ชีวิตที่พอเพียง : 426. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ


     คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ     จัดทัศนศึกษาไปชมกิจกรรมในโครงการตามพระราชดำริและโครงการส่วนพระองค์  ที่จังหวัดอุบลราชธานี  แขวงจัมปาสัก สปป. ลาว   และจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 9 – 10 ต.ค. 50

         เย็นวันที่ 8 พ.ย. 50 เราไปขึ้นเครื่องบินการบินไทยไปที่จังหวัดอุบลราชธานี     ปรากฎว่า ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล แห่งมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้รับผิดชอบทัวร์ครั้งนี้     และท่านก็เดินทางไปด้วยเที่ยวบินเดียวกับพวกเรา      รวมทั้ง รมต. สาธารณสุข  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ     คนในคณะส่วนใหญ่ไปนอนค้างที่โรงแรมทอแสงโขงเจียม รีสอร์ท     แต่ผม หมออมรา และคณะ SAC อีกจำนวนหนึ่งไปนอนที่เขื่อนสิรินธร

         ทางเขื่อนต้อนรับอย่างดี คุณสมบูรณ์ จิตตลีลา ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคกตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  และ คุณวัฒนา ทองศิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มาต้อนรับ และเลี้ยงอาหารเย็น    ทั้งสองท่านเป็นศิษย์เก่า วิศว มอ. รุ่น 2 กับ รุ่น 3     และเคยต้องเรียนวิทยาศาสตร์ร่วมกับ นศ. เตรียมแพทย์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล     เพราะต่างก็เป็นลูกศิษย์อาจารย์สตางค์ทั้งคู่     จึงรู้จักสนิทสนมกับหมอที่เรียนร่วมกัน    เรากินแหนมเนือง ไก่ย่าง  แกงจือมะระซี่โครงหมู  ยำหมูยอ  และปลาคังผัดฉ่า

         กินเสร็จไปชมตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯ และสวนโดยรอบ     ตำหนักสร้างด้วยไม้สักทอง สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2537 แต่ยังดูใหม่เอี่ยม    ราคาค่าก่อสร้างอาคาร 70 ล้าน โดยมีค่าปรับที่อีกหลายสิบล้าน     หลังจากนั้นเราเข้าที่พัก ผมได้ห้อง ว. 16/6     ซึ่งเป็นเรือนรับรองใหม่เอี่ยม เพิ่งสร้างเสร็จ     หันหลังให้อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน

         ห้องคล้ายๆ โรงแรมแต่เตียงสูงกว่าโรงแรมทั่วไป     รุ่งขึ้นเช้าวันศุกร์ที่ 9 พ.ย. 50 ผมตื่นแต่ตีสี่ครึ่ง     ออกไปวิ่งบนถนนลาดยางอย่างดี 20 นาที สดชื่นมาก     อากาศบริสุทธิ์ และอุณหภูมิเย็นสบาย คงจะราวๆ 20 องศาเซลเซียส     พระอาทิตย์ขึ้นตอน 6 น. ตรง สวยงามมาก     เราได้ถ่ายรูปไว้     แล้วไปกินอาหารเช้า เป็นเฝอ (ก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม) กับขนมปังฝรั่งเศสยัดไส้หมูสับและหมูยอ     อาหารเช้ายอดนิยมของลาว    มีน้ำ 4 อย่างคือ กาแฟ  น้ำส้ม  น้ำนมถั่วเหลือง  และน้ำเปล่า      เราได้ชื่นชมความงามของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน    แล้วออกเดินทางไปโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์      ใช้เวลาเกือบชั่วโมง    

         เราเข้าไปรอโดยเข้าไปชมนิทรรศการที่โรงพยาบาลจัดไว้อย่างดีมากและสงสัยว่าเวลา 1 ชั่วโมงที่กำหนดไว้จะทอดพระเนตรทันได้อย่างไร     เมื่อเสด็จมาถึงก็ไม่ได้นั่งเลย     เสด็จทอดพระเนตรและฟังการบรรยายสรุปตามจุดต่างๆ เกือบ 20 จุด     ทางโรงพยาบาลทำหนังสือประกอบนิทรรศการอย่างดีเยี่ยม     ส่วนที่ผมประทับใจที่สุดคือการแพทย์ทางเลือกแบบตะวันตกต่อยอดตะวันออก ที่เรียกว่า ENT – Electro-Neural Therapy     ที่ใช้หลักการฝังเข็มผสมกับกระแสไฟฟ้าขนาดน้อยกระตุ้น    และที่สำคัญ เครื่องนี้ใช้วินิจฉัยความผิดปกติได้ด้วย     ตัวเครื่องซื้อจากเยอรมันในราคากว่า 3 ล้านบาท ใช้มาแล้วกว่า 3 ปี  

         ที่นี่เราได้พบเพื่อนรุ่นน้องผู้แข็งขัน คือ ศ. พญ. วิภาดา เชาวกุล ซึ่งทำงานอยู่ที่นี่และทำงานวิจัยหลายเรื่องจนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์     ผลงานที่เด่นมากและนำมาแสดงนิทรรศการด้วยคือผลงานวิจัยโรค Melioidosis

         จากโรงพยาบาลเราเดินทางไปเยี่ยมชมบ้านอุดมชาติ (หมู่บ้านประชาสุขสันติ์) ต. เมืองศรีไค  อ. วารินชำราบ  เดินไปตามถนนในหมู่บ้าน มีรั้วกินได้  การทอผ้า ทอเสื่อ จักสาน และทำนา    มีพิธีเกี่ยวข้าวพันธุ์โดยสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงเกี่ยวข้าวหอมมะลิแปลงข้าวพันธุ์ หลังจากมีพิธีขอขมาพระแม่โพสพ    ลงท้ายที่ร้านอาหารว่างกว่าสิบชนิด     ที่คนชอบมากคือข้าวเกรียบว่าว    ผมชอบบรรยากาศของหมู่บ้านที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีรั้วกินได้ให้เห็น     ผมสงสัยว่าบรรยากาศที่เราไปเห็นนี้มีส่วนของการตระเตรียมให้ทอดพระเนตรมากแค่ไหน

         จากบ้านอุดมชาติขบวนเดินทางไปโรงแรมทอแสงโขงเจียม เพื่อรับประทานอาหารเที่ยง      แล้วออกไปแขวงจัมปาสัก สปป. ลาว ทางช่องเม็ก    ใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมง      สะพานข้ามแม่น้ำ โขงของฝั่งลาวเป็นสะพานแขวนที่ยาวมาก     น่าจะยาวเป็นกิโล  

         เราไปแวะที่โรงแรมจัมปาสัก พาเลซ เพื่อเข้าห้องน้ำและดื่มกาแฟ      กาแฟดาว ของที่นี่มีชื่อมาก ในด้านรสชาติความเข้มข้น     เป็นเม็ดกาแฟฟพันธุ์ที่ฝรั่งเศสมาปลูกไว้ตอนลาวเป็นอาณานิคม    ตอนใกล้ถึงมหาวิทยาลัยจำปาสัก รถแล่นไปบนถนนลูกรังเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร    แต่ถนนก็เรียบดี     จนไปถึงบริเวณเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ ที่โค่นนต้นไม้ใหญ่ออกไป     ทำเป็นบริเวณของโครงการเกษตรผสมผสานของมหาวิทยาลัยจำปาสัก     ที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานความร่วมมือ      และให้มูลนิธิชัยพัฒนารับดำเนินการ      โครงการนี้เพิ่งลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้     เงินช่วยเหลือในเบื้องต้น 12.4 ล้านบาท     ผมชอบบรรยากาศเนินเขาโล่ง มีลมพัดโชย มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของอะไรก็ไม่ทราบ

         คณะเดินทางกลับมาที่เขื่อนสิรินธร     มีงานเลี้ยงแบบง่ายๆ  ไม่มีดนตรีหรือการแสดง      กว่าจะเสร็จงานก็เกือบสามทุ่ม

         เช้าวันเสาร์ที่ 10 พ.ย. 50 ผมออกไปวิ่งออกกำลังตามเคย     อุณหภูมิขึ้นจากเช้าวานนิดหน่อย แต่ก็ยังเย็นสบาย      เรากินอาหารเช้าบริเวณที่พัก      แล้วเดินทางไปสนามบินทหารที่ตัวเมือง      ขึ้นเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ ที่ทางบริษัทจัดถวาย     แถมเจ้าของคือ นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ยังมาตามเสด็จด้วย     เครื่องบินเป็น แอร์บัส A 319 ที่นั่ง 3 + 3 x 25 แถว ชื่อสมุย    เป็นเครื่องใหม่เอี่ยม เพิ่งใช้ 3 เดือน     แถมบริการอาหารว่างก็อร่อยจนผมอดใจไม่ไหว      บินแค่ 30 นาทีก็ถึงสนามบินสตึก จ. บุรีรัมย์      รถที่มาให้เรานั่งไปสุรินทร์เป็นของกองทัพบก เป็น luxury coach ที่นั่งเดี่ยวและมีที่นวดหลังและน่องด้วย      แถมยังมีเครื่อง brew กาแฟด้วย     แต่มีเฉพาะเครื่อง ไม่มีถ้วย ไม่มีกาแฟ      อย่างไรก็ตาม การนั่งรถช่วงนี้สะดวกสบายกว่าช่วงที่ จ. อุบล อย่างมากมาย

         ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการมาทัศนศึกษาของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  คือการได้เคาะกระโหลกตัวเอง     ได้เรียนรู้เรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่เราไม่คุ้นเคย      เช่น เช้าวันนี้ตอนกินข้าวเช้า  ผมได้แนวคิดเรื่องภาพใหญ่ 3F จากท่านองคมนตรี ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย    คือหลักการทำการเกษตรเพื่อ F ใน 3 ยุค    คือ F แรก Food ทำมาหมื่นปี    F ที่สอง Feed  ทำมาพันปี    ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค F ที่สาม คือ Fuel     ทำอย่างไรที่จะให้การผลิตด้านเกษตรกรรม เพื่อเป้าหมาย 3 ประการมี synergy กัน ไม่เกิดผลร้าย     เพราะถ้าเรามุ่งผลิตเพื่อ F ที่สามจนอาหารราคาแพงเกินก็จะเป็นผลร้ายต่อสังคม

         ตอนนั่งรถจากสนามบินสตึกไปสุรินทร์ ผมก็ได้เรียนรู้จากคุณโจ หรือ มล. อนุพร เกษมสันต์ รองราชเลขาธิการ  ว่าเวลานี้คนเราจ่ายค่า ICT มากอย่างไม่น่าเชื่อ     คือประเทศไทย 30% ของรายได้ประชาชาติใช้เป็นค่า ICT    ในขณะที่ของประเทศสิงคโปร์เพียง 11% ผมเดาว่าคนไทยกับคนสิงคโปร์มีรายละเอียดของการใช้ ICT ไม่เหมือนกัน     โดยผมเดาว่าคนไทยใช้เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อเป็นเกมมากกว่า     ใช้เพื่อการเรียนรู้น้อยกว่า

         ที่สุรินทร์เราไปที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ต. กระโพ  อ. ท่าตูม ที่ ททท. กับการบินไทยริเริ่มขึ้น     เราไปชมพิธีบวงสรวงศาลปะกำก่อนออกคล้องช้าง    แล้วไปเลี้ยงช้างและถ่ายรูป     มีลูกช้างอายุ 1 เดือน 5 วัน    แล้วเดินไปชมพิพิธภัณฑ์ช้าง      หมออมราความจำดี บอกว่าเราเคยมาชมแล้วเมื่อประมาณ 10  ปีก่อน     แล้วไปชมการแสดงของช้าง ได้แก่การยืน 2 ขาบนโต๊ะ  การเตะฟุตบอลลูกโทษ    การควงฮูลาฮูป   การเต้นรำ   การเอากระเช้าของขวัญถวายสมเด็จพระเทพฯ  และมอบแก่แขก     ผมเลือกที่นั่งผิด จึงถ่ายวิดีโอการแสดงของช้างได้ไม่สวย

         จากนั้นเราไปกินข้าวเที่ยงที่วังทะลุ ซึ่งเป็นปากแม่น้ำที่แม่น้ำชีไหลลงแม่น้ำมูล     เขาทำเป็นปะรำลงไปในน้ำเป็นที่เสวยพระกระยาหารกลางวัน และพวกเราได้อาศัยพระบารมี      ได้กินอาหารฝีมือวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ที่จัดทำอย่างประณีตสวยงาม  และรสชาติอร่อยมาก    วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์จัดการแสดงกลางแดดเปรี้ยงอย่างสนุกสนานไม่กลัวแดดเลย     เรากินอาหารท่ามกลางเสียงเพลง การฟ้อนรำ  ดอกไม้  และบรรยากาศแวดล้อมด้วยช้าง

         แต่ก่อนกินอาหารเขาจัดแสดงการให้ช้างจับปลาจากหนองน้ำให้ดูด้วย    โดยให้ช้างลากพวงกิ่งไม้ไล่ปลาไปติดอวน     ผมคิดว่ากิจกรรมนี้ชาวบ้านไม่ได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้ว     เป็นเพียงการแสดงเก้ๆ กังๆ ไม่ประทับใจ 

         จากวังทะลุ รถพาเราแล่นผ่านทุ่งรวงทองคือทุ่งนาที่ข้าวสุกเหลืองอร่ามทั้งสองข้างทาง     ไปยังบ้านท่าสว่าง ไปดูการทอผ้าไหม    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้ายกทองโบราณ   ซึ่งต้องซื้อเส้นทองมาจากอินเดีย     ผมเพิ่งได้เห็นการทอผ้าด้วยมือแบบที่ตัวด้ายเส้นยืนยาวมาก ต้องใช้บ้านสองชั้น คนทออยู่ชั้นบนแต่ด้ายเส้นยืนยาวลงมาถึงชั้นล่างของบ้าน

         สาวๆ ในคณะออกไปซื้อผ้าไหม ที่เมื่อเอามาอวดกันบนรถ ก็พูดกันว่าราคาถูกกว่าราคาตลาดในกรุงเทพมาก    คือเพียง 1/3 ของราคาที่กรุงเทพ    หมออมราได้รับการสนับสนุนจากผมให้ออกไปซื้อเหมือนกัน และได้มา 2 ผืน     เอากลับมาดูที่บ้านก็ภูมิใจว่าซื้อผ้าได้ถูกใจและราคาไม่แพง      เขามีจุดนิทรรศการถึง 7 จุด และจุดหนึ่งสาธิตการเลี้ยงตัวไหม   การสาวเส้นไหม    มีตัวไหมที่ต้มแล้วเอามายำให้ชิม อร่อยดี

         แล้วรถพาเรากลับมายังสนามบินที่อำเภอสตึก จ. บุรีรัมย์ เพื่อขึ้นเครื่องบินลำเดิมของบางกอกแอร์เวย์กลับกรุงเทพ   

         ผมยังติดใจรถของกองทัพบกที่ผมเรียกว่าเป็น luxury coach นั่งสบายดีจริงๆ     ผมเดาว่าราคาอาจถึงคันละ 10 ล้านบาท

 
พระอาทิตย์ขึ้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร 
รพ. สรรพสิทธิประสงค์ ศ. พญ. วิภาดา เชาวกุล กำลังถวายรายงาน 
   
ถนนในหมู่บ้านอุดมชาติ สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างไม่คิดมาก่อนว่าจะได้เห็น 
การทอเสื่อเตย บ้านอุดมชาติ 
   
สมเด็จพระเทพฯทรงเกี่ยวข้าวแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ที่บ้านอุดมชาติ 
ข้าวเม่ารสโอชา 
 
บรรยากาศในเมืองจัมปาสัก สปป. ลาว 
แปลงไร่นาสวนผสม ม. จัมปาสัก 
   
ข้าราชการและนักศึกษาลาวตั้งแถวส่งเสด็จ 
หน้าตำหนักประทับในเขื่อนสิรินธร 
   
รถบัสที่สุรินทร์มาจากกองทัพบกนั่งสบายมาก 
พิธีบวงสรวงศาลปะกำ 
   
เลี้ยงช้างและชักรูปกับช้าง 
ช้างวาดรูปบนเสื้อยืด 
 
ปะรำประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่วังทะลุ 
อาหารกลางวัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์จัดถวาย 
   
ทางเข้าศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ บ้านท่าสว่าง 
แสดงการทอผ้าไหมที่ใช้เครื่องทอมือที่ซับซ้อนมาก 

วิจารณ์ พานิช
10 ต.ค. 50

หมายเลขบันทึก: 154384เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2007 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นการศึกษาดูงานที่น่าประทับใจและใช้เวลาอย่างคุ้มค่าจริงๆเลยครับ

แต่กระผมยังไม่ค่อยเข้าใจประเด็นหลักการทำเกษตรกรรมเพื่อ F ใน 3 ยุค โดยเฉพาะยุค F ที่สามครับ

หมายความว่า ยุคต่อไป fuel  คือ เชื้อเพลิง หรือ พลังงาน   เริ่มแพง   โดยเริ่มจาก น้ำมันดิบ กาซ แพง

   ต่อมา พืชพลังงาน ปาล์ม และ ข้าวโพด ที่ใช้ทำ ไบโอดีเซล แอลกอฮอล์ แทน น้ำมันดิบ ก็ใช้มากขึ้น จนแพง

อย่างข้าวโพด เป็นอาหารสัตว์ด้วย   ข้าวโพด แพง  ต่อมา อาหารสัตว์ และ เนื้อสัตว์ก็แพงตาม

คนจนเมือง ที่ไม่ได้มีปัจจัยการผลิตเอง  อาจจะลำบาก เพราะของกินแพงขึ้น

หากมองในแง่ดี  เมื่อเนื้อสัตว์แพง เราทานเนื้อทั้งหลายน้อยลง อย่าง บรรพบุรุษ  เราจะสุขภาพดีขึ้น

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท