สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๔๐. ชายคาภาษาไทย (๑๙)


ผรุสวาท

         ผรุสวาท แปลว่า คำหยาบ ถ้าพูดถึงคำหยาบแล้ว ภาษาไทยมีไม่น้อยหน้าใคร ในเมื่อฟังไม่เพราะหูและใช้เมี่อต้องการเสียดสีให้คนอื่นเจ็บใจ จึงเป็นคำประเภทที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ใครจะนำมาศึกษา การละเลยคำหยาบเป็นการปฏิเสธความเป็นจริงของสังคม เพราะคำหยาบใช้ในบรรดา “พวกไพร่” หรือพวกที่เรียกกันว่า “ปากตลาด” ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของสังคม

         เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2005 กระดานข่าวของสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ซึ่งมีผู้คนแวะเวียนเข้าไปชมวันละนับล้านก็เลิกกระมิดกระเมี้ยนใน การที่จะพูดถึงเรื่องของผรุสวาทอย่างเปิดเผย ทั้งนี้โดยกล่าวว่า ผรุสวาทได้พัฒนาต่อมานับพันปีและเป็นการแสดงออกของมนุษย์ชนิดจากต่ำสุดไปถึงสูงสุด   ผรุสวาทเป็นสิ่งที่ควรหยิบยกมาศึกษาในทางนิรุกติประวัติ เพราะเป็นภาษาประเภทที่สร้างสีสันแก่สังคมมนุษย์ แต่เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งไม่อยากยลยินคำประเภทนี้ ผู้จัดทำกระดานข่าวอิเล็กโทรนิกจึงบอกว่า ขอให้หยุดอ่านแต่เพียง ณ ตรงคำเริ่มเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ขอให้ท่านผู้อ่านที่คิดว่า ผรุสวาททำให้ระคายหูท่านจนจะทนไม่ได้ก็ได้โปรดข้ามหัวข้อนี้ไปได้เลย


         ผรุสวาทเป็นเหตุแห่งคดีความมามากมาย มาตรา 36 ของพระไอยการลักษณะตีกันด่ากันในประมวลกฎหมายตราสามดวง
ได้กล่าวถึงเหตุวิวาทที่มาจากการสบประมาทกันด้วยคำพูดว่า 
        ๓๖ มาตราหนึ่ง ด่าท่านว่าไอ้อี่ [1]ขี้ตรุ[2]ขี้เมา [3]ขี้โขมย[4]ขี้ช่อ[5]ขี้โซ่[6]ขี้ตรวน [7]ขี้ขื่อ[8]ขี้คา [9]ขี้ถอง[6]ขี้ทุบ [10]ขี้
ตบ[11]ขี้คุก[12]ขี้เค้า [13]ขี้ประจานคนเสีย [14]ขี้ขายคนกินทั้งโคด [15] ขี้ครอก[16]ขี้ข้า[17]ขี้ถ้อย แลด่าว่าไอ้อี่ [18]คนเสียคน[19]กระยาจก[20]คนอัประหลัก [21]คนบ้า[22]คนใบ้ก็ดี แลด่าว่า [23]ไอ้สับปลับ[24]อี่สับปลับ  [25]อี่มักชู้[26]มักผัวมึงทำชู้เหนือผัวกูก็ดี แลด่าท่านว่า [27]อีแสนหก [28]แสนขี้จาบ 1 [29]อี่ดอกทอง[30]อี่เยดซ้อน ก็ดี สรรพด่ากันแต่ตัวประการใดๆ ท่านให้ปรับไหมโดยยศถาศักดิลาหนึ่ง ถ้าด่าถึงโคตเค้าเถ้าแก่ให้ไหมทวีคูน 

         ถ้อยความที่ยกมาข้างต้นมีคำด่าที่นับได้ 30 คำ

         มาตรา 17 ของพระไอยการวิวาทด่าตี กล่าวว่า
 37 มาตราหนึ่ง ด่าสบประมาทท่านให้ได้ความอายว่า มึงทำชู้ด้วยแม่มึง ๆ ทำชู้ด้วยพ่อมึง ๆ ทำชู้ด้วยลูกมึง ๆ ทำชู้ด้วย
หลานมึง ถ้าเปน สัจดั่งมันด่า อย่าให้มีโทษแก่ผู้ด่านั้นเลย ให้ลงโทษแก่มันผู้ทำกระลี ลามกนั้นโดยบทพระอายการ ถ้าพิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้อาย ให้ไหมกึ่งค่าตัวตามกระเศียรอายุศม์ผู้ต้องด่า

         อนึ่งด่าท่านว่า มึงเปนชู้กูก่อน มึงเปนข้ากูก่อนก็ดี พิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้ความอายอดสูดั่งนั้น เปนสบประมาทให้ไหมกึ่งค่า ถ้าจริงดุจมันด่าไซ้ก็ให้ไหมกึ่งนั้นลงมาเล่า ถ้าด่าสิ่งอื่นเปรียบเทียบท่าน พิจารณาเปนสัจ ท่านว่ามันด่าหมูประทามันด่าหมาประเทียบ ให้ไหมโดยเบี้ยค่าตัวเอาแต่กึ่งหนึ่ง

         มาตรานี้ทำให้ทราบว่า การใช้คำหยาบหรือผรุสวาทด่าผู้อื่นนั้นไม่ใช่ความผิด ตราบเท่าที่ผรุสวาทนั้นสืบแล้วเป็นความจริง นอกจากนี้หลักศีลธรรมยังมีน้ำหนักมากในการเอาโทษผู้ทำ “กาลีลามก” คือ เรื่องเลวร้าย และหมายความว่า ผู้ถูกด่านั้นถูกลงโทษทั้งทางสังคมและทางกฎหมาย ในกรณีที่ใช้คำหยาบด่าผู้อื่นจะเข้าในข่ายสบประมาท ก็ต่อเมื่อคำด่านั้นไม่เป็นความจริง เข้าทำนอง “ด่าหมูประทา ด่าหมาประเทียบ” หรือ ด่ากระทบกระเทียบให้ได้อาย

         คำหยาบของไทยนั้นมีหลายคำ เมื่อตรวจดูจากคำที่ปรากฏใน หนังสืออักราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ. 2416 ได้พบคำดังต่อไปนี้

อีหน้าเกือก 
เปนคำหยาบด่าประจานผู้หญิงว่า หน้าแขงไม่มีอายอย่างหนังเกือกเปนต้นนั้น. 
อีกาก 
คือ เปนคำอยาบสำหรับด่าหญิงคนโง่แล้วชั่วด้วยนั้น เพราะหญิงนั้นเปรียบเหมือนกากของทั้งปวงนั้น. 
อีโกง 
เปนคำเขาด่าหญิงที่พูจไม่จริงว่า อีคนโกง. 
อีหน้าด้าน 
คือเปนคำหยาบด่าประจานหญิง, ว่าหญิงนั้นไม่มีอายหน้าด้านเหมือนส้นตีนนั้น 
อีเปรต 
คือคำเขาด่าหญิงโดยโกรธ, ว่าอีเปรตๆ นั้น เปนกำเนิดต่ำช้า, คนตายไปเกิดบ้าง, สัตวนะรกมาเกิดเปนเปรตบ้าง. 
อีขี้ข้า 
เปนคำหยาบด่าทาษี 
อีหน้าสด 
คือเปนคำหยาบด่าประจานหญิงว่า หน้าไม่แห้ง รื่นเริงอยู่เปนนิตย, เช่นหญิงคนชั่วนั้น 
อีหน้าเปน 
คือเคำหยาบด่าประจานหญิงว่าหน้าเปนคือไม่สลด, เช่นหญิงชั่วมาชู้หลายผัว, หัวเราะอยู่เสมอ เป้นต้น 
อีขี้เย็ด 
คือ เปนคำหยาบว่าหญิงชั่ว, ที่อยากมีผัวมากๆ นั้น 
อีเคอะ 
คือ คำหยาบด่าหญิงชั่วแล้วโง่ด้วยนั้น, มีหญิงบ้าไม่ใคร่รู้อะไร เปนต้น 
อีชาติชั่ว 
คือ คำด่าถึงหญิงที่ไม่ดีนั้น 
อีเสเพล  
เปนคำด่าหญิงชั่วว่าอีเสเพล, คือหญิงต่ำชาติต่ำสกูล ไม่มีผู้ใดนับถือ, เป็นหญิงนักเลงนั้น 
อีดอกกะทือ 
คือคำหยาบด่าหญิงเปนคำผวนกลับเหมือนกัน 
อีดอกทอง 
คือคำหยาบด่าหญิง, เปนคำผวนสำนวนกลับเหมือนกัน [อีดองถอก]
 
อีแดกแห้ง 
คือ เปนคำด่าประจานหญิงเด็กๆ ว่า หญิงนั้นมีผัวแต่อายุสิบสองปี, ยังแห้งอยู่ยังไม่มีระดู เปนต้น 
อีตอแหล 
คือ คำหยาบด่าหญิงโกหกนั้น 
อีทิ้มขึ้น 
คือ คำหยาบด่าประจานผู้หญิงว่า หญิงนั้นนอนเบื้องบนผัวๆ นอนเบื้องล่าง เปนต้นนั้น 
อีผีทะเล 
คือคำด่าหญิงโดยโกรธ, ว่ามึงเหมือนผีที่มันอยู่ที่ทะเลๆ คือคนเรือล่มจมน้ำตายเปนต้นนั้น 
อียักขินี 
คือคำด่าหญิงโดยโกรธ, ว่ามึงราวกับอียักขินีนั้น, มันร้ายกาจกินเนื้อมะนุษฤๅสัตวเปนอาหาร 
อีห่าฟัด 
เปนคำด่าหญิงโดยโกรธว่าอีห่าฟัด, ความว่าให้ผีห่าเช่นโรคลงรากเปนต้นเบียดเบียฬนั้น  
อีมด อีท้าว 
คือ หญิงเปนคนสำหรับผีเข้านั้น 
อีร้อยควย
อีร้อยซ้อน
อีเสเพล  
ความหมายเหมือนกัน 
     

         เมื่อได้ดูคำข้างต้นแล้วพลอยจะทำให้คิดว่า ไม่มีคำหยาบที่ใช้บริภาษผู้ชาย ความจริงแล้วคำด่าทอผู้ชายก็มีแต่ไม่มากและมีสีสรรเท่ากับที่ใช้ว่าผู้หญิง อักขราภิธารศรับท์ของหมอบรัดเลให้คำต่อไปนี้ไว้

ไอ้กาก  
คือคำเขาด่าชายว่า ไอ้กากๆ นั้นเปรียบเช่นกากเข้านั้น 
ไอ้เคอะ 
คือคำด่าชายว่าไอ้เคอะๆ นั้นคือ ปัญญาเขลา ไม่ใคร่รุ้การอะไรนักนั้น
ไอ้ถ่อย 
คำว่าชายที่ทำการและกริยาชั่วเปนต้นนั้น
ไอ้บ้า
คือคำด่าชายว่า ไอ้บ้าๆ นั้น, คือคนเสียจริต คือไม่มีสะติ ไม่รู้จักของที่เกลียดแลสอาจนั้น 
ไอ้ระยำ
คือคำด่าชายว่า ไอ้ระยำๆ นั้น, คือมันชั่วหลายอย่าง มันกินเหล้าสูบฝิ่นเปนต้น 
อ้ายจังไร,
เจ้าจังไร  
อธิบายว่าคนไม่ดี, คนอัปปรีมีแต่ความอัปะมงคลนั้น 
อ้ายชาติช้า 
คือคำด่าคนชายว่า อ้ายส่ำขี้ช้า, คนเปนนายเปนต้นเขาด่าชายทาษเช่นนั้น 
อ้ายตัดหัว 
เปนคำด่าคนชายเปนทาษเปนต้น
 
         คำที่ใช้สบประมาทผู้ชายมีไม่มากนัก น่าแปลกใจที่คำหลายคำซึ่งคุ้นหูในปัจจุบัน เช่น ไอ้เหี้ย หรือ ไอ้เวรตะไล กลับไม่มี
อยู่ในคำที่เก็บเลย บางคำอาจเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่น อ้ายชาติช้า เป็น อ้ายชาติชั่ว แสดงว่า ย้อนหลัง ไปร้อยปีเศษ คนยังนิยมใช้คำว่า ช้า ซึ่งแปลว่า ชั่ว เลว อย่างเช่นที่ปรากฏในคำว่า ป่าช้า เหตุที่คำด่าหญิงมีมากกว่าคำด่าชาย เพราะลักษณะเด่นของสังคมไทยที่ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน ดังนั้นเป้าหมายของการกระทำผิดทางเพศจึงอยู่ที่ผู้หญิง คำด่าเรื่องชู้สาวมักเป็นคำที่ประณามผู้หญิง คำผรุสวาทมักเกิดขึ้นที่ตลาดจึงเรียกว่า “คำตลาด” ในสังคมไทยสมัยก่อนผู้ชายต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายทำมาหากิน ทั้งไปซื้อและขายของที่ตลาด

         คำบางคำที่ถือว่าเป็นผรุสวาทในปัจจุบัน อาจไม่ได้มีนัยเป็นคำหยาบในสังคมสมัยก่อน เช่น คำว่า หี และคำว่า หำ (อวัยวะลับหญิงและชาย คำหลังจริงๆ แปลว่า ลูกอัณฑะ) เพราะเป็นคำที่เป็นสัญลักษณ์เนื่องด้วยลัทธิความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ (fertility rite) ซึ่งมีอยู่ในสังคมโบราณของทุกสังคมและเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคหินใหม่ ในตำนานของไทใหญ่ในพม่ามีเมืองสองเมืองที่ออกเสียงว่า เมืองฮำ (หำ) กับเมืองฮี (หี) เป็นเมืองที่เทพแลงดอนหรือแถนส่งเทวบุตรลงมาปกครอง ถือว่าเป็นชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์รุ่งเรือง ในสมัยหลังเมื่อคนไทยรับศาสนาหลัก เช่น ลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย จากแดนภารตะแล้ว ได้ทิ้งคำว่า หำ และ หี ไปนับถือ ลิงค์ และ โยนี แทน เนื่องจากลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกายถูกเชิดชูในราชสำนัก คำสันสกฤตพ้อยกลายเป็นคำของชนชั้นสูง ส่วนคำไทยเดิมที่ง่ายๆ และคำเรียกชื่อ ผี (ไทยโบราณแปลว่า วิญญาณศักดิ์สิทธิ์) ต้องลดชั้นไป ความขี้เห่อของใหม่ของคนไทยเป็นสันดานติดตัวมาจนเดี๋ยวนี้ พอรับวัฒนธรรมตะวันตก คำที่รับมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตก็ถูกลืม เพราะฟังดูไม่โก้ไม่ทันสมัย ขอบอกว่าเดิม ลิงค์ เป็นชื่อเรียกเฉพาะลำองคชาติของเทพศิวะเท่านั้น ผู้อื่นไม่เกี่ยว เพราะมีคำสันสกฤตคำอื่นคือ เสผ ที่เรียกสิ่งนั้นอยู่แล้ว

         ที่กล่าวว่า คำว่า หี ไม่ได้เป็นคำหยาบมาแต่โบราณ ก็พอเทียบได้กับคำว่า cunt ในภาษาอังกฤษ คำนี้สันนิษฐานว่ามาจากรากศัพท์เดิม ภาษาเยอรมันว่า kunton ซึ่งหาต้นศัพท์ไปกว่านั้นมิได้ แต่กลายมาเป็นภาษานอร์สโบราณ (Old Norse) ว่า kunta ก่อนที่จะมาปรากฏในภาษาอังกฤษสมัยกลางว่า kunte แปลว่า "female genitalia" (อวัยวะเพศของหญิง) บางท่านก็ว่า อาจมีความเกี่ยวพันกับคำภาษาละตินว่า cuneus แปลว่า "wedge," หรือ “รอยผ่าแยก” ท่านอื่นสันนิษฐานไปอีกทางว่า คำนี้น่าจะมาจากรากศัพท์อินโดยูโรเปียนว่า *geu-“ แปลว่า "hollow place" (ที่อันตื้น) อีกท่านหนึ่งว่า น่าจะมาจากรากศัพท์เดิมอินโดยูโรเปียนแต่เป็นคำว่า *gwen-“ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า queen และซึ่งเป็นภาษากรีกว่า gyne แปลว่า  "ผู้หญิง" เห็นทีจะต้องพอเพียงนี้ เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นพูดเรื่องนิรุกติประวัติคำฝรั่งไป ผู้เขียนต้องการชี้ว่า cunt เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาษาอังกฤษ เมื่อปรากฏชื่อถนนสายหนึ่งในเมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดว่า Gropecuntlane ซึ่งแปลว่า “the haunt of prostitutes” (ที่ชุมนุมของหญิงขายบริการ) เมืองอ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นเมืองมหาวิทยาลัย จะปล่อยให้มีชื่อเช่นนี้ได้อย่างไร ในสมัยต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น Magpipe Lane ส่วนชื่อ Gropecuntlane นั้นถูกนำไปใช้ในเมืองอื่นๆ ด้วยในความหมายทำนองเดียวกัน เช่น ที่ลอนดอนและยอร์ก จนถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15  ก่อนหน้านี้เล็กน้อยคำนี้ คนก็เริ่มที่จะไม่กล่าวคำนี้ในที่สาธารณะ และพอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้กลายเป็นคำหยาบคายไป คำนี้ในภาษาดัทช์ใช้ว่า kont แต่มักจะพูดโดยใช้ภาษาภาพพจน์แทน เช่น คำว่า liefdesgrot ซึ่งแปลว่า “เคหาแห่งรัก” คำว่า cunt ในภาษาอังกฤษที่หมายถึง wedge และในภาษาดัตช์ที่ว่า liefdesgrot ทำให้ผู้เขียนนึกถึงศัพท์ในกฎหมายตราสามดวงที่ว่า “ข่มขืน ถึง/ไม่ถึง กระทำชำเรา” ในสมัยโบราณข่มขืนหมายความว่า ข่มขืนใจ บังคับใจ ลวนลาม ถ้าถึงขั้นชำเรา หมายถึง ขั้นได้ร่วมสังวาสด้วย คำว่า  ชำเรา  เป็นคำเขมรแปลว่า ลึก หรือ หลืบ นับว่าไม่ห่างจากความหมายในภาษาอังกฤษและในภาษาดัตช์ ที่แปลว่า ลึก ก็ยังปรากฏอยู่ในภาษาไทยที่เพี้ยนมาจากภาษาเขมร เช่น ฉะเชิงเทรา ซึ่งมาจาก ฉทิง + เซรา (เทรา) แปลว่า แม่น้ำลึก

         ผรุสวาทของไทยเป็นภาษาภาพพจน์และมีนัยในเชิงเปรียบเทียบ ส่วนใหญ่คำเหล่านี้สะท้อนวัฒนธรรมไทย เรื่องที่ด่าหมูประทาด่าหมาประเทียบนั้น ไม่พ้นเรื่องต่อไปนี้ คือ
1. เหยียดหยามฐานะอันต่ำต้อยทางสังคม เช่น ดูถูกว่าเป็นขี้ข้า ทาส
2. ดูถูกสติปัญญาว่า โง่เขลา เช่นว่า อีเคอะ
3. ถากถางเรื่องพฤติกรรมโดยเฉพาะการลักขโมย เช่น ขี้ลัก ขี้ฉ้อ
4. ถากถางเรื่องการประพฤติวางตัว
5. ถากถางเรื่องประพฤติผิดทางเพศ

         คำเสียดสีให้ผู้หญิงเจ็บใจส่วนใหญ่เป็นภาษาภาพพจน์ดังเช่น อีร้อยควย อีแดกแห้ง อีขี้เย็ด อีแสนหก (ในกฎหมายตราสามดวง) คำสุดท้ายนั้นเป็นที่มาของการถกเถียงกันมากว่า ผมเองคิดว่า แปลว่า อีช่างโกหก เพราะคำต่อมาให้คำว่า “แสนขี้จาบ” (อีช่างจาบจ้วง) คำไทยโบราณอีกคำหนึ่งซึ่งพบใน มังรายวินิจฉัย ได้แก่คำว่า สำหี ซึ่ง อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลว่า “อาการที่ซ้ำสะสมลง” แต่ในภาษาอีสาน สำ คือ สี้ แปลว่า เสพสม ใช้คู่กันว่า สำสี้ (to have sexual intercourse) สี้ นั้น ภาษาถิ่นโคราชออกเสียงว่า สี่ แปลว่า สังวาสผู้หญิง แม้แต่ในภาษาอีสาน คำว่า สำ และ สี้ / สี่ ก็ถือเป็นคำหยาบเสียแล้ว ตรงกับคำว่า สำส่อน ในภาษาไทยภาคกลาง

         คำบอกพฤติกรรมของหญิงหลายคำที่ยกมานี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำอังกฤษคำหนึ่งคือ horny แปลว่า desirous of sexual activity หรือ sexually aroused แปลว่า มีอารมณ์ร่าน คำว่า horn เป็นที่ทราบกันดีว่า แปลว่า เขา ลักษณะลำองคชาติของชายเหมือนกับเขา จึงนำคำนี้มาใช้ในเชิงเปรียบเทียบ ในโลกตะวันออกโดยเฉพาะชาติอาหรับและจีนต่างเชื่อกันว่า เขาสัตว์เช่นเขากวางและนอแรดมีคุณสมบัติทำให้มีพลังทางเพศสูง จึงทำให้ศัพท์คำว่า horn มีความหมายออกไปในทางเร้าอารมณ์หรือมีอารมณ์ทางเพศ อย่างไรก็ตาม คำว่า horny ในความหมายถึงผู้หญิงมีอารมณ์ร่านนั้น เริ่มใช้กันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15

         ผู้เขียนได้พูดถึงคำว่า สำสี้ ไปแล้ว จึงควรพูดถึงคำที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบรรดาคำหยาบ หรือ จะว่า เป็นราชาคำหยาบก็ว่าได้ นั่นคือ คำว่า เย็ด นับเป็นเรื่องน่าแปลกที่การสังวาสกันระหว่างชายหญิงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของชีวิต แต่ค่านิยมสังคมกลับทำให้คนเลี่ยงไปใช้คำแขกเช่น ร่วมประเวณี ร่วมสังวาส แทนไปเสียอย่างไม่น่าเชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า ศัพท์เริ่มต้นคือ เร็ด ภาษาเหนือออกเสียง ร เรือ ไม่ได้ ออกด้วย ฮ ฮูก เป็น เฮ็ด ลาวออกเสียงว่า เยี๊ยะ และไทยกลางว่า เย็ด คำทั้งหมดแปลว่า ทำ เช่น เฮ็ดงาน แปลว่า ทำงาน แต่คำไทยกลางใช้ในเรื่องการสมสู่ด้วย คำไทยคำนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า fuck ซึ่งคนรุ่นใหม่ทั้งอังกฤษและอเมริกันพูดกันติดปากจนถือได้ว่า เป็นคำสบถประจำชาติไปแล้ว นักสืบประวัติภาษาบอกว่า คำนี้เป็นคำที่อธิบายได้ยากที่สุดคำหนึ่ง เพราะเป็นคำต้องห้ามมาก่อนและไม่ค่อยมีให้เห็นในงานเขียน

         คำว่า fuck น่าจะได้ใช้กันมาก่อนปี ค.ศ. 1500 แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดคือ ใช้กันใน ค.ศ. 1503 โดยเขียนในรูปของ 'fukkit'  มีบทกวีชื่อ 'Flen flyys’ ที่เขียนแบบพันทางด้วยภาษาละตินและอังกฤษ ความที่เกี่ยวข้องนั้นมีว่า "Non sunt in celi quia fuccant uuiuys of heli." แปลเป็นภาษาอังกฤษปัจจุบันได้ว่า "They [the monks] are not in heaven because they fuck the wives of Ely." (พวกเขาทั้งหลาย [พระคุณเจ้า] ไม่ได้ไปสู่สวรรค์ เพราะไปสำสี้ด้วยหญิงมีสามีของเมืองอีไล )

         คำว่า Fuccant เป็นคำอังกฤษปลอมเป็นละติน ที่เขียนเป็นคำละตินเนื่องจากคำนี้เป็นคำหยาบและต้องห้าม ส่วนการเขียนโดยสะกดคำอย่างที่เขียนในปัจจุบันมีอายุมาตั้งแต่ ค.ศ. 1535 แต่ความรู้สึกที่ไม่ดีที่ผู้คนมีต่อคำหยาบนี้มีความรุนแรงมาก ขนาดที่ว่า ระหว่าง ค.ศ. 1795 ถึง 1965 เป็นระยะเวลา 170 ปี คำว่า fuck ไม่ปรากฎในพจนานุกรมภาษาอังกฤษแม้แต่ฉบับเดียว รวมทั้งพจนานุกรมฉบับห้องสมุดขนาดมหึมาที่ผู้เขียนซื้อมาใช้ระหว่างเรียนหนังสือที่อังกฤษชื่อ The Universal English Dictionary ของศาสตราจารย์ H.C. Wyld แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ทั้งที่ผลงานของท่านพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1979

         มีเรื่องตลกมาเล่าให้ฟังว่า ใน ค.ศ. 1948 ผู้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง The Naked and the Dead ได้แก้ปัญหาโดยแนะให้ Norman Mailer ผู้แต่งหนังสือดังกล่าวเขียนคำนี้ด้วยคำระรื่นหูกว่าว่า "fug" แทน เลยทำให้ Dorothy Parker กระเซ้า Mailer ว่า "So you're the man who can't spell fuck." (แล้ว คุณนี่เองที่เป็นคนเขียนคำว่า fuck ไม่เป็น)

         นักนิรุกติประวัติปัจจุบันเชื่อกันส่วนใหญ่ว่า รากศัพท์คำว่า fuck มาจากภาษาเยอรมัน เพราะมีรูปเขียนคล้ายกันกับคำนี้ในภาษากลุ่มยุโรปภาคเหนือ เช่น fokken (แปลว่า กระเด้า, สมสู่) ในภาษาดัตช์ยุคกลาง fukka ในภาษานอรเวย์ และ focka ในภาษาของชาวสวีดิช แต่คำว่า สมสู่ ในภษาฝรั่งเศสและอิตาเลียนซึ่งเขียนคล้ายกันมาก foutre และ fottere ตามลำดับ นั้นมาจากคำละตินว่า futuere อย่างแน่นอน

         เมื่อได้พูดถึงผรุสวาทอย่างยาวเหยียดขนาดนี้แล้ว จะไม่พูดถึงคำไทยที่ตกไปอีกสองสามคำก็ดูกระไรอยู่ เช่น คำว่า กะดอ ซึ่งเราเขียนตามเสียงอ่านภาษาเขมรที่เขียนว่า กฺฎ นี่เป็นคำพื้นๆ ของเขมรเขา หากเป็นคำเก่ามากเขาเรียกว่า ฎฺาง อ่านว่า ดัง  คำบางคำเริ่มหายไปจากภาษาไทย เช่น กะหรี่ แปลว่า ผู้หญิงหากินทางประเวณี และ ช็อกกะรี ซึ่งคงเกี่ยวข้องกับคำว่า กะหรี่ ทางใดทางหนึ่ง ผู้เขียนสืบที่มาของศัพท์ไม่ได้จริงๆ แต่เข้าใจว่า กะหรี่ จะมาทีหลังและกร่อนจาก “ช็อกกะรี” คำเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยคำใหม่ว่า “อีตัว” หมายถึง “อีขายตัว” คำบางคำเป็นคำใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น ชายที่มีพฤติกรรมชอบชายมักเรียกหญิงที่มาเกาะแกะคนที่ตัวชอบว่า “อีชะนี” สัตว์ชนิดนี้ในความรู้สึกของคนไทยคือ ตกกลางค่ำกลางคืนร่ำร้องหาผัว จะมีความหมายแฝงอย่างไรไม่ต้องอธิบาย


         ผรุสวาทที่เขียนมานี้เป็นเรื่องที่น่ารู้ เพราะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติอันซับซ้อนของมนุษย์ และพัฒนาการของความคิดที่เปลี่ยนแปลง
ไปในแต่ละยุคสมัย คำหยาบอาจเคยหมายถึง คำที่ผู้พูดตั้งใจให้ผู้ฟังระคายหูหรือโกรธ แต่ในสังคมของคนกลุ่มย่อยบางกลุ่ม การพูดคำหยาบบางครั้งก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดสนินสนมของเพื่อนและกลุ่มคนเล็กๆ ที่อาจมองข้ามน้ำหนักความหยาบคายที่คำแต่ละคำแบกรับอยู่ในสมัยก่อนหน้านั้นขึ้นไป

----------------------------------------------------------------------------------------
1 จาบจ้วง
2 เพี้ยนจากคำสันสกฤตว่า กาลี แปลว่า ชั่วร้าย เสนียดจัญไร   
3 ผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอง ข้อมูลได้มาจากหลายแหล่งรวมทั้งงานของ John Ayto, Time Dictionary of Word Origins, (Singapore: Federal Publications, 1990), p 121.ซึ่งนักศึกษารากคำภาษาอังกฤษรู้จักกันดี
 4 เขมรเขียน ชํเรา, ชมฺเรา อ่านว่า จ็วมเริว์, จุมเริว์ แปลว่า ที่ลึก หรือ หลืบ
 5 เมืองนี้อยู่ใกล้เมืองเคมบริดจ์ซึ่งเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของอังกฤษ

             ผมมองว่าการกล่าวคำผรุสวาทเป็นการปลดปล่อยอารมณ์อัดอั้น    หรือแสดงการขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตน    คนเราควรฝึกตนให้ไม่กล่าวคำผรุสวาท

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ธ.ค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 154090เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท