สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๒. ชายคาภาษาไทย (๒๑)


แพศยา / โสเภณี / คณิกา

         เราได้ยินคำว่า แพศยา และ โสเภณี บ่อยครั้งในภาษาไทยปัจจุบัน คำสองคำนี้ใช้ปรามาสคน ถ้าหญิงใดถูกด่าว่า อีแพศยา หรือ นางแพศยา หญิงนั้นก็คงไม่ชอบใจนัก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า “หญิงหาเงินในทางประเวณี, หญิงถ่อย, หญิงสำส่อน” และบอกว่า มาจากคำสันสกฤตว่า “เวศยา” และบาลีว่า “เวสิยา” ส่วนคำว่า “โสเภณี” ให้ความหมายว่า ”หญิงที่หาเลี้ยงชีพโดยการค้าประเวณี นครโสเภณี หญิงนครโสเภณี หญิงงามเมือง หรือ หญิงหากิน ก็ว่า” ดูไปแล้วรวมๆ หญิงสองจำพวกนี้ก็ไม่แตกต่างกัน คราวนี้ลองมาพิจารณาคำนิยามในพจนานุกรมไทยฉบับแรกที่เจมส์ แคสเวลจัดทำไว้บ้าง ท่านจดว่า แพศยา  “คือ หญิงงามเมืองนั้น” แสดงว่า ความสับสนเข้าใจผิดระหว่างคำ “แพศยา” กับ “โสเภณี” ได้มีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ถ้าไม่ก่อนหน้านั้น) หนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ให้รูปไว้ 2 รูป คือ เมื่อเขียนว่า แพสยา ให้ความหมายว่า “”เปนคำแผลงจากสับท์ (1) , อธิบายว่า หญิงแพสยา คือ หญิงนั้นร่วมสังวาสกับชายในเวลาเดียวกันสองคน เปนต้น” (ดูที่หน้า 464)  คำเดียวกันนี้ในอีกที่หนึ่งเขียนว่า  แพรศยา และว่า “คือ หญิงมีวิชา หญิงเจ้าเล่ห์นั้น, เหมือนหญิงคนชั่วมากชู้หลายผัว” (โปรดดูหน้า 478)

         ในพระไอยการลักษณะพญาน กฎหมายตราสามดวง มีข้อกำหนดว่าหญิงแพศยาและหญิงนครโสภีณีอยู่ในบรรดาคน 33 จำพวกที่ไม่ให้เป็นพยานในคดีความ ข้อกำหนดนี้แสดงว่า สถานทางสังคมของทั้งสองพวกนี้ค่อนข้างต่ำ ในพระไอยการอื่นๆ ของกฎหมายตราสามดวงได้กล่าวถึงหญิงแพศยาไว้หลายแห่ง เช่น ในพระไอยการลักษณะผัวเมีย มีความว่า 
     7 มาตราหนึ่ง หญิงใดทำชู้นอกใจผัว มันเอาชายชู้นั้นมาร่วมประเวนีในวันเดียว ๒ คนขึ้นไป ท่านว่าเปนหญิงเพศยามิให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย ให้เอาปูนเฃียนหน้าหญิงร้ายนั้นเปนตราง ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยไส่ศีศะใส่ฅอ ท่านว่าเปนหญิงเพศยามิให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย ให้เอาปูนเฃียนหน้าหญิงร้ายนั้นเปนตราง ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยไส่ชายใส่หญิง ยามิให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย ให้เอาปูนเฃียนหน้าหญิงร้ายนั้นเปนตราง ร้อยดอกฉะบาเปนมาไลยไส่ โดยสกันมิสกัน กล่าวลักษณแห่งหญิงแพศยาปรับมิได้ โดยสงเขบยุติแต่เท่านี้

         ในพระราชบัญญัติใหม่ที่ตั้งขึ้นในรัฃกาลที่ 1 มีการกล่าวถึงคดีความเรื่องพันไกรมือเพชร ช่วยไถ่อีมีมาเป็นทาสภรรยาแล้วไปขายแก่ทองสุก ผู้เป็นกำนันตลาด ทองสุกให้อีมีนอนเฝ้าเรือตอนเวลากลางคืน ปรากฏว่า จีนใหม่เข้าข่มขืนแทบจะถึงชำเรา (เกือบร่วมเพศด้วยสำเร็จ) พันไกรมือเพชรจึงฟ้องจีนใหม่จะเรียกสินใหม แต่รัชกาลที่ 1 มีพระราชวินิจฉัยอย่างไร โปรดพิจารณาจากความข้างล่างนี้
     พระครูพิรามราชสุภาวดีจุธามณีศรีบรมหงษ กราบบังคมทูลพระกรรุณาว่า พันไกรมือเพชฟ้องว่า ช่วยอีมีมาเปนภรรยาแล้วเอาไปขายไว้แก่ทองศุกกำนัลตลาดๆ ให้อีมีนอนเฝ้าเรือเพลากลางคืน จีนใหม่เข้าข่มขืนแทบจะถึงชำเรา ครั้นจะพิจารณาสืบไป มีรับสั่งจ้าวกรมหมื่นนรินธรพิทัก ให้หากระลาการไปสั่งว่า อีมีเปนคนชั่ว ครั้นถามอีมีๆ รับว่า เปนคนนครโสเภนีต้นสาเกแต่แผ่นดินหลัง (2)  มีบทพระไอยะการไว้ว่า หญิงแพศยาชายใดทำชู้ข่มขืนมิให้ปรับไหมชายชู้ จึ่งมีพระราชโองการมาณพระบันทูลสูระสิงหนาท ดำหรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า
 แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าชายใดเอาหญิงนครโสเภนีเปนภรรยาอยู่ประสมเปนคู่ผัวคู่เมียกันจนเกิดบุตร 2 คน 3 คน  ชายใดทำชู้ก็ดีข่มขืนก็ดี มันร้องฟ้องให้รับบังคับบังชาให้ ถ้ามันยังมิเกิดบุตรด้วยกัน อย่าให้รับฟ้องไว้บังคับบังชาเปนอันขาดทีเดียว แลพันไกรมือเพชเอาอีมีคนนครโสเภนีเปนภรรยาแล้วมาฟ้องว่า จีนใหม่ข่มขืนให้ขายฝ่าลออง ฯ นั้น ให้ลงพระราชอาชาพันไกรมือเพช ๕ ทีแล้วให้เลิก (3) ฟ้องพันไกรมือเพชเสีย
        ในที่นี้ได้ความว่า หญิงที่เป็นโสเภณีมาก่อนจัดว่า เป็นหญิงแพศยาด้วย ยิ่งเป็นโสเภณีต้นสาเก หรือ โสเภณีอาศัยต้นสาเก (ต้นขนุน) ทำมาหากินนอนกับผู้ชายไม่เลือก เป็นหญิงถ่อย (แปลว่า ชั่ว ร้าย) เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ใครจะเข้าหาก็ได้

         พระไอยการลักษณะมรดก เป็นกฎหมายอีกหมวดหนึ่งซึ่งจะทำให้เข้าใจนิยามของคำว่า แพศยา ได้ดีขึ้น
     43 มาตราหนึ่ง หญิงม่ายมีผัวสองคน หญิงม่ายมีผัวสามคน หญิงม่ายมีผัว 4 คน อย่าให้หญิงนั้นได้ทรัพยมรดกพราหมผู้มรณภาพนั้นเลย เหตุใดจึ่งหมิได้ทรัพยส่วนแบ่งปันเหตุว่าหญิงนั้นเปนแพศยามีผัว 2 3 4 คนแล้ว มิควรแบ่งปันส่วนนั้นให้ๆ คงแต่ทรัพยของหญิงที่เอามานั้น

        ความที่ยกมาแสดงว่า หญิงที่มีสามีมาแล้วแม้เพียงสองคนก็ถือว่า เป็นหญิง “แพศยา” แล้ว ถึงผู้ชายใดยกย่องเป็นภรรยาก็ไม่ได้มีฐานะในทางสังคมและกฎหมายดีขึ้น กฎหมายไทยสมัยโบราณจึงเป็นเครื่องมือตอกย้ำความสำคัญของหลักจริยธรรมและศีลธรรมของพุทธศาสนา

        ผู้เขียนขอย้อนกลับมายังที่มาและความหมายของคำแพศยาอีกครั้งหนึ่ง คำว่า เวสฺย คือ สถานหญิงหากินทางประเวณี, สถานที่ฉาว, อันที่เขาเข้าหาได้ (a house of prostitutes, a house of ill-fame, to be entered) ส่วน เวสฺยา แปลว่า หญิงค้ากาม, หญิงคู่สังวาสคนสำคัญ, หญิงหากินทางประเวณี (a harlot, courtezan, prostitute) ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล แปลคำนี้ว่า “หญิงที่ผู้ชายใดก็เข้าหาได้” ซึ่งดูแล้วมีที่มาจากคำว่า เวศฺย ซึ่งแปลว่า “ชายใดก็เข้าไปได้”

        หันมายังศัพท์ “โสเภณี” บ้าง คำนี้ศัพท์เดิมในภาษาสันสกฤตคือ “โศภิน” ภาษาบาลีว่า “โสภิณ” แปลว่า “ยิ่งล้ำ, เลอเลิศ, สวยงาม” เมื่อใช้กับคนเรานิยมเขียนในรูปปัจจุบันว่า “โสเภณี” แปลว่า “หญิงที่สวยยิ่ง, หญิงที่งามยิ่ง, หญิงที่งามเลิศ” หนังสือเก่าๆ ยังเขียนด้วยคำบาลีที่ถูกต้องคือ “โสภินี) แต่ในสมัยหลังเอา ณ ของสันสกฤตมาใส่ให้แก่บาลี เป็นเรื่องนิสัยประจำชาติของคนไทย อยากเขียนให้เป็นไทยอย่างไรก็แล้วแต่ความรู้สึก ในกฎหมายตราสามดวง หลายแห่งยังรักษารูปศัพท์เดิมว่า “โสภิณี” แต่ในระยะหลังถนัดเขียนว่า “โสเภณี” ยังมีคำอื่นๆ ทีต้องพิจารณาร่วมกับคำนี้ นั่นคือ คำว่า นครโสเภณี, หญิงงามเมือง, ถนิมเมือง เรื่องของหญิงนครโสเภณีมีมาตั้งแต่โบราณในอินเดีย ไทยแปลศัพท์นี้ว่า หญิงงามเมือง และ ถนิมเมือง (เครื่องประดับเมือง) นั้นนับว่า เข้าทีดี ในวัฒนธรรมอินเดียโบราณ หญิงนครโสภิณีเป็นหญิงชั้นสูงในราชสำนัก ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุลอธิบายว่า พระราชาในแต่ละแว่นแคว้นต้องคัดเลือกหญิงงามไว้รับแขกบ้านแขกเมือง และประชันกันว่า บ้านเมืองใดมีหญิงงาม เป็นอาชีพที่มีเกียรติเพราะได้รับใช้และหลับนอนกับคนสำคัญ ในประวัติศาสตร์ หญิงนครโสภิณีบางคนก็ได้ดิบได้ดีไปเลย ใน ไตรภูมิพระร่วง มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแพศยาและโสภิณีซึ่งอธิบายคำสองคำนี้อย่างชัดเจน คือ เรื่อง นางอัมพปาลิกนิกา

         นางอัมพปาลิกนิกาได้บวชเป็นพระภิกษุณีและถือศีลอย่างเคร่งครัดเมื่อครั้งที่พระพุทธสิขิมาตรัสรู้สั่งสอนธรรมแก่มนุษย์และเทวดา นางภิกษุณีรูปนี้ได้ปัดกวาดดูแลพระเจดีย์อย่างผุดผ่อง วันหนึ่งมีการเวียนประทักษิณพระเจดีย์ น้ำลายเหนียวของของพระมหาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์แล้วหลุดไปต้องพระเจดีย์เข้าเล็กน้อย นางภิกษุณีอัมพปาลิกนิกาไม่ทราบว่า เป็นของใครและปากไว จึงด่าบริภาษอย่างรุนแรง บาปจากการด่าพระอรหันต์ทำให้นางไปตกนรกใช้กรรม ใช้กรรมในนรกหลายร้อยชาติแล้วเสร็จ ต้องไปเกิดเป็นหญิงแพศยาให้ผู้คนประณามอยู่ 10000 ชาติ ถัดจากนั้นไปได้ถือชาติกำเนิดที่เมืองไพศาลี เป็นหญิงงามเลื่องชื่อว่า โสภิณี คือ งามเลิศ ชายหนุ่มผู้ดีเจ้านายทั้งหลายต่างทะเลาะจะแย่งชิงนางกัน พระราชาทรงแก้ปัญหาโดย
     “เราจะไว้นางให้เป็นแพศยาเถิดฯ จึงท้าวพระญาแลลูกเจ้าเหง้าขุนทั้งหลายจึงจะหายความผิดแผดด่าทอกันแล พระยาจึงตั้งนางอัมพปาลิกนิกาไว้ให้เป็นนางนครโสภีนิให้เป็นสาธารณะแก่ท้าวพระญาลูกเจ้าเหง้าขุนทั้งหลายแลฯ” 

         เรื่องนี้แสดงว่า หญิงแพศยา คือ หญิงที่มีสามีหลายคน สังคมถือว่า เป็นหญิงชั่วคบชู่สู่ชายหลายรายในเวลาเดียวกัน ส่วน หญิงนครโสเภณีมีที่มาจากการเป็นหญิงงามเมืองที่พระราชาทรงตั้งขึ้นมาเพื่อต้อนรับขับสู้ผู้ดี กลับเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติไป แม้แต่นางอัมพปาลิกนิกาเองมีลูกคือ โกณฑัญกุมาร ซึ่งพระพุทธองค์ได้บวชให้และบรรลุอรหัตผลในที่สุด รวมทั้งตัวนางเองด้วย

         แต่แรกเริ่มหญิงนครโสเภณีคงมีความหมายที่ดีพอสมควรเพราะอยู่ในอุปถัมป์ของพระราชา แต่ในสมัยหลัง คงจะมีบรรดานครโสเภณีปลดระวางทั้งหลายได้มาตั้งสำนักบริการผู้ดี (และต่อมาผู้เลวทั้งหลายด้วย) ความหมายของคำจึงเปลี่ยนไป เช่น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ได้บรรยายว่า ที่กรุงศรีอยุธยาก็มีสำนักหญิงบริการอย่างที่กล่าวนี้ ดังความว่า
     “ตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีหญิงละครโสเภณีตั้งโรงอยู่ท้ายตลาด 4 โรงรับจ้างกระทำชำเราแก่บุรุษ”
     การมีสำนักโสเภณีในสมัยโบราณจะต้องจดทะเบียนและเสียภาษี ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ของสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เราได้จากสำนักโสเภณีสูงถึง 50,000 บาท เท่ากับภาษีที่เก็บได้จากภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศในเวลานั้น ผิดถูกอย่างไรก็ขอให้ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของท่านบิชอปฌัง บัปติสต์ ปาเลอกัวซ์ก็แล้วกัน

         ก่อนจะจบคำนี้ ขอพูดถึงอีกคำหนึ่งซึ่งคุ้นหูกันพอสมควร นั่นคือ คณิกา ความหมายของคำนี้ชัดเจนมาแต่ดั้งเดิม คือ หญิงหากินทางประเวณี (a courtesan, a harlot, a whore, a prostitute)

---------------------------------------------------------------------------------------

1 หมายถึงจากศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต
2 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ซึ่งเพิ่งผ่านไป
3 แปลว่า ยกเรื่องออกเสีย

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๐
 

หมายเลขบันทึก: 154761เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท