ทางสู่ความสำเร็จ


จะทำอะไรประสบผลสำเร็จต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่าง คือ คน เงิน และใจที่ม่งมั่น

            เมื่อเช้านี้ได้ดูรายการในทีวีช่อง 7 เขาสัมภาษณ์คุณบรรหาร  ศิลปอาชา  ว่าทำอย่างไรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้เจริญกว่าที่อื่นอีกหลายจังหวัดและที่สำคัญคือมีความยั่งยืนอีกด้วย คุณบรรหารท่านอธิบายตามหลักการว่าการจะทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยองค์ประกอบอย่างน้อย 3 อย่าง คือ คน   เงิน และใจที่มุ่งมั่น องค์ประกอบสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด ถ้ามีทุกอย่างแต่ไม่มีแก่ใจทำงานก็จะไม่สำเร็จ   พอดีช่วงนี้ผมได้ออกติดตามการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดอยู่ทุกวัน ๆ ละหนึ่งโรงเรียนบ้างสองโรงเรียนบ้าง ได้เห็นการบริหารงานของท่านผู้อำนวยการโรงเรียนแต่ละท่าน  ได้เห็นความแตกต่างว่าบางท่านจะมีแก่ใจทำงานมาก แต่บางท่านคงต้องเสริมกำลังใจอีกมาก

           ผมคิดว่าคงต้องทบทวนเรื่องการสรรหาคนมาเป็นผู้บริหารกันใหม่ ปัจจุบันเท่าที่สังเกตทุกท่านมีความรู้ ความสามารถเป็นอย่างดี แต่เรื่องความมุ่งมั่นคงต้องส่งเสริมอีกมาก จะทำอย่างไรจึงจะคัดเลือกผู้ที่มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคในการจะพัฒนาการศึกษาให้ไปสู่จุดม่งหมายมาบริหารโรงเรียนฝากท่านผู้อ่านช่วยคิดต่อด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 154758เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก คิดว่าคงไม่มีจังหวัดใด มีปัญหาเท่ากับจังหวัดแม่ฮ่องสอนแน่นอน ท่านรองเชื่อไหม เราเคยประสบปัญหาถึงขนาดมีแต่โรงเรียนและนักเรียนแต่ไม่มีครู สำหรับปัญหาคุณภาพนั้นไม่ต้องพูดถึง ท่านคงเดาออก พวกเราพยายามแก้ไขสารพัดวิธี สารพัดกลยุทธ์ เช่น จัดเป็นโครงการครูหลังม้า หลอมรวมโรงเรียนเข้าด้วยกัน เพราะเรามีปัญหาหลักคือการขาดแคลนครู และโรงเรียนส่วนใหญ่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ศน.ที่ไปนิเทศติดตาม ทำได้อย่างมากก็แค่ปลอบขวัญให้กำลังใจครู เพราะลำพังการเอาชีวิตให้รอดก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากอยู่แล้ว ในเรื่องคุณภาพ เราทำหลักสูตรพิเศษสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นหลักสูตรบูรณาการ หลักสูตรช่วงชั้น นั่นหมายความว่าให้เอื้อต่อครูให้สามารถสอนได้หลายๆชั้น เพราะครุไม่ครบชั้น แถมยังไม่พอครูย้ายบ่อย สถิติอัตราการย้ายออกของครู ประมาณ 30 คนต่อเดือน จึงต้องเรียกบรรจุแทบจะเรียกว่าเป็นรายเดือนเลยทีเดียว คนใหม่ มาใหม่ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว เป็นวัฏจักรอยู่อย่างนี้ไม่สิ้นสุด เคยคิดแก้ปัญหาโดยการตั้งเป็นมูลนิธิเรือจ้างสร้างถิ่นโดยมีผมทำหน้าที่ประธาน ส่งเด็กแม่ฮ่องสอนไปเรียนครู แล้วกลับมาทำงานที่บ้านเกิด ก็แก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ผมคิดว่ากรุงเทพฯและชานเมือง เป็นเมืองใหญ่ ที่นั่นน่าจะไม่มีปัญหาด้านบุคลากร แต่คงเป็นปัญหาด้านคุณภาพมากกว่า เพราะโรงเรียนขนาดเล็กน่าจะขาดปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพ ไม่เหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่า

วันหน้าผมจะนำปัญหาทางถิ่นดอยบ้านผมมาเล่าให้ท่านฟังอีก

ขอบคุณท่าน ที่เข้าชมและให้ความเห็นพร้อมกำลังใจให้แก่ผม

อาจารย์เก

สวัสดีค่ะ

ปัญหาอมตะนิรันดร์กาลขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

 ก็คือเรื่องของการสรรหาบุคคลากร  และการรักษาบุคลากรคนเก่งๆไว้นี่แหละค่ะ

และนับวันปัญหานี้ก็ยิ่งมากขึ้นๆ 

ถ้าเป็นองค์กรเอกชน จะกลายเป็นสงครามแย่งคน (War for Talent) ระหว่างองค์กร

เพราะแรงงานระดับ Talent (ระดับมันสมอง) มีแค่นิดเดียวค่ะ

คิดว่าการที่ใครสักคนจะทำงานให้ได้ดี นอกจากจะต้องมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมแล้ว

 เรื่องของ "ฉันทะ" หรือความรักความพอใจในงาน ที่อาจใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Passion" นี้ เป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท