่าเสียดาย แล้วจะได้อะไรขึ้นมา  เป็นข้อความในตอนที่ผ่านมา 

          ในตอนที่ 2 นี้ ผมขอนำเอาข้อคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ที่ผมได้รวบรวมมาเล่า ความจำเป็นในการเรียนรู้ศิลปะการแสดงท้องถิ่น มีหลายแง่ให้เก็บเอามาคิดว่า ทำไปทำไม  ได้อะไรขึ้นมา  คุ้มไหมที่ทำ  ใครได้ใครเสีย  ใครสร้างสรรค์  ใครทำลาย  ใครรักษา ใครปล่อยปละละเลย  และที่สำคัญ คนประเภทไหน ที่เรียกหาความเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินถิ่นเกิด  ผู้สร้าง หรือผู้ดู หรือผู้ให้การสนับสนุน 

              

                 ผมมีความเชื่อว่า คนที่ทำงานด้านภูมิปัญญาอยู่ในสถานศึกษามีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่คนที่แข็งใจทำทั้งที่มีปัญหาอุปสรรคขวากหนามกั้นขวาง แล้วก้าวข้ามไปได้ มีอยู่ไม่มาก เป็นคนกล้ากลุ่มน้อยที่ไม่มีผู้มองเห็น หรืออาจจะเห็น อาจจะได้ยิน อาจจะเคยได้สัมผัส แต่จำเป็นต้องทำเป็นเมิน ผมคิดว่า คนกลุ่มน้อยที่เขาทำงานภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงพออยู่ได้นะ 

                 ครูสอนหนังตลุงที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านยังยืนหยัดอยู่กับลูกศิษย์ของท่านอย่างมั่นคง โดยเริ่มตั้งแต่การฟอกหนังวัว นำเอามาเขียนลาย ตัด เจาะ ผูกมัดเป็นรูปตัวหนัง ฝึกหัดเชิดหนัง ทำการแสดง รับงานแสดงทั่วไป ทำให้นักเรียนมีรายได้อย่างน่าชื่นชมมาก

          ครูสอนโปงลางในโรงเรียนแถบภาคอีสาน แต่แรกเริ่มทำกันในครอบครัว ต่อมาขยายผลไปสู่การจัดการเรียนการสอน ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการแสดง และฝึกหัดทักษะให้กับนักเรียนจนมีความสามารถรับงานแสดงได้ทั่วไป เด็ก ๆ เขาก็ดูมีความสุขกับงานมากนะ

          ครูสอนสะล้อซอซึงในภาคเหนือ นำเด็กตัวน้อย ๆ มาขับซอ ผมไปยืนฟังเสียงและชมภาพการแสดงแล้วอยากที่จะร้องไห้ ให้กับบุญตาที่ได้เห็น เด็กตัวเล็ก ๆ จนถึงเด็กโตขึ้นมาหน่อย ขับซอได้อย่างอ่อนหวานประทับใจ

          ในแถบภาคกลางมีครูหลายท่านสอนและฝึกหัดให้นักเรียนเล่นลำตัด เพลงพาดผ้า เพลงทรงเครื่อง เพลงอีแซว เพลงฉ่อย  เพลงแหล่จนถึงการด้นกลอนสด ๆ ทั้งที่นักกลอนระดับผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้ (เด็ก ๆ เขาทำได้)

          เพราะเด็ก ๆ เขามีความตั้งใจในการฝึก ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอันยาวนานเขาก็มีความอดทน  ทั้งนี้เพราะครูผู้สอนมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ได้ตามผลของการเรียนรู้ที่คาดหวัง หรือครูผู้สอนท่านนั้น ๆ อาจจะมีความหวังที่ไกลเกินกว่าแค่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสียอีก จึงได้เป็นที่มาของวงเพลงเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นมาในสถานศึกษามากมายหลายแห่ง 

ความจำเป็นที่จะต้องทำ

  1. เพื่อที่จะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามที่ครูเปิดทำการสอนตามความสนใจ ความถนัดของครู
  2. เพื่อส่งเสริมความสามารถของนักเรียนที่มีหลากหลาย ให้ได้รับการเรียนรู้ตามศักยภาพ
  3. เพื่อจัดกิจกรรมการแสดงประจำโรงเรียน เอาไว้นำเสนอผลงานในโอกาสสำคัญ
  4. เพื่อพัฒนาความสามารถของนักเรียนจากการเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
  5. เพื่อพัฒนานักเรียนจากการเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และชำนาญ
  6. เพื่อพัฒนานักเรียนจากการปฏิบัติได้อย่างชำนาญเข้าสู่การแสดงอย่างมืออาชีพ
  7. เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพ หารายได้โดยใช้ความสามารถพิเศษของนักเรียนเป็นโอกาส
  8. เป็นการมุ่งหวังที่จะรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่นไม่ละวางมายาวนาน
  9. ทำไปโดยไม่มีใครสั่งการไม่มีใครบังคับ ทำไปโดยจิตสำนึก เห็นคุณค่าในความเป็นไทย

                

                ทั้งหมดนี้ เป็นภาพจริงที่มองเห็นได้ในสถานศึกษา ระดับโรงเรียนทั้งในระดับชั้นประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และในระดับชั้นมัธยมศึกษา  แต่มุมมองที่ผมต้องนำเอาเรื่องนี้มาเล่าคือ อยากจะชี้ให้เห็นว่า คุณครูหลายท่านที่ทำวงเพลงพื้นบ้านในทั่วทุกภาค ทำด้วยใจรัก รักที่จะทำงานเช่นนั้น และทุกวงเพลงที่ผมได้ไปสัมผัสมา เขาก็ได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มากบ้างน้อยบ้างตามที่เด็ก ๆ จะสามารถพัฒนาไปได้ และที่น่าสนใจคือ ครูเหล่านั้นเป็นครูผู้สอนในรายวิชาทั่ว ๆ ไป หาใช่ครูที่จบมาจากสาขาการแสดงไม่ หรือมีก็คงจะน้อยมาก ในส่วนที่เกาะติดอยู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแสดงพื้นบ้านตัวจริง ส่วนมากเป็นครูที่ฝึกหัดเพลงมาจากครูเพลงชาวบ้าน แล้วนำเอาวิธีการมาถ่ายทอดสู่นักเรียนอย่างได้ผล 

                 ผมอยากจะเรียนไปยังผู้ที่มีความสนใจและศึกษาทางด้านนี้โดยตรง โปรดได้หันกลับมามองย้อนหลังบ้างว่า ท่านได้มีส่วนร่วม ท่านได้เป็นผู้ดำเนินการ ท่านได้เป็นผู้นำในการรักษาศิลปะการแสดงท้องถิ่นอย่างถาวรแล้วหรือยัง  หากยังรีบเริ่มต้นเถิดครับ เพราะท่านได้เรียนรู้มาโดยตรง ยิ่งถ้าท่านเป็นผู้ชำนาญการ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยแล้ว รีบเร่งครับ ทำเสียก่อนที่จะต้องถามหาว่า เพลงพื้นบ้านประเภทนั้นสูญหายไปได้อย่างไร เมื่อไหร่ เพราะใครและที่สำคัญยิ่งคือ การสร้างตัวตายตัวแทน เพื่อให้ภูมิปัญญาด้านนี้ยังคงอยู่อย่างแท้จริง อาจจะใช้หลักการของท่านไม่ได้เลย  เพราะท่านมิใช่บุคคลต้นแบบที่คิดสิ่งนี้มา ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์เดินดิน ผู้รู้ในท้องถิ่นเขาเป็นคนต้นคิด วิธีการของบรมครูเหล่านั้นต่างหากที่จะช่วยรักษาของเดิมเอาไว้ได้ 

ความเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินถิ่นเกิด จะยังคงอยู่ได้ไม่มีสูญหายถ้า ยังมีบุคคลผู้สร้าง สรรค์ผลงานอยู่อย่างต่อเนื่อง  ยังมีผู้ดูผู้ชมหรือผู้ให้การสนับสนุน เฝ้าดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริง  ไม่ปล่อยปละละเลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องไปฝึกหัดศิลปะท้องถิ่นกับครูเพลงชาวบ้าน  มิใช่ไปตามเก็บข้อมูลนำเอามาเขียน นำเอามาพิมพ์ลงในเล่ม (จะได้แค่เรียนรู้เท่านั้น) เพราะเป็นคนละเส้นทางกันครับ

หากไม่ต้องการให้ศิลปะการแสดงท้องถิ่นสูญหาย ต้องเก็บศิลปะการแสดงเอาไว้ในตัวคน ต้องมี คนต่อคน ตัวตายตัวแทน จึงจะคงอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปร้องเรียกหาให้เสียเวลา

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

 - รางวัลชนะเลิศ  ประกวดเพลงอีแซวสุพรรณฯ    ปี 2525

- รางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

- โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดินรายการโทรทัศน์ ททบ. ช่อง 5  ปี 2549

 

 

หมายเลขบันทึก: 154902เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2007 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท