รอยพระไตรปิฎกของเรา.


พิจารณาลำดับการเข้ารู้สิ่งลี้ลับในพระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าอโศก แล้วน้อมเข้ามาเทียบเคียงกับยุคสมัยของพวกเรานี้บ้าง

ชาวพุทธในบัดนี้เอง ย่อมรู้เรื่องราวต่างๆในสมัยพระเจ้าอโศกและบางส่วนในยุคพระเจ้าอชาตศัตรู ในส่วนที่ได้รับการเปิดเผยแล้ว แต่ยังมีส่วนที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยเหลืออยู่อีกแน่ จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ไม่สำคัญ. ที่แน่ๆ เชื่อว่า มันมีอยู่ และสิ่งเหล่านั้น ย่อมไม่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเสียทุกส่วน จะมีก็เพียงเงื่อนปมแห่งความลับเท่านั้น เพราะยังเป็นความลับอยู่.

แล้วเราจะรู้ความลับที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยนั้นอย่างไร? ก็ไม่ยาก ทำคล้ายพระเจ้าอโศกนั้นล่ะ. คือ อาศัยสุตตะ การฟัง การอ่าน ฟังจากทุกที่ อ่านจากทุกที่ ให้ได้ข้อมูลเยอะๆ แล้วพิจารณาด้วยจินตามยปัญญา จำแนกข้อมูลออก เหมือนอย่างพนักงานแยกขยะผู้ฉลาด ที่จำแนกออกว่า นี่ขยะ นี่ของดี แล้วก็จะมั่นใจได้ว่า ต้องเป็นไปในแนวนี้แน่ๆ คล้ายที่พระเจ้าอโศกลงใจได้ว่า พระบรมสารีริกธาตุ ถูกเก็บไว้บริเวณสถูปหินนั้นล่ะ แล้วไปขุดค้นดู ก็จะได้คำตอบที่ชัดและแม่นยำจริงๆ.

ในครั้งนั้น หากพระเจ้าอโศกดูหมิ่นว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นเพียงพระแก่ๆ ขี้หลงขี้ลืมได้ แล้วไม่พิจารณาเรื่องปาสาณสถูป จินตนาการที่จะไปขุดค้นที่ปาสาณสถูปก็จะไม่เกิดขึ้น การเข้าไปพิสูจน์จินตนาการนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องสถูปใต้ดินก็จะปรากฏเป็นสิ่งลี้ลับต่อไปแน่. นั่นคือ ความไม่ดูหมิ่น เป็นทางมาของปัญญา.

เช่นกันนั้น หากปรารถนาจะรู้ให้ยิ่งขึ้นไป ไม่พึงดูหมิ่นว่า นี่สักแต่ว่าตำนานพื้นบ้าน ตำนานปรัมปรา แต่งขึ้นไว้หลอกเด็กให้ทำความดี แต่งขึ้นไว้เพื่อให้รุ้สึกว่ายังมีหวัง เพราะหากคิดอย่างนั้นแล้ว มันจะไม่เป็นเหตุให้เกิดการตามพิสูจน์ ไม่มีการเปิดเผยขึ้นซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย และไม่มีความเจริญอันพึงถึง.

มีตำนานหลายๆอย่าง ที่เป็นเกร็ดศาสนา ที่ไม่ควรมองข้าม ควรเก็บกำเข้ามาพิจารณาเลือกเฟ้นเอาด้วยปัญญาอันนี้ให้แจ้งชัด. บางที นี่คือ กุญแจสู่ประตูยุคศรีวิไล ก็เป็นไปได้.

รอยพระไตรปิฎกที่ว่า ก็อย่างที่ยกไว้แต่ต้น คือ เรื่องศพพระมหากัสสปะ เรื่องพระบรมธาตุที่ปกปิดไว้ เรื่องจารึกของพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องมหาสุทัสสนะสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปปรินิพพานที่กุสินาราด้วยอุตสาหะใหญ่ ก็เพราะจะได้ตรัสมหาสุทัสสนสูตรนี้ด้วยเป็นเหตุอันหนึ่ง.

รอยเหล่านี้ จะแกะออกมาเชื่อมโยงกันอย่างไร?

หมายเลขบันทึก: 154048เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2007 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท