การประเมินรอบสองกับความเครียด


ความเครียดที่เกิดจากการประเมินรอบสองของ สมศ.

ในช่วงนี้สถานศึกษาส่วนใหญ่จะถูกประเมินคุณภาพภายนอก จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) (องค์การมหาชน) มีครูในสถานศึกษาหลายแห่งเกิดความเครียดที่ถูกประเมิน ด้วยเหตุที่การประเมินรอบสองมีผลต่อการรับรองและไม่รับรองคุณภาพของสมศ. ถ้าได้รับการรับรองก็คงจะสบายใจแต่ถ้าไม่รับรองก็คงจะเครียดทุกคนตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียนและครูทุกคน ความเครียดน่าจะเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมในด้านมาตรฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานด้านผู้เรียน มาตรฐานที่ ๔ และมาตรฐานที่ ๕ แต่แท้ที่จริงแล้ว การประเมินรอบสองครั้งนี้ สมศ.ได้มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากดูได้จากการกำหนดเกณฑ์การประเมินในรอบแรก สมศ.เน้นอิงเกณฑ์ที่สมศ.กำหนดเท่านั้น แต่การประเมินรอบสองครั้งนี้ สมศ.ได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน ๒ ลักษณะคือ ๑.อิงเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนด นั่นก็หมายว่าคล้ายกับครั้งแรก ๒.อิงสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ จะนำผลการประเมินอิงสถานศึกษามารวมกับอิงเกณ์แล้วหาค่าเฉลี่ยเป็นระดับคุณภาพในการตัดสินแต่ละมาตรฐาน อิงสถานศึกษานั้น สถานศึกษาจะต้องนำผลการประเมินรอบแรกที่สมศ.ได้เขียนเป็นข้อเสนอแนะไว้ในเล่มการประเมิน มาตรวจสอบ วิเคราะห์ร่วมกันทั้งหน่วยงาน มาจัดทำแผนงานโครงการ/กิจกรรมรองรับตามข้อเสนอแนะในการพัฒนาแต่ละมาตรฐาน โดยมีการกำหนดเป้าหมายคุณภาพความสำเร็จอย่างชัดเจน แล้วดำเนินการพัฒนาตามแผนงาน โครงการ/กิจกรรมด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่นและกระทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แล้วทำการประเมินตรวจสอบผลสำเร็จเป็นระยะ ถ้ายังไม่บรรลุเป้าหมายก็พยายามหารูปแบบ แนวทางกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายมาปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการดังกล่าวทั้งหมดสถานศึกษาต้องสามารถแสดงพยาน หลักฐาน ร่องรอย ผลงาน ชิ้นงานได้ ถ้า สมศ.มาทำการประเมิน เชื่อได้แน่ว่า มาตรฐานที่ได้ดำเนินในลักษณะเช่นนี้จะได้รับการรับรองจากสมศ.แน่นอน ถึงแม้อิงเกณฑ์จะไม่ได้ แต่ถ้ามองดูเกี่ยวกับอิงสถานศึกษาแล้ว ถ้าหากผลการดำเนินงานประเมินแล้วสามารถบรรลุเป้าหมายที่สถานศึกษากำหนด ระดับคุณภาพอิงสถานศึกษาจะได้ระดีมาก(๔)  แต่ถ้าประเมินแล้วไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดระดับคุณภาพอิงสถานศึกษาจะได้ระดับดี(๓) เมื่อนำผลการประเมินไปอิงเกณฑ์ที่กำหนดเชื่อได้ว่า จะได้คะแนนเฉลี่ยที่อยู่ในระดับพอใช้(๒) ขึ้นไปอย่างแน้นอน

สถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองการประเมินรอบสองที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ สถานศึกษาไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนงาน โครงการ/กิจกรรมรองรับ ในแต่ละมาตรฐานโดยเฉพาะมาตรฐานที่ สมศ.ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ตั้งแต่การประเมินรอบแรก

ถ้าสถานศึกษาได้ดำเนินการบริหารตามบทบาทของผู้บริหาร ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามบทบาทหน้าที่ของครู โดยแต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์แล้วเก็บพยาน หลักฐาน ร่องรอย ผลงาน ชิ้นงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่การบริหาร เช่น การประเมินหลักสูตร การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร การเรียนการสอน เช่น ภาพวาดของนักเรียน โครงงาน รายงาน สมุดแบบฝึกหัด สมุดงาน สื่อ นวัตกรรม แบบทดสอบ แบบประเมิน แบบสังเกต ภาพกิจกรรม ไว้อย่างเป็นระบบ หมวดหมู่ที่สะท้อนความสำเร็จตามมาตรฐาน อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในแต่ละปีการศึกษา เชื่อว่าผู้บริหารโรงเรียน ครูจะไม่เครียดที่จะต้องมาเตรียมหลักฐาน พยาน หลักฐาน ในช่วงที่ สมศ.จะเข้าประเมินล่วงหน้าเพียง ๑-๒ เดือน ซึ่งพยานหรือหลักฐานบางอย่างไม่สามารถสร้างได้ภายใน ๓ เดือน เช่น ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม หรือ มาตรฐานที่ ๑ ที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน อบรมบ่มนิสัยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี จึงจะเห็นเป็นรูปธรรม

ขอฝากกับสถานศึกษาทุกแห่งขอให้ทำงานเรื่องการประกันคุณภาพภายในให้เนียนไปกับเนื้องานหรือการปฏิบัติงานตามปกติ แล้วทุกคนจะมีความสุขกับการทำงาน จะถือว่าการประเมินภายนอกก็คือหน่วยงานร่วมทางที่จะเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของสถานศึกษาที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพที่เด็กหรือเยาวชนอย่างแท้จริง ที่เป็นเจตนาของการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งการทำงานของโรงเรียนไม่ใช่ทำเพื่อรอการประเมินภายนอก เมื่อประเมินเสร็จแล้วก็หยุดทำหรือจบสิ้นการทำงาน แต่ต้องทำงานเพื่อคุณภาพเด็กและเยาวชนของชาติ

หมายเลขบันทึก: 154517เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 19:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท