ผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพ


การพัฒนาผลงานทางวิชาการให้มีคุณภาพทำอย่างไร

ขณะนี้ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ เป็นกลุ่มบุคลากรที่ก้าวหน้าทางตำแหน่งของตนเอง ด้วยการทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งผลงานทางวิชาการก็มาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามมาตรฐานตำแหน่งของแต่ละตำแหน่งที่ ก.ค.ศ.กำหนด เช่น ครูสายการสอนต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ ๘ ข้อ ศึกษานิเทศก์ ๕ ข้อ ผู้อำนวยการโรงเรียน ๑๔ ข้อ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ๑๓ ข้อ เป็นต้น ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่จนเกิดผลดี ๒ ประการ คือ

๑.ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ ๕๐ คะแนน พิจารณา ๔ ประเด็นย่อย คือ

                ๑.๑  ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ พิจารณาจาก  ความถูกต้องเหมาะสม ครบถ้วน ตามหลักวิชาการและทันสมัย มีการค้นคว้า อ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้ และเรียบเรียงเนื้อหาได้ถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาจัดเรียงหัวข้อเนื้อหาเป็นระบบ  การอ้างอิงผลงานทางวิชาการที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารต่าง ๆ ต้องมีการอ้างอิงจัดทำเชิงอรรถ บรรณานุกรม ได้ถูกต้องและเป็นรูปแบบเดียวกัน

                ๑.๒  ความถูกต้องตามหลักวิชาการ  พิจารณาจาก รูปแบบ ขั้นตอน ในการนำเสนอต้องถูกต้องตามหลักวิชาการของผลงานประเภทนั้น ๆ   รูปแบบ ผลงานทางวิชาการต้องมีรูปแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น ผลงานประเภทงานวิจัยจะต้องถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย บทเรียนสำเร็จรูป ต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของบทเรียนสำเร็จรูป ประเภทนั้น ๆ รายงานการประเมินโครงการต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของรายงานการประเมินโครงการ และรายงานการพัฒนานวัตกรรมต้องจัดทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของการรายงาน

                ๑.๓  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พิจารณาจาก การแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ผลงานใหม่ หรือเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์ด้วยเทคนิควิธีการใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม และเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา ต้องมีส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเนื้อหาสาระและมีรูปแบบใหม่ ไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

๑.๔  การพิมพ์และการจัดรูปเล่ม พิจารณาจาก ความสวยงามและความถูกต้องตามหลักวิชาการผลงานทางวชาการต้องมีการจัดพิมพ์ให้สวยงามและถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การพิมพ์หัวข้อ การย่อหน้า การจัดพิมพ์ตาราง การพิมพ์เชิงอรรถ บรรณานุกรม ต้องเป็นรูปแบบเดียวกัน ตรงกันการทำรูปเล่มถูกต้องมีปกหน้า ปกหลังใบรองปกหน้า ปกใน คำนำ สารบัญ บรรณานุกรม ภาคผนวก เป็นต้น

๒.  ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ ๕๐ คะแนน พิจารณา ๓ ประเด็นย่อย

๒.๑  ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ พิจารณาจาก เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ สามารถเป็นแบบอย่าง ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นแบบ ในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

                ๒.๒  ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา หน่วยงานการศึกษา การจัดการศึกษา   และชุมชน พิจารณาจาก ผลที่ปรากฏต่อผู้เรียน ครู บุคลาการทางการศึกษา การจัดการศึกษา และชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

๒.๓  การเผยแพร่ในวงวิชาการ พิจารณาจาก มีการนำผลงานไปเผยแพร่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์ในวารสารวิชาการ รายงานประจำปี เอกสาร วารสาร การนำเสนอต่อที่ประชุม การไปเป็นวิทยากร การส่งผลงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ การจัดนิทรรศการการเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือ Web site เป็นต้น

ถ้าถามว่าทำอย่างไรผลงานทางวิชาการจึงจะมีคุณภาพ ส่งแล้วผ่านหรือเลื่อนวิทยฐานะ ประเด็นสำคัญอยู่ที่กระบวนการสร้างและพัฒนาสื่อหรืนวัตกรรมทางการเรียนการสอน การบริหารหรือการนิเทศ โดยแบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ เป็นระยะที่ตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นโดยแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑.๑ ตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญที่เน้นความตรงเชิงเนื้อหา(Content validity) หลักสูตร จิตวิทยาการเรียนรู้ จิตวิทยาพัฒนาการ มาตรฐานการเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ วัยของผู้เรียน/กลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น ซึ่งผู้จัดทำผลงานทางวิชาการจะต้องนำสื่อ/นวัตกรรมที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านเนื้อหาหรือหลักสูตรด้านนั้นช่วยพิจารณาตรวจสอบให้เป็นเบื้องต้น ถ้าเป็นไปได้ควรมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิจัย หรือด้านวัดผลและด้านภาษาได้ด้วยจะเป็นการดี วิธีการตรวจสอบอาจจะใช้วิธีหาค่าดัชนีความสอดคล้องหรือที่คุ้นเคยคือ IOC จากนั้นนำค่าน้ำหนักคะแนนที่ผู้เชี่ยวชาญให้มาหาค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นถ้าแต่ละประเด็นหรือรายการที่ตรวจสอบมีค่าตั้งแต่ .๕๐ ขึ้นไปถือว่าใช้ได้ ถ้าประเด็นไหนหรือรายการไหนไม่ถึงก็ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ ถ้าหากให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบดดยทำเป็น Rating Scale ๕ ระดับคือ มากที่สุด(๕) มาก(๔) ปานกลาง(๓) น้อย(๒) และน้อยที่สุด(๑) ค่าเฉลี่ยของความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต้องได้เท่ากับ ๓.๕๐ ขึ้นไป ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพของสื่อ/นวัตกรรม ถ้าเป็นไปได้ให้นำเครื่องมือประเมินสื่อ/นวัตกรรม(แบบทดสอบ แบบสังเกต แบบประเมิน แบบสอบถาม แบบสำรวจ แบบวัดต่าง ๆ ) ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบในเวลาเดียวกันด้วย และต่อมา ๑.๒ เป็นตอนที่ นำไปทดลองใช้(try-out)กับกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่กลุ่มที่ใช้จริงแต่มีลักษณะเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกับกลุ่มที่ใช้ทำผลงานทางวิชาการจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้ ต้องนำแบบประเมินสื่อคือแบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสำรวจ แบบวัดต่าง ๆ ไปทดลองให้มีหรือเกิดคุณภาพก่อนที่จะนำสื่อ/นวัตกรรมไปทดลองใช้ ถ้าเป็นแบบทดสอบต้องหาคุณภาพเป็นรายข้อก่อนที่เป็นค่าความยากง่าย ค่าอำนาจจำแนก แล้วนำรายข้อที่มีคุณภาพเท่านั้นมาคุณภาพทั้งฉบับ(Reliability) สำหรับแบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบวัดต่าง ๆ จะนิยมหาคุณภาพทั้งฉบับ เมื่อแบบประเมินสื่อ/นวัตกรรมมีคุณภาพแล้ว จึงนำไปสู่ตอนต่อไป ๑.๓ เป็นตอนที่นำสื่อ/นวัตกรรมที่ผ่านตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญ และแบบประเมินสื่อที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญและการทดลองใช้และมีคุณภาพ ไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่กลุ่มที่ใช้จริง เพื่อเป็นการหาประสิทธิภาพของสื่อ/นวัตกรรม หรือเป็นการหาค่าดัชนีประสิทธิผล สำหรับการหาประสิทธิภาพประกอบด้วย การหาประสิทธิภาพของกระบวนการ เป็นคะแนนที่ได้ระหว่างทำกิจกรรมหรือปฏิบัติกิจกรรมจนครบทุกกิจกรรมที่ได้ออกแบบการทดลองไว้ นำคะแนนที่ได้ของทุกคนมาคำนวณหาค่าร้อยละแล้วนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ และการหาประสิทธิภาพของผลสำเร็จหรือผลลัพธ์ ก็คือ คะแนนทดสอบเมื่อจบทุกกิจกรรม นำคะแนนของทุกคนมาหาค่าร้อยละเช่นเดียวกันและนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ โดยเกณฑ์ที่กำหนด มีตั้งแต่ ๗๐/๗๐ ,๗๕/๗๕ ,๘๐/๘๐ ,๘๕/๘๕ ,๙๐/๙๐ เป็นต้น โดยต้องเลือกเกณฑ์ให้สอดคล้องกับเนื้อหา ถ้าหากเนื้อหาเป็นเรื่องความรู้ความจำก็เลือกเกณฑ์ ๙๐/๙๐ แต่ถ้าเนื้อหายากเน้นกระบวนการ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม ก็กำหนดเกณฑ์ ๗๐/๗๐ เป็นต้น บางท่านไม่หาค่าประสิทธิภาพ ก็อาจจะเลือกค่าดัชนีประสิทธิผล โดยดำเนินการทดสอบ ๒ ครั้ง คือก่อนการทดลอง และเมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง แล้วนำคะแนนเฉลี่ยหลังหักออกด้วยคะแนนเฉลี่ยก่อนเหลือเท่าไร ให้หารด้วยคะแนนเต็มหักออกจากคะแนนเฉลี่ยก่อน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นค่าดัชนีประสิทธิผล นำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ ถ้าได้ค่าตั้งแต่ ๐.๕๐ ขึ้นไปถือว่าใช้ได้ ทั้งหมดเสร็จสิ้นการตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นของสื่อ/นวัตกรรม

ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่นำสื่อ/นวัตกรรมและเครื่องมือประเมินสื่อไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริงที่จะทำเป็นผลงานทางวิชาการ จะออกแบบการบันทึกหรือการจัดเก็บข้อมูลอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำผลงาน เช่น ต้องการเปรียบเทียบก่อนและหลังการใช้สื่อ ก็จะทำการทดสอบ ๒ ครั้ง คือ ก่อนใช้และหลังใช้ บางท่านอาจจะทดสอบหลังใช้ครั้งเดียวแล้วนำผลที่ได้ไปเทียบกับเกณฑ์ก็ได้ หรือบางท่านมีกลุ่มเป้าหมายมากจะแบ่ง เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองคือใช้สื่อ/นวัตกรรม และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มปกติหรือกลุ่มควบคุมก็ได้ แล้วนำผลบันทึกที่ได้มาเปรียบเทียบกัน

ถ้าท่านได้ดำเนินอย่างที่กล่าวมาเชื่อว่าผลงานทางวิชาการจะมีคุณภาพและเกิดประโยชน์อย่างแน่นอน และอย่าลืมอีกอย่างในเรื่องการทดลองแบบประเมินสื่อคือแบบทดสอบ หรือแบบวัดต่าง ๆ ต้องระวังข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นคือกลุ่มเป้าหมายที่นำไปทดลองต้องเรียนรู้เนื้อหาหรือเรื่องนั้น ๆ มาแล้วเป็นสำคัญ แต่กลุ่มทดลองสื่อต้องเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ หลายคนนำเสนอผิด กลุ่มทดลองสื่อ/นวัตกรรมเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มทดลองแบบประเมินสื่อ หวังว่าทุกคนที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะได้เลื่อนวิทยฐานะกันนะครับ สมกับครูมืออาชีพต่อไป

หมายเลขบันทึก: 154395เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นการแนะนำที่ดี และมีประโยชน์มากเลยค่ะ เข้าใจง่ายดี ขอขอบคุณมากเลนะคะ กำลังศึกษาวิธีการทำผลงานอยู่พอดี ถ้าจะแนะนำอีกอยากให้แนะนำการเขียนรายงานโครงการ เพื่อเสนอขอวิทยฐานะด้วยนะคะ แล้วอยากให้เปรียบเทียบระหว่างผลงานอื่นว่าข้อดีข้อด้อย ของการส่งรายงานโครงการด้วยค่อ ขอบคุณมากๆๆ นะคะ

เรียนคุณsa

ผลงานทางวิชาการ มี 3 ประเภท ประเภทที่ 3 คือ ผลงานทางวิชาการอื่น เช่น การประเมินงาน ประเมินโครงการ รายงานนวัตกรรม ซึ่งการประเมินโครงการต้องมีโครงการที่จะประเมิน โครงการที่จะประเมินต้องมีคุณค่าคือประโยชน์ต่อผู้รับบริการ เช่น ครูต้องเกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ศึกษานิเทศก์ต้องเกิดประโยชน์ต่อครูและนักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเกิดประโยชน์ต่อ ครู นักเรียนและชุมชน เป็นต้น การประเมินโครงการต้องคำนึงวัตถุประสงค์ที่จะประเมิน แต่วัตถุประสงค์ที่จะประเมินขึ้นอยู่กับรูปแบบการประเมินว่าจะใช้รูปแบบใดซึ่งมีมากมาย เช่น CIPP Model,CIPPI Model,Tyler Model,Stake Model,IPO Model,ฯลฯ ต้องทำความเข้าใจแต่ละรูปแบบมีข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องเลือกรูปแบบให้ได้แล้วทำการศึกษารูปแบบนั้น ๆ ให้เข้าใจ จึงจะประสบผลสำเร็จ อย่าทำรายงานโครงการไม่ได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท